เหตุผลค้านดิจิทัลวอลเล็ต หยุดสร้างความเสี่ยงให้ประเทศ

เพราะเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย มันจึงไม่แปลกที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง รวมถึงแกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนกรานเสียงแข็ง ไม่ทบทวน-ไม่ยกเลิก-ไม่ถอย การทำนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะมีเสียงทักท้วง-ข้อเสนอแนะให้รัฐบาล พับ-ชะลอ-ยกเลิก นโยบายดังกล่าว เพราะมองว่ามีความเสี่ยงที่จะตามมากับการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปทำนโยบายดังกล่าวถึง 560,000 ล้านบาท

เพราะหากเศรษฐา-เพื่อไทยถอย มันก็คือ ความพ่ายแพ้ทางการเมือง ที่หาเสียงไว้แล้วไม่ทำ-ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่าทีของเศรษฐาจึงยืนยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีถอย

ส่วนความเคลื่อนไหวของ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้าของไทย ที่ได้ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” เพราะเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” ที่เริ่มต้นด้วยจำนวน 99 รายชื่อ ที่นำโดย อดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่นำทีมโดยกลุ่มนักวิชาการจากสำนัก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าฯ ธปท., ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าฯ ธปท., อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท., รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท., รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

พบว่าได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนอย่างมากถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว และหลังจากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยยืนกรานเดินหน้าไม่มีถอย บทบาทของนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์-การคลัง จะทำหน้าที่ทักท้วง ตรวจสอบนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลต่อไปอย่างไร

“รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์-อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง-ที่ร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ตอนนี้มีคนร่วมลงชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ไทยโพสต์ ถึงเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลว่า นอกเหนือจากเหตุผลหลายข้อที่ระบุไว้ในเอกสารที่เผยแพร่แล้ว ในฐานะความเป็นปัจเจกบุคคล ที่เคยเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ 3 อย่างด้วยกัน 1.ตอบสนองในการผลิตบัณฑิตสาขาต่างๆ ที่สังคมต้องการ 2.คือชี้นำ โดยบางสาขาหรือบางเรื่องที่สังคมอาจจะยังไม่สนใจ ก็ต้องพยายามชี้แนะให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ 3.คือ เตือนสติ

....ผมกำลังทำหน้าที่ของการเตือนสติ เพราะว่าเราอยู่ในวงการของคนที่สอนและเรียนรู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ก็คิดว่าเราควรมีหน้าที่ในฐานะคนไทยที่ต้องช่วยกันให้คำแนะนำที่ถูกต้องอย่างสุภาพ มีเหตุมีผล จึงเป็นเหตุผลที่มีการเขียนจดหมายดังกล่าวขึ้นมา หลังจากที่พวกเราที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้มีการพบกันแล้วมีการพูดเรื่องนโยบายดังกล่าวขึ้นมา ทุกคนก็ตกใจ ก็มีการติดตามกันมา และเห็นว่าหากปล่อยไว้ แล้วนโยบายดังกล่าวออกมาตามที่เขาบอกกันไว้ จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจไทย จะมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ และเยียวยาลำบาก

ดร.วรากรณ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ร่วมลงชื่อด้วย เพราะรู้สึกตกใจที่นโยบายดังกล่าว ที่ใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท เป็นงบก้อนใหญ่มาก อาจจะพอๆ กับเงินที่ขาดดุลที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่อยู่ที่ประมาณเกือบเจ็ดแสนล้านบาท แต่ในส่วนของดิจิทัลวอลเล็ตก็ประมาณเกือบหกแสนล้านบาท เกือบใกล้เคียงกัน ซึ่งยอดขาดดุลของงบประมาณก็มหาศาลแล้ว แต่นโยบายดังกล่าวที่ทำโดยการโอนให้ประชาชนครั้งเดียว ตามที่นายกฯ บอกไว้ที่เคยบอกว่าอาจจะโอนภายในกุมภาพันธ์ 2567 ที่เป็นยอดเงินที่สูงมาก เพราะหนี้ประเทศไทยขณะนี้ประมาณสิบล้านล้านบาท การที่จะเพิ่มขึ้นอีกห้าแสนกว่าล้านบาท ก็เท่ากับจะเพิ่มอีกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนี้ต่างๆ ที่มีอยู่มันสะสมมาหลายปี ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เช่น โควิดระบาด แต่ครั้งนี้หากทำนโยบายดังกล่าว จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน มันย่อมทำให้ตัวเลขหนี้ขึ้นสูงมาก และภาระหนี้ของเราตอนนี้ก็เข้าไปถึง 62 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้นการชำระหนี้ที่เราต้องเพิ่มมากขึ้น มันก็จะมีทำให้ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยปีหนึ่งๆ ผมคำนวณดอกเบี้ย ที่ต้องใช้พบว่าอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวสำหรับเงินจำนวนนี้ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงเงินต้นที่ไม่รู้อีกกี่สิบปีถึงจะใช้หมด ที่ก็จะมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่จะต้องแบกรับภาระต่อไป เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

 “อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์-วรากรณ์” กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เมื่อมีหนี้เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องทำให้ภาครัฐต้องพยายามที่จะหาเงินมาชดใช้คืน ในรูปของการเพิ่มภาษี ที่ผมจะไม่แปลกใจเลยหากว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ จะมาเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ จะหาทางเพิ่มให้ได้ หรือภาษีสรรพสามิต พวกค่าบริการพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย รวมไปถึงเงินของท้องถิ่นด้วย ภาษีทรัพย์สิน หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นไม่เพียงพอ ท้องถิ่นก็ต้องไปปรับภาษีเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีที่ดิน ซึ่งคนต้องจ่าย ก็อาจต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมดูแล้วในระยะปานกลางที่ได้มา 10,000 บาท อาจจะต้องจ่ายไปในหลายรูปแบบ จนเกินกว่าที่ได้ 10,000 บาทแน่นอน นอกเหนือจากผลกระทบในด้านราคาที่สินค้าต่างๆ อาจจะแพงขึ้น ดอกเบี้ยก็อาจสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ผมกังวลมาก

 “คนที่ออกมาครั้งนี้ ทุกคนที่ทำทั้งหมดก็รู้ดีว่า อาจจะเปลืองตัว คืออยู่เฉยๆ จะไม่ง่ายกว่าหรือ แต่เราก็คิดว่าเราก็อายุมากแล้ว แต่หากจะไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ วันหลังเราอาจจะต้องมานั่งเสียใจ หากเกิดเหตุการณ์กระทบต่อไปในวันข้างหน้าอย่างรุนแรง ทั้งหมดผมพูดด้วยความจริงใจ ด้วยความรู้สึกที่พวกเรามาร่วมกันทำในครั้งนี้

เมื่อถามถึงว่า ที่ผ่านมาฝ่ายพรรคเพื่อไทย-ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และคนในรัฐบาลบอกว่าประเทศไทยยังอยู่ในที่เศรษฐกิจไม่ดี เพิ่งฟื้นจากไอซียูจึงต้องอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 560,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังออกจากห้องไอซียู และวิ่งได้ ไม่ใช่แค่ฟื้น นโยบายดังกล่าวจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ นายวรากรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูตัวเลข-ข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของทุกสำนัก ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและภาคเอกชน ต่างบอกตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หลังมีการอัดฉีดเข้าไปในระบบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด ซึ่งมันต้องใช้เวลากว่าที่จะทำงานได้ และที่สำคัญเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตจากการกระตุ้น เพราะการกระตุ้นก็คือกระตุ้นขึ้นมา แต่เศรษฐกิจจะเดินด้วยตัวของระบบเศรษฐกิจเอง อย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปัจจุบันก็ดีขึ้นเยอะ นำเงินเข้าประเทศไทยเป็นแสนล้านบาท และมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ก็กำลังขยับตัวตาม

“เพราะฉะนั้น ณ ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้ยืมเงินห้าแสนกว่าล้านบาทที่เป็นความเสี่ยง ผมคิดว่าเป็นความเสี่ยงมาก ในการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่าจะต้องเป็น 5 เปอร์เซ็นต์เสมอไป เพราะว่า คุณภาพของการเจริญเติบโตสำคัญมากกว่าตัวเลข ยิ่งปัจจุบันนี้ความยั่งยืนในระยะยาวเป็นความเห็นตรงกันของทั้งโลก มากกว่าตัวเลขที่ต้องการให้มันเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ จะให้ขยายตัว จะได้ดูดีๆ เพราะถ้าคุณภาพมันไม่ดี เบื้องหลังมันกระจุกตัวเฉพาะบางอุตสาหกรรมหรือเฉพาะบางคนที่ได้ประโยชน์โดยตรง ไม่ได้ไปถึงประชาชนทั่วไป ผมคิดว่าตัวเลขก็ไม่ได้มีความหมายเท่าใด” รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว

นี่คือเสียงเตือนในเชิงวิชาการ แม้เศรษฐาและพรรคเพื่อไทยยืนกรานจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน

“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง

ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2