หลังดรามา! เหมาลำเครื่องบินการบินไทย 30 ล้านบาท ในภารกิจราชการ บินลัดฟ้าไปร่วมเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภารกิจแรกในต่างประเทศของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะใช้โอกาสโชว์ตัวนายกรัฐมนตรีป้ายแดงของไทยในเวทีระดับโลกด้วย
แต่แค่เพียงเริ่มต้น ตั้งแต่ก่อนบินลัดฟ้า ก็กลับมีข้อครหา ถูกจับจ้อง และมีเรื่องที่หลายคนยังคาใจมากมายในการเช่าเหมาลำการบินไทย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากอดีตรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาใช้บริการเครื่องบินกองทัพอากาศมาตลอด และเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา แล้วทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็ต้องถูกจับจ้อง จับตา เป็นเรื่องธรรมดา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางรัฐบาลเศรษฐาก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เงิน 30 ล้านบาทที่ลงทุนไปครั้งนี้มีความเหมาะสม เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และการันตีว่ามีความคุ้มค่ากับภารกิจในครั้งนี้อย่างแน่นอน
จะว่าไปแล้วภารกิจของนายกฯ เศรษฐาที่ยูเอ็นก็แน่นพอสมควร ยิ่งเป็นนายกฯ ใหม่ป้ายแดง เสมือนได้ไปเปิดตัวกับนานาประเทศ ทั้งระดับผู้นำ บุคคลสำคัญระดับนานาชาติ และภาคธุรกิจเอกชนใหญ่ๆ ระดับโลกทั้งนั้น แต่จะเรียกว่าเนื้อหอมหรือไม่ อาจยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้เพียง 2 สัปดาห์ จึงต้องให้เวลาในการทำผลงานและผุดแนวทางต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานสักระยะก่อน
ทั้งนี้ สำหรับภารกิจของ นายเศรษฐา ที่ยูเอ็นเรียกว่าถูกอัดแน่นในเวลา 3 วัน โดยแบ่งหลักๆ เป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.การร่วมการประชุมระดับพหุภาคีภายใต้กรอบสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ซึ่งนายเศรษฐาได้กล่าวสุนทรพจน์ในรูปแบบเดียวกับผู้นำประเทศอื่น โดยกล่าวถึงมุมมองเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน การประชุมในกรอบของการประชุมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก และนายเศรษฐายังได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองจัดโดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและภรรยา โดยนายเศรษฐาได้ใช้โอกาสนี้กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำโลกอื่นๆ ในงานดังกล่าวด้วย
2.การพบหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำและบุคคลสำคัญระดับนานาชาติ ได้แก่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เลขาธิการสหประชาชาติ และประธาน FIFA ที่นายเศรษฐามีความตั้งใจที่จะพัฒนาฟุตบอลไทยให้มีโอกาสมากขึ้นในเวทีโลก
และ 3.ได้พบกับบริษัทชั้นนำของสหรัฐ Blackrock SpaceX, Citibank, Tesla, Goldman Sachs, JP Morgan, Estee Lauder, Microsoft และ Google โดยนายเศรษฐาตั้งใจให้เกิดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทย เพื่อหวังเพิ่มเม็ดเงินหลายพันล้านในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สำคัญอีก เช่น การประชุมมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยประจำสหรัฐ และการพบปะชุมชนไทยในสหรัฐ
สำหรับการโชว์วิชั่นผู้นำประเทศของนายเศรษฐาในเวทีดังกล่าวนั้น บางคำอาจฟังคุ้นหู คล้ายๆ สคริปต์ของอดีตนายกฯ ประยุทธ์ อย่างในถ้อยแถลงการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ.2023 ที่นายเศรษฐายก แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยมองว่าจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “นโยบายเศรษฐกิจ BCG” มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นจุดขายของไทยอยู่แล้ว หรือนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลประยุทธ์ดำเนินมาแล้ว คำคุ้นเคยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักและแนวทางซึ่งรัฐบาลที่เข้ามาก็จะใช้ขับเคลื่อนต่อไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไปเปิดตัวเวทีแรกที่ยูเอ็นครั้งนี้ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตนักธุรกิจ นอกจากจะไปกางแผนยุทธศาสตร์ของไทยด้านความร่วมมือเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังได้โชว์กึ๋นในฐานะที่เคยอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน ทั้งการหารือกับบริษัทชั้นนำยักษ์ใหญ่ของสหรัฐจนมีความสนใจจะมาลงทุนในไทย และยังเปิดนโยบายสำคัญเพื่อเชื้อเชิญนักลงทุนสหรัฐเข้าประเทศ ในการผลักดัน “เศรษฐกิจเกียร์สูง” ว่า
“ขอย้ำถึงนโยบายและโอกาสมากมายสำหรับบริษัทสหรัฐ ทั้งการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่เกียร์สูง อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น การบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรมที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัดและข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนอีกด้วย”
ทั้งนี้ ในส่วนภารกิจ 2 วันที่ผ่านมา ถือว่า นายกฯ ป้ายแดง คนนี้ได้ใช้โอกาสที่มีในทุกเวทีเก็บเกี่ยวความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อประโยชน์ของคนไทยพอสมควร และยังเหลืออีก 1 วันกับภารกิจที่ยูเอ็น ก่อนจะเดินทางกลับถึงไทยในเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย
ส่วนการไปครั้งนี้จะคุ้มค่าคุ้มราคาค่าเครื่องบิน 30 ล้านบาท และข้อสอบแรกของนายเศรษฐา ในเวทีโลกนี้จะผ่านฉลุยหรือไม่ คงต้องวัดกันที่ผลตอบรับจากนานาประเทศและกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่ “นายกฯเศรษฐา” ได้โปรยยาหอมเอาไว้ จะตัดสินใจหอบเงินมาร่วมลงทุนกับไทยหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
ตามสูตร! ฟื้นคณะกรรมการ 6 ชุดแก้ปัญหาสมัชชาคนจน
'ชูศักดิ์' ถก คกก.สมัชชาคนจน ตั้ง 6 กก. สมัยเศรษฐา เร่งวางแนวทางแก้ 4 เรื่องด่วน
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์