พล็อตเรื่องของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีความคล้ายคลึงกันในจุดเริ่มต้นกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คือ นโยบาย ‘พระเอก’ ของรัฐบาลนายเศรษฐา เช่นเดียวกับนโยบายจำนำข้าวที่เป็นพระเอกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในสนามเลือกตั้ง
นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ถูกท้วงติงจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง แต่พรรคเพื่อไทยในยุคที่ชู น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายนี้ โดยอ้างประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับ
ไม่ต่างอะไรกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พรรคเพื่อไทยถูกท้วงติงหนักตั้งแต่ตอนหาเสียงเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ตลอดจนการเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ แต่พรรคเพื่อไทยยืนกรานว่าจะเดินหน้านโยบายนี้ โดยอ้างเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
จวบจนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ยืนยันที่จะเดินหน้าเป็นเรื่องแรกๆ ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชน
เสียงคัดค้านและเสียงท้วงติงดังระงมขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในประเทศ ที่ร่วมลงชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะได้ไม่คุ้มเสีย
ในรายชื่อนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยคน เป็นบุคคลที่มีเครดิตและได้รับการยอมรับในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ดร.วิรไท สันติประภพ ดร.ธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แต่นายเศรษฐา แกนนำและองคาพยพในพรรคเพื่อไทย ต่างพร้อมใจกันออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ โดยใช้ความยากลำบากในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของประชาชนมาตอบโต้เสียงท้วงติงเช่นเคย
อีกสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 นโยบายคือ องคาพยพและตัวละครที่ขยับเขยื้อนคัดค้าน นอกจากนักวิชาการแล้ว ยังมีองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีหน้าที่ทั้ง ‘ป้องกัน’ และ ‘ปราบปราม’
ตอนนโยบายจำนำข้าว ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ออกมาเตือนเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายว่า หากฝืนกระทำลงไปอาจจะถูกเอาผิดในลักษณะที่ว่า รู้ทั้งรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแต่ยังทำ
ขณะที่ ป.ป.ช.ในตอนนั้นเอง ก็ได้มีข้อเสนอแนะเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนโยบายจำนำข้าวด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองกลับ
กระทั่งวันหนึ่งเกิดการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ผู้เกี่ยวข้องถูกตรวจสอบกันทั้งแผง ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ จนถึงเอกชน เกิดความเสียหายขึ้นในโครงการ สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย
ส่วนวันนี้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ได้ออกมาเทกแอ็กชันแล้วเหมือนกัน โดยนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า คณะกรรมการเฝ้าระวังสภาวะการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. เกี่ยวกับโครงการเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว
นอกจาก ป.ป.ช.ที่เกาะติดนโยบาย ตัวละครอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการท้วงติงนโยบายจำนำข้าว และมาท้วงติงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในครั้งนี้ด้วยการร่วมลงชื่อคัดค้าน ยังปรากฏตัวอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่นายเมธี อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เอง
ส่วนปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทย ยังคงใช้วิธีการตอบโต้เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างการช่วยเหลือประชาชนคนรากหญ้า น้อยมากที่จะงัดง้างด้วยข้อมูล ตัวเลข สู้กับเหล่านักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
ภาพนี้มันกลายเป็นพล็อตเดิมๆ คือ การสู้กันระหว่างนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย เพราะห่วงความเสียหายกับพรรคเพื่อไทยที่โหนความลำบากของประชาชน
จะเห็นว่า ‘จุดเริ่มต้น’ มันแทบจะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว
เพียงแต่ ‘จุดจบ’ จะเหมือนกันหรือไม่ ยังต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลนายเศรษฐา ต่อเสียงคะคานจากหลายภาคส่วนว่า จะดื้อแพ่ง เลือกลุยฝ่าแบบจำนำข้าว ที่พอเกิดข้อผิดพลาด สุดท้ายพังทั้งขบวน โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องเซ่นความพินาศ ต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ หรือจะรับฟังและปรับปรุงข้อห่วงใยจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้แรงต้านและความเสี่ยงน้อยลง
ทุกฝ่ายเข้าใจว่า เป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่สามารถพับได้ เพราะเสียเครดิต แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าเดินหน้าแล้วเกิดความเสียหาย คนที่ต้องเซ่นความรับผิดชอบก็คือ ‘เศรษฐา’ ในฐานะผู้นำและมีอำนาจตัดสินใจ
ตอนนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า จะเลือกแบบไหน หรือจะไป ‘ทางสายกลาง’ คือ เดินหน้า แต่เป็นฉบับแก้ไขจากข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วนแล้ว
ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของ ‘เพื่อไทย’ ทั้งสิ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน
ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี
บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง