ชัยธวัชมา-ปดิพัทธ์..? กับทางออก เก้าอี้รอง ปธ.สภาฯ

ก่อนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำชื่อ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ทรงแต่งตั้งเป็น ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทางประธานสภาฯ คงรอให้ได้ข้อยุติในเชิงข้อกฎหมายเสียก่อน ถึงจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ทั้งการต้องรอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับรองรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดใหม่ ตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวไกลเมื่อ 23 กันยายน ที่เลือกชัยธวัชเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล

รวมถึงที่สำคัญ คือต้องรอให้ พรรคก้าวไกล และปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล เคลียร์กันให้ลงตัวก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 บัญญัติว่า

“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี  เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

นั่นหมายถึงว่า เมื่อก้าวไกลตัดสินใจเลือกเอาเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ด้วยการที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่อยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในคดีหุ้นสื่อไอทีวี ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อเปิดทางให้ชัยธวัชขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อที่จะได้ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ต้องมารอผลคดีหุ้นสื่อที่คาดว่าอาจใช้เวลาอีกพอสมควร เร็วสุดอาจปลายปีนี้

 ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 เขียนล็อกไว้เช่นนี้ ก็ทำให้ปดิพัทธ์ที่ตอนนี้เป็น สส.-สมาชิกพรรคก้าวไกล ก็ต้องตัดสินใจร่วมกันกับพรรคก้าวไกล ที่ก็มีทางออก 2 ทางตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ คือ

หนึ่ง ปดิพัทธ์ลาออกจากรองประธานสภาฯ ก่อนที่ประธานสภาฯ จะนำชื่อชัยธวัชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

สอง ปดิพัทธ์ไม่ยอมลาออก ทำเป็นดื้อแพ่ง แล้วทางพรรคก้าวไกลก็เรียกประชุมใหญ่พรรค เพื่อลงมติขับนายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จากนั้นปดิพัทธ์ก็ย้ายไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัด ภายใน 30 วัน ที่ตามข่าวก็คือ พรรคเป็นธรรม ที่มี สส. 1 คนในสภาฯ ซึ่งก็จะทำให้ปดิพัทธ์ไม่ต้องลาออกจากรองประธานสภาฯ โดยเป็นรองประธานสภาฯ จากพรรคเป็นธรรมไปเรื่อยๆ แล้วพอเลือกตั้งรอบหน้ามาถึงก็ค่อยย้ายกลับไปอยู่พรรคก้าวไกลใหม่ ที่เรียกกันว่าสูตร ฝากเลี้ยง โดยใช้แท็กติกข้อกฎหมายหาช่องทาง ได้ทั้ง 2 เก้าอี้ คือผู้นำฝ่ายค้าน และรองประธานสภาฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับแต่มีกระแสข่าวทำนองดังกล่าว แกนนำพรรคก้าวไกลและปดิพัทธ์ก็ไม่เคยออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ โดยบอกแต่ว่าให้รอผลประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลวันที่ 23 ก.ย.ก่อน

ท่าทีของแกนนำพรรคก้าวไกล ต่อกรณีดังกล่าว ชัยธวัช-หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ บอกไว้หลังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคว่า "คงจะใช้เวลาในสัปดาห์นี้ ​ในการหารือร่วมกันว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร คาดว่าจะจบภายในสัปดาห์นี้"​

อย่างไรก็ตาม คาดว่าก้าวไกลเองก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน หากจะใช้วิธีฝากเลี้ยง เพื่อให้เก้าอี้รองประธานสภาฯ อยู่กับปดิพัทธ์ต่อไป เพราะหากทำเช่นนั้น ก็หนีไม่พ้นต้องโดนวิจารณ์ว่า เล่นการเมืองแบบเก่า ทำตัวเป็นศรีธนญชัย หาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ซึ่งจะเป็นการทำลายจุดขายของ พรรคก้าวไกล ที่บอกตลอดว่า เล่นการเมืองแบบใหม่ จะเข้ามาสร้างมาตรฐานทางการเมืองใหม่ ไม่เอาการเมืองแบบเก่าๆ

จุดนี้ไม่แน่เช่นกัน แฟนคลับก้าวไกลบางส่วนที่ไม่ได้เชียร์ก้าวไกลทุกเรื่อง อาจรู้สึกว่าก้าวไกลก็ไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ จนทำให้เลิกนิยมชมชอบพรรคก้าวไกลไปเลยก็ได้

คาดว่าเรื่องนี้คนในพรรคก้าวไกลก็คงคิดหนักเหมือนกัน ถ้าประเมินกระแส-ความคิดของแฟนคลับตัวเองผิด จนกระแสตีกลับ แฟนคลับพรรคบางส่วนอาจไม่ยอมรับกับวิธีการดังกล่าว

 ยิ่งช่วงหลังตัวปดิพัทธ์ก็มีหลายเรื่องที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูกระทะ-โพสต์เฟซบุ๊กเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาเบียร์คราฟต์ และล่าสุด กับกรณีใช้งบประมาณแผ่นดิน 1.3 ล้านบาท ไปทัวร์สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน พร้อมกับ สส.พรรคก้าวและพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่ง ทั้งที่คนในพรรคก้าวไกลประกาศมาตลอดว่างบเดินทางไปต่างประเทศเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย

จนทำให้ปดิพัทธ์ จากภาพนักการเมืองรุ่นใหม่ก้าวไกล ภาพลักษณ์ป่นปี้ไปพอสมควร

กระนั้นก็ต้องดูว่า สุดท้าย ชัยธวัช-ปดิพัทธ์-ก้าวไกล จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร ที่คงได้ข้อยุติภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ เพื่อจะได้เคลียร์ทาง ก่อนที่จะมีการนำชื่อชัยธวัชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านต่อไป

ส่วนที่สงสัยกันว่า ชัยธวัชจะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลขัดตาทัพรอพิธาไปนานแค่ไหน?

เรื่องนี้ก็อยู่ที่ 2 เงื่อนไข

เงื่อนไขแรก หากพิธารอดคดีหุ้นสื่อในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้พิธาได้กลับมาเป็น สส. และถึงตอนนั้นชัยธวัชจะลาออกทันที เพื่อเปิดทางให้พิธากลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 

เงื่อนไขที่สอง หากพิธาไม่รอด ตัวพิธาก็แค่หลุดจาก สส.เท่านั้น ไม่ได้โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถ้าแบบนี้ชัยธวัชก็เป็นหัวหน้าพรรคต่อไปเรื่อยๆ

จนเมื่อการเลือกตั้งรอบใหม่มาถึง ก่อนการเลือกตั้ง ชัยธวัช ก็จะลาออก เพื่อให้พิธากลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้พิธาที่เป็นจุดขายสำคัญของก้าวไกลนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง 

ส่วนกรณีหากพิธาไม่รอดคดีหุ้นสื่อ แล้ว กกต.เอาผิดพิธา กรณีนี้รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 151 ที่มีโทษทางอาญาคือ ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี

โดยหาก กกต.เอาผิดพิธา คดีอาญา ตามผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มองว่าก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้งของพิธา หากจะกลับมาช่วงเลือกตั้งรอบหน้า แม้ต่อให้สภาฯ ชุดนี้จะอยู่ครบ 4 ปีก็ตาม เพราะกระบวนการทางคดีใช้เวลานาน กินเวลาหลายปี เนื่องจากเป็นคดีอาญา และรูปคดีพลิกผันได้

เริ่มที่ กกต.ต้องไปแจ้งความกับตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดีพิธา จากนั้นรอดูว่าตำรวจจะสั่งฟ้องหรือไม่ แต่ดูแล้วแนวโน้มสูง ตำรวจสั่งฟ้อง และจากนั้นมาลุ้นอีกว่า เมื่อส่งสำนวนไปที่อัยการ ทางอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากอัยการสั่งฟ้อง ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยมีกระบวนการสู้คดีถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์และศาลฎีกา เรียกได้ว่าสู้กันยาว กินเวลาหลายปี ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ยอมกันง่ายๆ

แต่ก็อาจมีจุดพลิกได้คือ อัยการอาจสั่งไม่ฟ้องพิธาด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเจตนาปกปิดการถือหุ้นไอทีวี เหมือนกับที่อัยการเคยหักทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ-มติ กกต.และตำรวจ ด้วยการสั่งไม่ฟ้องธนาธรในคดีหุ้นสื่อมาแล้ว โดยอ้างเหตุว่า ธนาธรไม่มีเจตนา แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรก็ตาม แต่อัยการตีความว่า คดีอาญาแตกต่างออกไป ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ โดยหากอัยการสั่งไม่ฟ้องพิธา ก็จะทำให้คดีจบทันที เหมือนเคสธนาธร

จึงไม่แปลกที่ชัยธวัชและคนในพรรคก้าวไกลจะบอกว่า การเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เมื่อ 23 ก.ย. เป็นแค่การปรับทัพชั่วคราว ก็เพราะเงื่อนไขการเมืองข้างต้นนั่นเอง.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

‘พิธา’อ้อนให้รอ9ปี พร้อมเป็นนายกฯดีกว่าเดิม/‘พท.’มั่นใจ‘ทักษิณ’ยังขายได้

"แกนนำพรรคส้ม" เดินสายหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ ต่อเนื่อง "ชัยธวัช" ลั่นนโยบายที่ท้องถิ่นในอดีตไม่พร้อมทำ "ปชน." พร้อมทำให้ดู 

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า