เศรษฐาเช็กแฮนด์โจ ไบเดน ลุ้นคุยเยอรมนี เรือดำน้ำจีน

ตลอดสัปดาห์นี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะโกอินเตอร์ไปราชการต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เวทีแรกที่จะไปก็คือ “การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566”

โดยเศรษฐาจะได้พบหารือกับผู้นำต่างประเทศ ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ บุคคลสำคัญ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งผ่านกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

ที่น่าสนใจ และหลายคนคงเฝ้ารอติดตาม โดยเฉพาะกองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทย ก็คือการที่เศรษฐาจะได้มีโอกาสถ่ายรูป-เชคแฮนด์กับผู้นำคนสำคัญๆ ของโลก ที่จะไปร่วมเวทีดังกล่าว โดยเฉพาะ ผู้นำประเทศมหาอำนาจ เช่น โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ นางกาญจนา ภัทรโชค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุถึงเรื่องนี้ว่า

นายกรัฐมนตรีจะได้พบกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐนั้น จะเป็นการพบปะกันในงานเลี้ยงรับรองผู้นำ ซึ่งคงมีโอกาสพูดคุยกันในตอนนั้น ส่วนจะมีการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำไทยกับสหรัฐหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะผู้นำทุกประเทศต้องการหารือกับผู้นำสหรัฐเช่นกัน”

แน่นอนว่า การปรากฏตัวของเศรษฐาในเวทียูเอ็น คงเป็นที่สนใจของต่างชาติไม่มากก็น้อย หลังที่ผ่านมาประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มายาวนานร่วม 9 ปี

 เบื้องต้น ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางไปสหรัฐในครั้งนี้ของเศรษฐาและคณะ นอกจากจะได้พบกับผู้นำและบุคคลสำคัญต่างๆ แล้ว ตัวนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติ อาทิ การกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไประหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ-การหารือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของต่างประเทศ-หารือกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน รวมถึงหอการค้าสหรัฐอเมริกา ที่จะมีบริษัทเอกชนมาร่วมจำนวนมาก

และจบจากภารกิจที่สหรัฐต้นเดือนหน้า นายกรัฐมนตรีมีคิวจะเดินทางไปอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจ นั่นก็คือ จีน ซึ่งจะเดินทางไปวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ โดยนายกฯ ระบุว่า “ความสัมพันธ์กับประเทศจีน ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง

ทิศทางการนำพาประเทศไทยให้รักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามหลัก “ทฤษฎีดุลอำนาจ” (Balance of Power) โดยเฉพาะกับ 2 มหาอำนาจของโลก

สหรัฐ-จีน

ของเศรษฐา และปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ หลังจากนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง  

“นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ” (ดอน ปรมัตถ์วินัย) ให้มุมมองถึงเรื่องการรักษาสมดุลอำนาจของไทยกับ 2 มหาอำนาจของโลก สหรัฐ-จีน โดยกล่าวถึงการที่เศรษฐา-นายกฯ จะได้คุยกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าการประชุมรอบนี้ ระหว่างการประชุมจะมีการประชุม 2 ฝ่ายคือ อาเซียนกับสหรัฐ รวมถึงการประชุมแบบทวิภาคี ไทยกับสหรัฐ ทำให้นายเศรษฐาคงได้เจอกับนายโจ ไบเดน แต่เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้ปัญหาความขัดแย้งตรงพื้นที่ทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียนบางประเทศ หรือกับสหรัฐเอง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เรื่องนี้ก็อาจหยิบยกขึ้นมาได้ว่าเราจะช่วยกันอย่างไรไม่ให้สถานการณ์มันรุนแรงหรือเลวร้ายมากไปกว่านี้ ไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า

“นันทิวัฒน์” ย้ำว่า การที่นายกฯ จะไปเยือนจีน ระหว่าง 8-10 ต.ค. เรื่องการรักษาสมดุลอำนาจของไทยกับ 2 ประเทศมหาอำนาจของโลก คือสหรัฐกับจีน เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องรักษาดุลอำนาจนี้ไว้ให้ได้ เราต้องไม่ไปเทกไซด์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในความขัดแย้งระหว่างคู่มหาอำนาจ เพราะเรามีผลประโยชน์ร่วมกันกับทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน ความมั่นคง เพราะอย่างจีนกับไทย ความสัมพันธ์ดีต่อกันมาก

อย่างไรก็ตาม ในการไปประชุมครั้งนี้ เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยพยายามติดต่อ ให้เศรษฐาได้พบปะพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ ฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี ที่จะไปร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อขอคุยเรื่องการแก้ปัญหาเครื่องยนต์ในเรือดำน้ำ S26T ของจีน ซึ่งกองทัพเรือไทยซื้อจากจีน แต่ในสัญญาการซื้อขายระบุว่า ต้องใช้เครื่องยนต์เยอรมนีรุ่น MTU369 แต่ต่อมา รัฐบาลเยอรมนีมีนโยบายไม่ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้จีน ส่งผลให้เรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยสั่งซื้อจากจีนไม่มีเครื่องยนต์มาติดตั้ง

ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการคอนเฟิร์มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า นายกรัฐมนตรีของไทยจะได้พบกับผู้นำของเยอรมนีในเวทีประชุมยูเอ็นประจำปีครั้งนี้หรือไม่ เพราะเมื่อ 16 ก.ย. เศรษฐา ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังถูกถามถึงเรื่องจะได้คุยกับประธานาธิบดีเยอรมนีหรือไม่

“ยังไม่มีรายงานมาจากทางกระทรวงการต่างประเทศ ขอเวลานิดหนึ่ง ยังมีเวลาอยู่ ตอนนี้ตารางแน่นมาก  พยายามเกลี่ยกันไปเกลี่ยกันมา ระหว่างเดินทางก็จะมีการเจรจา มีการขอนัดพบกันอยู่  อะไรที่เป็นเรื่องเก่าและยังไม่ถูกสะสางก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องช่วยสะสางกันไป เพราะถือเป็นโครงการต่อเนื่องมา ต้องทำให้สำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม เรื่องการที่ รัฐบาลไทยจะขอให้เยอรมนีปลดล็อกนโยบายไม่ขายเครื่องยนต์ให้เรือดำน้ำจีน หลายภาคส่วน ก็มองว่า อาจจะยากพอสมควร เพราะมีการมองกันว่า ท่าทีของเยอรมนีดังกล่าวเป็นเพราะถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกา ที่งัดข้อกับจีนมาตลอดเพื่อแข่งกันเป็นมหาอำนาจของโลก จนหลายประเทศในยุโรปเลยบอยคอตจีนในเรื่องการซื้อขายอุปกรณ์-เครื่องยนต์ต่างๆ ที่จะนำไปใช้เป็นอาวุธสงครามได้ 

จนสุดท้าย China Shipbuding & Offshore International Co. Ltd. หรือ CSOC บริษัทต่อเรือของจีนที่ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานของรัฐบาลในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและส่งออกอาวุธ ที่ขายเรือดำน้ำจีนให้กับไทย ก็ไม่สามารถหาเครื่องยนต์ MTU 396 มาติดตั้งได้ตามข้อตกลง แม้ CSOC จะใช้ความพยายามทั้งการเจรจากับบริษัท MTU ของเยอรมนี ผ่านช่องทางระดับผู้บริหารบริษัทต่อบริษัท-รัฐบาล-รัฐบาล และช่องทางทางการทูต แต่ก็ล้มเหลวหมด จนต้องเสนอให้ติดตั้งเครื่องยนต์ รุ่น CHD 620 ของจีน ให้กองทัพเรือพิจารณาแทน

ดังนั้นหากสุดท้ายรัฐบาลเศรษฐา โดยเฉพาะตัวเศรษฐาสามารถเจรจาพูดคุยกับผู้นำประเทศเยอรมนีเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ได้ จนบริษัทของเยอรมนียอมขายเครื่องยนต์ให้กับจีน นักวิชาการบางคนถึงกับบอกว่าจะเป็นผลงานชิ้น โบแดง ของรัฐบาลชุดนี้ และแน่นอนว่า เศรษฐาจะได้เครดิตจากรัฐบาลจีนไปเต็มๆ

 เช่นความเห็นของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย- นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เสนอทางออกเรื่องนี้ว่า ทางเลือกหนึ่งก็คือกลับไปเจรจาต่อรองกับเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลใหม่ก็น่าจะมีโอกาสดีกว่าเดิม โดยดึงเอาเครื่องยนต์เยอรมนีกลับมา ถ้าทำได้ โดยหากฟาสแทร็กไป ก็จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับไทยมาก ไม่ต้องพูดถึงระดับบนสุด ระดับกลาง ระดับล่างก็มี มีคนไทยในเยอรมนีมากที่สุดหลายหมื่นคน แล้วความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ก็ดีมาโดยตลอด หากจะคุยกันจริงๆ ก็ยังคุยกันได้ หาก รมว.กลาโหมมีคนเก่งๆ ไปเจรจา

ผลการไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งนี้ของเศรษฐาและคณะ เมื่อเดินทางกลับมาจะมีการแถลงผลอย่างเป็นทางการ รอดูกันว่าการไปโชว์ตัวในเวทีระดับโลกของเศรษฐาจะมีฟีดแบ็กต่างๆ กลับมาอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วุ่นๆก่อนชี้ชะตา ‘เศรษฐา’ ‘เสี่ย’ พอได้ ‘ลุง’ พอแล้ว ‘นายใหญ่’ ไม่ยอม

นโยบายเรือธงเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เริ่มนับหนึ่งกันไปแล้ว หลังเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และลงทะเบียนกันไปวันแรกเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

นับหนึ่ง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ยังขลุกขลัก ‘ย้ายทะเบียนบ้าน’ส่อทำเงินกระจุก

เริ่มแล้ว! อย่างเป็นทางการสำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ เรือธง ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวันแรก 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

14 ส.ค.ชี้ชะตา 'ลุงป้อม-พปชร.' ลุ้นสุดท้ายคดี 'เศรษฐา'

ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ขณะนี้เหมือนจะมี 2 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ พรรคจะควรจะอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ดี เพื่อรักษาสถานภาพที่มีอยู่

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน