‘เศรษฐา’ ถูกจับตาทุกฝีก้าว ‘พรรคส้ม’ เจอภาวะผีซ้ำด้ำพลอย

ถึงกับต้องออกมาชี้แจงข้ามแดน ไม่ให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต หลังจากนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาดักคอว่า ได้ยินกระแสข่าว "เสี่ยนิด" นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะปลดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพราะขัดนโยบาย ทำงานร่วมกันไม่ได้ 

กระแสข่าวเสี้ยมนี้มีมูลเหตุมาจากนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่มีการเอาคำพูดของ "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวที่ระบุว่า “ต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบในการทำนโยบายดังกล่าวก่อน ซึ่งถ้าออกมาเป็น Digital Asset ทางแบงก์ชาติยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุน เพราะจะกลายเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อต่อเสถียรภาพ แต่หากเป็น e-money ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร”  

"ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" พูดตามหลักการ แต่คนอ่านคนฟังเล่นตีความในมิติการเมืองว่าเป็นการเห็นแย้งกับนโยบายของรัฐบาล  

อนุมานกันว่าเป็นการเปิดศึกระหว่าง "นายกฯ" กับ "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" เรียบร้อย 

นายธีระชัย อดีตขุนคลังยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยกกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาอธิบายเป็นฉากๆ ว่า การปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติต้องเข้าเงื่อนไข 1 2 3 4 กระทำกันไม่ได้ง่ายๆ  

เดือดร้อน "เศรษฐา" ที่อยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต้องออกมาแจงว่าไม่เป็นความจริง 

“มีคนไปพูดว่านายกฯ ไม่มีสิทธิ์ไปไล่ท่านผู้ว่าฯ ออก ความคิดยังไม่มีเลยครับ อย่าว่าแต่สิทธิ์เลยครับ ผมว่าอันนี้ต้องขอความเป็นธรรมกับผมและท่านผู้ว่าการ ธปท.ด้วย เราไม่เคยมีเรื่องอะไรกันมาก่อน ก็ให้ความเคารพ ต่างคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีเรื่องนี้แน่นอน” 

"เศรษฐา" ต้องออกมาตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้มันเลยเถิดไปกว่านี้ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่แปลกหากจะมีใครสักคนรู้สึกว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยากจะเปลี่ยนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เพราะในอดีตเวลาพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ "นายกฯ" กับ "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" มักเป็น ลิ้นกับฟัน 

ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ทำนโยบายจำนำข้าว ก็มีการขบเหลี่ยมให้เห็นออกมาตลอดอายุของรัฐบาล โดยเฉพาะ "เสี่ยโต้ง" นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังในขณะนั้น กับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในขณะนั้น  

ลือตลอดช่วงรัฐบาลว่าอยากจะปลด "ผู้ว่าฯ ประสาร" ใจจะขาด เพราะคอยขัดแข้งขัดขาอยู่เสมอ แต่สุดท้ายทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ใช่เก้าอี้ที่คิดอยากจะเขี่ยก็เขี่ยได้เลย  

และต่อให้ใจลึกๆ แม้รัฐบาลชุดนี้มีความคิด แต่คงได้แค่คิด นอกจากจะทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนที่นายธีระชัยยกกฎหมายมา การปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติถือว่ามีอิมแพกต์การเมืองสูง บานปลายกว่าที่คิด  

อย่างไรก็ดี เรื่องความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันในมุมของรัฐบาล และมุมของแบงก์ชาติ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบมันต่างกัน  

แต่เรื่องนี้ถือว่า "เศรษฐา" ดับประเด็นร้อนเร็ว ไม่ปล่อยให้มีการนำไปเสี้ยมจนเกิดการหวาดระแวงกัน เพราะประเด็นการแต่งตั้งโยกย้ายถือเป็นเรื่องที่ถูกจับตามากที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจ  

บาดแผลเก่ายังเห็นร่องรอย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หล่นจากอำนาจก็จากเรื่องนี้ จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่เป็นธรรม จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ซ้ำรอย  

เพราะวันนี้ แม้จะเป็น รัฐบาลของประชาชน ที่หลอมรวมหลากหลายสีเข้ามาอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ได้การันตีความปลอดภัย ยังมีบางฝ่ายจ้องทุกฝีก้าว 

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเช่าเหมาลำไปประชุมยูเอ็นที่สหรัฐอเมริกา ที่ปรากฏชื่อลูกสาวเดินทางไปด้วย จนถูกตรวจสอบเข้มข้น ก่อนจะใช้ให้ฝ่ายประจำออกมาชี้แจงว่าเป็นการออกค่าใช้จ่ายเอง  

เรียกว่าตรวจสอบกันละเอียดยิบ ไล่ไปถึงสื่อบางสำนักที่ได้ติดตามไปด้วย ยังถูกตั้งคำถามได้ไปในโควตาอะไร? 

มันสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า ทุกฝีก้าวของ "เศรษฐา" และทุกฝีก้าวของ "รัฐบาล" ถูกจับจ้องตลอด ทั้งจากภาคประชาชนและฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล  

ในยุคโซเชียลมีเดีย ไม่มีคำว่าความลับ ทำอะไรยากที่จะปกปิด 

รัฐบาลเศรษฐาจะพลาดไม่ได้เลย แม้จะมีองคาพยพจากฝั่งอำนาจเดิม แต่ผนังทองแดงกำแพงเหล็กไม่สูงและไม่แข็งแกร่งเท่ากับสมัย "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี  

ขณะที่การฟาดฟันกับพรรคก้าวไกลก็ไต่ระดับความเข้มข้นกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในสถานะ ฝ่ายตรงข้าม กันเรียบร้อย 

โดยเฉพาะเรื่องเที่ยวบินไปดูงานที่สิงคโปร์ของ "หมออ๋อง" นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ที่มีมูลค่า 1.3 ล้านบาท ที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็นกระบวนการบีบให้หล่นจากเก้าอี้ เพราะอยู่ขวางหูขวางตา  

ว่ากันว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่ายที่ต้องการจะทวงคืนเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กลับมาเป็นของรัฐบาล หลังจาก "หมออ๋อง" ไม่ยอมลุกออกไป เพื่อเปิดทางให้พรรคก้าวไกลได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน  

ซ้ำยังมีการวางแผนอาศัยช่องทางกฎหมายให้พรรคก้าวไกลขับไล่ "หมออ๋อง" ออก เพื่อไปฝากเลี้ยงกับพรรคอื่นในฝ่ายค้าน เพื่อรักษาเก้าอี้ตัวนี้ไว้ ในขณะที่พรรคก้าวไกลยังได้สิทธิเป็น "ผู้นำฝ่ายค้าน" ด้วย หลังจาก "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้เลือกกรรมการบริหารชุดใหม่  

ฝั่งตรงข้ามเองก็ตอบโต้พรรคก้าวไกลหนักเหมือนกัน มีการหยิบทั้งประเด็นดูงานของ "หมออ๋อง" ที่ครั้งหนึ่งพรรคก้าวไกลเคยพูดเองว่า ไม่เห็นด้วยกับการไปดูงานต่างประเทศ ทั้งประเด็นการจะใช้แท็กติกทางกฎหมายขับ "หมออ๋อง" เพื่อรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ไว้ 

ชำแหละกันให้เห็นเลยว่า มาตรฐานพรรคก้าวไกลไม่ได้ต่างอะไรกับพรรคอื่นๆ เลยถ้าทำแบบนั้นจริง  

พรรคก้าวไกลและองคาพยพในช่วงนี้เองก็ไม่ดี มีแต่เรื่องแง่ลบวิ่งเข้าใส่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ "เจ๊เจี๊ยบ" นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีพฤติกรรมคุกคามแฟนคลับเสื้อแดงที่เห็นต่าง หลังบุกไปถึงบริษัทและนำข้อมูลส่วนตัวมาโพสต์สู่สาธารณะ  

กระทบชิ่งไปถึง "หมออ๋อง" ที่กำลังเจอตรวจสอบเรื่องเที่ยวบินดูงานสิงคโปร์อยู่แล้ว เพราะ "อมรัตน์" ดันเป็นที่ปรึกษารองประธานสภาฯ คนที่ 1 ด้วย  

นอกจากนี้ยังมีข่าวไม่ดี หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต "ช่อ" น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการโพสต์ภาพถ่ายและข้อความในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว  

สถานการณ์เหมือน ผีซ้ำด้ำพลอย 

การเมืองวันนี้ "เพื่อไทย" ประกาศเป็นศัตรูกับ "ก้าวไกล" โดยบริบูรณ์ ในฐานะคู่แข่งกันโดยตรงในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า  

ไม่ปล่อยให้ "ก้าวไกล" ใช้กระบวนการโซเชียลมีเดียถล่มอยู่ฝ่ายเดียว แต่มีการตอบโต้กลับ ทำทุกอย่างให้เห็นว่าไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีทุกอย่าง 

ขณะที่กระบวนการต่างๆ ก็ดูเหมือนจะใช้จังหวะที่ "ก้าวไกล" ดวงตก บุกขยี้ เช็กบิลบาดแผลในอดีตของบรรดาแกนนำและหัวๆ ทั้งหลาย.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9

เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน