ลอยตัวเกมอำนาจ 'คนมีสี' ฟื้นเศรษฐกิจชิงความนิยม

การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ในการบริหารประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าเป้าหมายสำคัญคือการพิสูจน์ “แนวทาง” ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นต้นมา คือการทำนโยบายที่โดนใจประชาชน ผลิตประชานิยมออกสู่ตลาด แต่ในอดีตโมเดลในการจัดวางบุคคล และกลุ่มผลประโยชน์เข้าไปทุกกลไกของส่วนราชการและภาคเอกชน กลายเป็นจุดอ่อนในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน จนถูกตรวจสอบการทำงานที่ถูกตั้งคำถามเรื่องทุจริตเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง

เป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคเพื่อไทย และคนในตระกูลชินวัตรเองต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ และรัฐบาล “เศรษฐา” ต้องสลัดให้หลุดจากเครือข่ายที่พัวพัน พะรุงพะรังจาก ต้นทุนเดิมที่เป็นนักธุรกิจ และเข้ามาในพรรคได้ด้วยการผลักดันจากคนในตระกูลที่เป็นเจ้าของพรรคตัวจริง

หรืออย่างน้อย ต้องสลัดให้หลุดโฟกัสของสังคม ด้วยการพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกก้าวย่างของคนที่ชื่อว่า “เศรษฐา” มุ่งมั่นทำงานในการฟื้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ถอยห่างวังวนของกระแสการเมือง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยถูกถล่มหนักในการสวิงขั้วมาจับมือกับ “พรรคลุง” จัดตั้งรัฐบาล ด้วย "ซูเปอร์ดีล” โดยการแลกกับการกลับมาของ “ทักษิณ ชินวัตร” 

แต่ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะพรรคเพื่อไทยยังถูกจัดเฉดว่าเป็น มรดก ของคนในครอบครัว การที่เศรษฐาจะขับเคลื่อนในเรื่องใดโดยไม่ฟังเสียงคนมีอำนาจตัวจริงย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับองค์กรที่เป็นแกนกลางอำนาจ

ไม่เช่นนั้นคงไม่ตัดสินใจนั่งคุม “ความมั่นคง” เองแบบไม่ใกล้เกินไป แต่ก็ไม่ไกลเกินงาม เริ่มจากการเปิดหัวนั่งประชุมร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพในช่วงต้นของการรับตำแหน่ง โดยมี “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ที่ตั้งเข้ามาเพื่อพลาง เป็นเหมือนพระอันดับ โดยเป็นที่รู้กันว่าในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับกองทัพนั้น ต้องผ่านนายกฯ และเจ้าของพรรคตัวจริง

พร้อมทั้งนั่งเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ปิดจ๊อบตามการส่งสัญญาณ โดยเจ้าตัวไม่ลงคะแนน ปล่อยให้วงการสีกากีว่ากันไปเอง ไม่เข้าไปล้วงลูกหรือชี้นำ เพราะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จบปัญหาด้วยการเดินหน้าให้ทุกอย่างยุติ

ด้วยตระหนักดีว่า กองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจุดอ่อนไหว มีความยึดโยงกับองคาพยพต่างๆ ของประเทศ บทเรียนในยุคทักษิณที่ สู้ ทั้งใต้ดิน-บนดินมาตลอด ก็ไม่เคยได้รับชัยชนะ ในที่สุดก็ต้องเลือกใช้การเจรจาและประนีประนอม ก่อนจะได้กลับประเทศ และยอมหลับตาข้างเดียวพร้อมอยู่กับมันให้ได้

ต่างจาก “พรรคก้าวไกล” ที่หยิบข้อด้อยของ คนมีสี มาตรวจสอบ ซึ่งตรงใจสังคมที่เห็นความไม่ชอบมาพากล ความเป็นอภิสิทธิ์ชนของทหารมาตลอดช่วง 9 ปี แต่อีกทางหนึ่งก็ใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้พรรค เพื่อทะลุเพดานไปยังการปฏิรูปสถาบันอย่างมีนัย ใช้มวลชนและเยาวชนร่วมเป็นด่านหน้า ท้าทายกฎหมาย สร้าง จริตใหม่ ให้กับสังคมไทย ที่ถูกตั้งคำถามว่าแนวทางดังกล่าวซึ่งกำลังรื้อถอนค่านิยมเดิม เป้าหมายเพื่อส่วนรวมหรือส่วนตัวกันแน่

แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพรรคที่วิพากษ์ “ตรรกะ” ที่บิดเบี้ยวในการตั้งรัฐบาล หรือความเล่นแร่แปรธาตุของการบริหารราชการในยุค “ลุง” จะหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปได้ จึงไม่แปลกที่จะถูกพรรคฝ่ายรัฐบาล รุมกินโต๊ะ ในหลายเรื่อง ทั้งการใช้งบในการดูงานโดยไม่จำเป็น

การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการ “สร้างฉาก” เพื่อเล่นแร่แปรธาตุรักษาสถานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ด้วยการนำคำว่า “เจตนารมณ์” มาอ้าง โดยมีเหล่าบรรดาด้อมส้มยกเรื่องการกระทำของอีกฝ่ายก็ไม่ต่างกัน จึงถูกทิ่มกลับว่า เหล่าบรรดา “เทวดา” ทั้งหลายล้วนก็ต่างมีเหตุผล ไม่ต่างจากตรรกะแบบ “ข้าชั่ว เอ็งเลว” ด้วยกันทั้งนั้น

จากนี้ย่างก้าวของพรรคก้าวไกลในการทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” ก็คงยากลำบากขึ้น การจะจัดหนัก “ทะลุเพดาน” เปิดหลักฐานตั๋วช้างแบบรัวๆ เหมือนสภาในยุคก่อน คนที่เคยส่งข้อมูลซึ่งกำลัง กลืนเลือด จากศึกในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะกล้า “ส่งต่อ” หลักฐาน เอกสารเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะวันนี้ “ชัดเจน” แล้วว่ากำลังภายในของแต่ละฝ่ายมีแค่ไหน

จึงต้องจับตาดูว่า การวางยุทธศาสตร์ของพรรคจะปักธงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเข้มข้นเหมือนเดิม หรือจะให้น้ำหนักในเรื่องการตรวจสอบการบริหารงานของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ที่เกี่ยวพันกับมิติทางด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ เพราะเหล่านี้คือ “ธงนำ” ของรัฐบาลเพื่อไทยในการฟื้นคะแนนนิยม ตอบโจทย์ที่ "ทักษิณ” เคยให้สัมภาษณ์ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งว่า ก้าวไกลมีแพ็กเกจที่สวย แต่เปิดมาไม่มีอะไร ตอกย้ำแนวคิดและนโยบายของ “เพื่อไทย” เหนือกว่าก้าวไกลที่ใช้รัฐสวัสดิการนำทาง เป็นเพียง เปลือก เท่านั้น

จึงไม่แปลกที่ “เศรษฐา” จะเล่นกับกระแสความนิยม และอ่านสังคมออกว่าต้องการเห็น “ผู้นำประเทศ” แบบไหน ด้วยการนำเสนอการทำงานแบบนักธุรกิจ มีความรวดเร็ว ไม่เป็นทางการ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนราชการที่ยืดเยื้อ-ยุ่งยาก ไม่ยึดติดกับการทำงานวันหยุด ลงพื้นที่อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย พร้อมภาพจำของ “นายกฯ ไหว้สวย” แสดงถึงการให้ความเคารพคนทุกระดับชั้น

เลยไปถึงฉากของการพบคนตัวเล็ก-ตัวน้อย ทั้ง “ชาวนา-ชาวประมง” การรับฟังข้อร้องเรียนจากทุกกลุ่มพวกโดยไม่แบ่งแยก เลยไปถึงคำกล่าวในงานต่างๆ ไม่เยิ่นเย้อ แต่กระชับ ตรงประเด็น บางเรื่องตรงไปตรงมา แม้จะใช้คำแรง แต่ได้กระแสความนิยมจากสังคม และไม่กลัวที่จะถูกมองว่า สร้างภาพ ด้วยการบริจาคเงินเดือน ค่าตอบแทนให้มูลนิธิต่างๆ 

แค่ช่วง 2 สัปดาห์ การเร่งเครื่องทำงานของนายกฯ เศรษฐา ถูกมองว่า ได้เนื้อได้หนัง ตั้งแต่เริ่มไปประชุมยูเอ็นที่สหรัฐ โดยมีการกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไประหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ-การหารือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของต่างประเทศ-หารือกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน รวมถึงหอการค้าสหรัฐอเมริกา ที่จะมีบริษัทเอกชนมาร่วมจำนวนมาก

จากนั้นก็เดินทางไปกัมพูชา เคาะระฆังเตรียมเปิดด่านชายแดนด้านตะวันออก การอำนวยความสะดวกในการข้ามแดนเกี่ยวกับเอกสาร เอื้ออำนวยให้เกิดการทำการค้าขายอย่างเต็มรูปแบบ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การเดินหน้าในการแบ่งผลประโยชน์ในเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา รับไม้ต่อจากที่ “รัฐบาลลุง” ทำไว้ให้จบ เหล่านี้เป็นการตอกย้ำสายสัมพันธ์ของรัฐบาลของ 2 ชาติที่แนบแน่น ด้วยความใกล้ชิดส่วนตัวตั้งแต่ยุค “รัฐบาลทักษิณ”

ต่อจากนั้นยังมีกำหนดการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีวาระด้านการค้าการลงทุนที่น่าสนใจ โดยนายกฯ ระบุว่า “ความสัมพันธ์กับประเทศจีน ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก การประชุม ครม.นัดแรกเปิดหัวด้วยนโยบายที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งลดค่าไฟฟ้าจากเดิม 4.45 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เริ่มบิลเดือน ก.ย.2567 และลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 ก.ย.นี้ พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็ก 3 ปี ปรับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบต่อเดือน เริ่ม 1 ม.ค.2567 แม้กระแสจะไม่ตอบรับในเรื่องหลัง รัฐบาลก็ “รุกได้-ถอยเป็น” เหมือนกัน ปรับท่าทีโดยยึดกระแสเป็นหลัก

 ส่วนความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รมช.การคลังยืนยันว่าจะพยายามเดินไปสู่เป้าหมายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้บอกไว้ คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่จะคิกออฟโครงการ ผิดพลาดหรือเลตสุดก็ขอไม่เกินไตรมาสแรก แต่เชื่อว่าทัน และการกู้เงินธนาคารรัฐ ตามการตั้งข้อสังเกตของ “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องพิจารณา

โดยรัฐบาลคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวเมื่อหมุนลงไปในระบบ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ท่ามกลางข้อกังวลของนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงิน-การคลัง ที่เกรงว่าอาจมีผลกระทบมากกว่า และเชื่อว่าแรงกระตุ้นที่สำคัญจริงๆ คือการเน้นไปที่การลงทุนซึ่งเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่ ที่ส่งผลบวกอย่างเห็นได้ชัด

ปฏิบัติการ เร่งเครื่อง อัดฉีดเศรษฐกิจไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา ขอวางสถานะตัวเองเป็นรัฐบาลภาคที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลลุงมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคง และความสงบเรียบร้อย เพื่อวางรากฐานการพัฒนาเป็นธงนำมาแล้ว

เพิ่มปัจจัยภายใน บอกโลกพร้อมค้าขาย เติมเงินทุนจากภายนอก หวังให้เกิดความพึงพอใจให้กับประชาชน เรียกกระแสความนิยมกลับคืนมา หลังจาก “ก้าวไกล” ยึดกุมฐานมวลชนทุกช่วงอายุด้วยยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้าง แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าอาจต้องใช้เส้นทางอีกยาวไกลที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเชื่อมั่นว่า การให้ความสำคัญเรื่องปากท้องต้องจับต้องได้ อย่างน้อยก็ทำให้แฟนคลับเดิมของเพื่อไทยกลับมาฐานที่มั่นเดิม ว่าพูดแล้วทำได้ แสดงศักยภาพให้ “เด็กมันดู” ว่าเนื้อในภายใต้แพ็กเกจที่เคยเฟื่องฟูในอดีตนั้นคือ “ของจริง”

แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่เรื่องชัยชนะทางการเมืองที่ต้องว่ากันต่อไป

ส่วนภารกิจในเบื้องหน้าที่ต้องดันเศรษฐกิจให้พลิกโฉมอย่างเห็นได้ชัด การเติบโตพัฒนาประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเป็นเรื่องสำคัญกว่า และอาจเป็น ของร้อน ของเพื่อไทย และเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาล ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ต้องติดตามต่อไปว่า เศรษฐาจะนำทัพข้ามผ่านโจทย์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่มักเข้ามาเป็นเงาตามตัวเมื่ออำนาจเต็มมือได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘นิด-หนู’ ปัดสำรอง!

"เศรษฐา-อนุทิน" หัวเราะร่วน หลังถูกถามนายกฯ สำรอง บอกรู้จักกันมานาน ไม่ต้องมาอธิบาย ไม่น้อยใจ ย้ำ 314 เสียงมั่นคง ส่วนการแข่งขันการเมืองเป็นธรรมดา "เสี่ยหนู"

วุ่นๆก่อนชี้ชะตา ‘เศรษฐา’ ‘เสี่ย’ พอได้ ‘ลุง’ พอแล้ว ‘นายใหญ่’ ไม่ยอม

นโยบายเรือธงเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เริ่มนับหนึ่งกันไปแล้ว หลังเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และลงทะเบียนกันไปวันแรกเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายกฯ เผยหลังลงพื้นที่นราธิวาส-มาเลเซีย กระชับความสัมพันธ์ทุกระดับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ว่า สืบเนื่องจากการพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และการลงพื้นที่ของตนที่มาดูเรื่องเศรษฐกิจ 3 วัน 2 คืน

'เศรษฐา' สยบข่าวนายกฯสำรอง ย้ำ 314 เสียงมั่นคงแล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกฯ สำรอง โดยนายอนุทินที่นั่งอยู่ข้างๆ หัวเราะ ก่อนนายอนุทินจะกล่าวว่า นั่งตัวลีบอยู่อย่างนี้ ขณะที่นายกฯ