สถานการณ์และปัญหาของประเทศเข้ามาแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น การกู้ภาพองค์กรตำรวจ น้ำท่วมเอาอยู่หรือไม่ สงครามระหว่างฮามาสและประเทศอิสราเอล ที่มีคนไทยเสียชีวิตและถูกจับเป็นประตัวกัน ฯลฯ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของนายกฯ ป้ายแดง "เศรษฐา ทวีสิน" จะสามารถเอาตัวรอดไปได้ หรือสุดท้ายจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากคนการเมืองในระบอบทักษิณในอดีตหรือไม่
โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการแก้ปัญหาปากท้อง คือแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ด้วยงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป รวม 56 ล้านคนแบบถ้วนหน้า ที่คาดว่าจะแจกในช่วงวันที่ 1 ก.พ.ปีหน้า ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่
เพราะนโยบายนี้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยจวบจนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็ถูกตั้งคำถามสารพัด ทั้งในแง่ของกฎหมาย ความเหมาะสม และเปิดช่องให้มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่
รวมถึงคำถามไปถึงรัฐบาลเพื่อไทยจะนำเงินมาจากไหน กู้เท่าไหร่ และต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่, ยังไม่แน่ชัดว่าจะแจกเงินถ้วนหน้า หรือเจาะจงเฉพาะกลุ่ม, ยังไม่แน่ว่ารัศมีการใช้จะเป็นอย่างไร และร้านค้าปลีกรายใหญ่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้หรือไม่
ความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวนี้สะท้อนผ่าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่าไม่ควรแจกแบบถ้วนหน้า
เพราะไม่เห็นด้วยว่าบรรดาเจ้าสัว นายทุน หรือคนรวย จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ควรแจกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหรือเปราะบาง เพราะจะประหยัดงบประมาณลงได้จำนวนมาก นำไปแก้ปัญหาประเทศอื่นๆ
ตามมาด้วยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในประเทศกว่าร้อยคน ที่ร่วมลงชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย
ที่น่าสนใจ รายชื่อดังกล่าวกลับพบ ดร.วิรไท สันติประภพ, ดร.ธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมลงชื่อคัดค้านด้วย
นอกจากนี้มีนักวิชาการที่ค้านเรื่องนี้ยังเป็นคนเดียวที่เคยอยู่ในกระบวนการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว อาทิ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่ ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
"ดูแล้วมีการขวางหมากเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะลุยไฟไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลยโครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ ผมใช้คำว่าลุยไฟเลย คือหากอยากจะทำก็ทำ แต่รับรองเลยว่ามีผลแน่นอน แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกันว่าจะติดคุกหรือไม่อย่างไร” นายเมธี อดีต ป.ป.ช.กล่าว
ขณะที่แวดวงสภาสูงก็เป็นห่วงเรื่องนี้ และยังเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับระบอบทักษิณอย่าง "ถวิล เปลี่ยนศรี" วุฒิสภา กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีปัญหา ไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะต้องกระตุ้นมากนัก ควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต
"สิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอรักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งคนไข้ไม่ได้ ประชาชนไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ รัฐบาลต้องกล้าหาญ ยอมรับสารภาพความจริง ไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ เป็นเรื่องดื้อรั้น ยังมีเวลาทบทวน นายกฯ ควรฟังเสียงท้วงติง"
เช่นเดียวกับลูกน้องเก่าของทักษิณ ยังออกมาดักคอ "จตุพร พรหมพันธุ์" วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน บอกว่า คนยังไม่เคยติดคุกอาจมีความคึกคักได้ผลักดันโครงการนี้ แต่ก่อนจะตัดสินใจอะไรไป ควรไปเยี่ยมนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับนายภูมิ สาระผล ในคุกก่อน แล้วสอบถามโครงการรับจำนำข้าวว่าวันนั้นเขาคิดอย่างไร และทำอะไร อย่างไรก็ตาม ตนได้เจอกันครั้งแรกในเรือนจำ เขาบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดที่สุดในชีวิต
แต่เสียงเตือนเหล่านั้นก็ไม่ทรงพลังและอำนาจเท่ากับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ล่าสุดมีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่
“นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เบื้องต้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกันว่าโครงการมีความสุ่มเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่
จากนั้นถ้ามีข้อห่วงใยจะเสนอความเห็นไปยัง ครม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้
"หาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ” เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว
แม้มีสัญญาณเตือนทั้งแผ่นดิน แต่ "เศรษฐา" และองคาพยพในพรรคเพื่อไทยยังจะเดินหน้าต่อไป พร้อมสั่งให้ร้านค้าต่างๆ เตรียมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้ แต่อาจมีการเปลี่ยนโครงการให้เกิดความเหมาะสม โดยหวังใช้ปัญหาปากท้องและความจนของชาวบ้านมาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคุ้มกันตัวเอง
พร้อมกับย้อนรอยไปถึงรัฐบาลที่ผ่านมา ทำไมกู้เงินไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท แต่กลับไม่มีใครพูดถึง เพื่อตอบโต้เสียงท้วงติงจากขาประจำที่ล้วนแล้วเป็นปรปักษ์กับระบอบทักษิณ
โดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงแนวทางที่มาของเงินจาก 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.การลดงบประมาณปี 2567 ที่ไม่จำเป็น 2.การให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจออกเงินให้ก่อน 2-3 แสนล้าน แล้วรัฐบาลชดใช้คืนให้ภายหลัง 3.การให้รัฐบาลกู้เงินโดยตรง
ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่ เพื่อรองรับการกู้เงินทางตรงหรือทางอ้อม
สถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อไทยจึงเข้าทำนอง "กลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึง" เพราะด้านหนึ่งต้องรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนตามที่หาเสียงเอาไว้ หวั่นกู้ภาพจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แต่จะให้ลุยถั่วต่อไปโดยไม่ฟังสะท้อนก็มีโอกาสพลาดสูง ที่สุ่มเสี่ยงติดคุก หรือต้องหนีคดีออกนอกประเทศ
อย่างเช่น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินมีความผิด 5 ปี ไม่รอลงอาญา ด้วยความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 เพราะปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน โดยมีสารตั้งต้นของเรื่องก็คือ ป.ป.ช.เป็นชี้มูลความผิดเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 7 ต่อ 0
นอกจากนี้ยังสร้างหายนะให้แก่ประเทศที่ยังต้องชำระหนี้มาถึงปัจจุบันนี้ จากความผิดพลาดในนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย
จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวจำนวน 9.85 แสนล้านบาท ด้วยการนำเงินจากการระบายข้าวมาจ่ายคืนหนี้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 371,280.05 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้อีก 289,304.73 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 660,584.78 ล้านบาท
ส่วนภาระหนี้ที่ค้างชำระที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้ให้กับ ธ.ก.ส.ทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 66,403.55 ล้านบาท และเงินที่ ธ.ก.ส.ไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่นอีก 184,474.62 ล้านบาท นั่นหมายความว่ายังมีหนี้จากจำนำข้าวที่รัฐบาลนี้ต้องชดใช้อีกทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท
จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทย นำโดย "นายกฯ เศรษฐา" จะดื้อรั้น ลุยฝ่ากระแสและเสียงต้าน อย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว หรือประนีประนอมและลดอีโก้ รับฟังและปรับปรุงข้อห่วงใยจากฝ่ายต่างๆ
เนื่องจากหากผลร้ายเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายเท่านั้น คนที่ดิ้นไม่ออกคือ "ผู้นำประเทศ" และอีกสถานะคือ "รมว.การคลัง" ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งไม่นับความเป็นคนนอก ที่คนชั้น 14 สามารถตัดเนื้อร้ายทิ้งก่อนที่จะลุกลามตัวเองได้ตลอดเวลา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา
‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน
'อิ๊งค์' ยิ้มร่ารับฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' แซวตัวเอง 'แพทองแพด' แฮปปี้ไม่เกลียดใคร
'นายกฯอิ๊งค์' ยิ้มแย้ม ไม่โกรธฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ขอมองมุมดี พ่อมีประสบการณ์เพียบช่วยหนุน หยอกสื่อกลับ 'แพทองแพด' ไม่ใช่แพทองโพย บอกไม่ค่อยเกลียดใครมันเหนื่อย แฮปปี้เข้าไว้
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9
เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%