เสร็จสิ้นไปแล้วกับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อค่ำวันอังคารที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินเต็มรูปแบบต่อไป
โดยในวันพุธที่ 13 ก.ย.จะมีการประชุม ครม.นัดแรกเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งเรื่องสำคัญที่จะมีการนำไปพิจารณาในที่ประชุม ครม.เรื่องหลักๆ ก็คือ
1.การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองในตำแหน่งที่ลงตัวแล้ว
เช่น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือโฆษกรัฐบาลที่จะตั้ง นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ มานั่งในตำแหน่งดังกล่าวที่เป็นโควตาของเพื่อไทย
ขณะที่รองโฆษกรัฐบาลจากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งจากภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ ต้องดูว่าทั้ง 2 พรรคจะเคาะรายชื่อออกมาส่งให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเลยหรือไม่ ถ้ายังไม่ส่งชื่อมา ก็ต้องเป็นสัปดาห์หน้า 19 ก.ย.
ส่วนตำแหน่งการเมืองอื่นๆ เช่น เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ข่าวบอกว่าหลายกระทรวงได้ชื่อลงตัวแล้ว แต่อาจเสนอเข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ข่าวว่าก็ลงตัวแล้วเช่นกัน คือ สมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง-จักรพงษ์ ตั้งสุทธิธรรม อดีต สส.เชียงใหม่ เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายสังคม, พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นต้น
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล บางกระทรวงก็ทำโผข้าราชการการเมืองไว้แล้ว อาทิ กระทรวงแรงงาน ที่มี พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็น รมว.แรงงาน-จับกัง 1 จะมี อารี ไกรนรา อดีตหัวหน้าการ์ด นปช.เป็นเลขานุการ รมว.แรงงาน หลังทำผลงานเป็นหัวหน้าทีมเลือกตั้งภูมิใจไทยที่นครศรีธรรมราช จนพรรคได้ สส.เขตมา 2 คน ส่วนที่ปรึกษา รมว.แรงงาน คือ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต สส.ตาก ขณะที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ข่าวว่าจะเป็น สิรภพ ดวงสอดศรี ผอ.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้กับพิพัฒน์มาก่อน ตอนพิพัฒน์เป็น รมว.การท่องเที่ยวฯ ตลอด 4 ปีก่อนหน้านี้ แต่ข่าวบางกระแสบอกว่า สิรภพต้องการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีมากกว่า จึงอาจมีการสลับกับธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ เป็นต้น
2.มติ ครม.ในเรื่องการช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชน
หลังก่อนหน้านี้เศรษฐาประกาศไว้ว่าประชุม ครม.นัดแรก ก็จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้วยการทำให้ต้นทุนพลังงานลดลง จนทำให้ค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมันดีเซล มีราคาถูกลง
ซึ่งล่าสุดเมื่อ 12 ก.ย. เศรษฐา-นายกฯ และ รมว.คลัง ก็ยืนยันว่าประชุม ครม.นัดแรก 13 ก.ย. จะมีเรื่องเหล่านี้แน่นอน
“จะมีเยอะมากในการประชุม ครม.วันที่ 13 ก.ย.นี้ ขอให้สื่อมวลชนเตรียมทำข่าวไว้ได้เกี่ยวกับนโยบายหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน วีซ่าฟรี และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งมีเรื่องเยอะมาก ไม่แน่ใจว่าจะทำให้แปลกใจหรือเซอร์ไพรส์ที่จะมีอะไรบ้าง แต่มีนโยบายเยอะและหลายๆ อย่างจะเป็นการตอบโจทย์สิ่งที่แถลงนโยบายไปบ้างในเบื้องต้น และหลายๆ พรรคการเมืองที่มาร่วมในรัฐบาลของประชาชนนี้ที่เสนอนโยบายให้กับพี่น้องประชาชนก็จะพยายามนำมาทำให้ได้เร็วที่สุด ฉะนั้นจะมีหลายเรื่อง” เศรษฐาระบุ
ส่วนเรื่อง พักหนี้เกษตรกร ที่เศรษฐาเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะทำให้เกิดผลทันทีภายในเดือนตุลาคมปีนี้ ล่าสุด ระหว่างการลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 12 ก.ย. ตัวนายกฯ ได้ย้ำการพักหนี้เกษตรกรไว้ว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. 13 ก.ย.นี้ด้วย
“การประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 13 ก.ย.นี้ น่าจะมีการนำเสนอเรื่องการพักหนี้เกษตรกรด้วย โดยเรื่องการพักหนี้เกษตรกร เรามีแนวทางเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ได้ภายในไตรมาส 4 โดยเราจะพักเงินต้นและดอกเบี้ย รัฐบาลดำเนินการพักหนี้ดังกล่าว พร้อมแผนการสร้างรายได้ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปลูกผลิตสิ่งที่ตลาดโลกต้องการในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมทั้งตระหนักถึงภาวะโลกเดือด จึงเตรียมพร้อมนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้”
และอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ที่จะออกมาช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนก็คือ การประกาศจะทำให้ค่าโดยสายรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง เหลือ 20 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ออกมาจากปากของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ระหว่างลุกขึ้นชี้แจงปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท
หลังถูก สส.ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างหนักเมื่อ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นว่า พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่าจะทำให้ค่ารถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย แต่ตอนนี้มาบอกว่าขอเวลา 2 ปี และไม่มีการเขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล จนทำให้ สส.ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างหนักว่า หาเสียงไว้แต่สุดท้ายทำไม่ได้ และเรื่องนี้เห็นชัดว่า ทำให้เรตติง-กระแสนิยมของรัฐบาลเพื่อไทยไม่ค่อยดี โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สุริยะต้องพลิกเกมด้วยการจะทำให้ค่ารถไฟฟ้าสายสีแดงกับสายสีม่วง ใช้ราคาเดียว 20 บาทตลอดสายไปก่อน ซึ่งแม้จะไม่ตรงใจประชาชนชาวกรุงเทพมหานครนัก เพราะคน กทม.ส่วนใหญ่จะโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ผ่านเส้นทางหลักในกรุงเทพฯ แต่มันก็ทำให้เพื่อไทยแก้เก้อได้ว่า ทำแล้วเรื่องลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า จะได้ไม่โดนโจมตีหนักกว่านี้
“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะทำต่อไป นโยบายนี้จะเริ่มทันที เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจะรวบรวมสัมปทานเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกสายมาเจรจา ขั้นตอนเจรจาอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที
ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-รังสิต” ราคา 14-42 บาท และสายสีม่วง “บางซื่อ-คลองบางใหญ่” ราคา 14-42 บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น 20 บาท จะเร่งผลักดันภายใน 3 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขณะที่สายสีเขียวที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ต้องให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงคมนาคมพร้อมจะสนับสนุน ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง” สุริยะ รมว.คมนาคม 11 ก.ย.
ความร้อนแรงของประเด็นเรื่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำให้สุริยะ-รมว.คมนาคม ต้องชี้แจงเรื่องนี้ถึง 2 รอบ โดยหลังจากชี้แจงในช่วงค่ำวันที่ 11 ก.ย.ไปแล้ว ต่อมาในช่วงเย็น วันที่ 12 ก.ย. ก็ต้องลุกขึ้นชี้แจงอีกรอบหลังถูกฝ่ายค้านอภิปรายซักถาม หาเสียงไว้ทำไมทำไม่ได้
ซึ่งการชี้แจงรอบที่ 2 “สุริยะ” ยืนยันว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยยายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้แน่นอน ส่วนระยะเวลาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนั้น เนื่องจากแต่ละเส้นทางมีระบบแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการให้สัมปทานเอกชน บางเส้นทางรัฐดำเนินการเอง หรือบางเส้นทางให้ กทม.ทำ ดังนั้นการให้เก็บ 20 บาทตลอดสายเท่ากันทุกเส้นทาง ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องใช้เวลาเจรจาและวางระบบเทคนิคการทำตั๋วร่วมเป็นระบบเดียวกัน ต้องวางระบบคอมพิวเตอร์ให้เทคนิคเหมือนกัน ทั้งนี้ เส้นทางที่รัฐจะดำเนินการได้เองคือ สายสีแดง กับสายสีม่วง จะดำเนินการทันที เพราะกระทรวงคมนาคมทำเอง ภายใน 3 เดือน
“ภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย การที่ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา และวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อย ยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษ” สุริยะให้คำมั่นไว้กลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา 12 ก.ย.
เอาเป็นว่าหลังจากนี้ เมื่อรัฐบาลเศรษฐาเข้าบริหารประเทศเต็มรูปแบบ นโยบายสวยหรูต่างๆ ที่เขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 11-12 ก.ย.2566
เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องติดตามกันต่อไปว่า ที่รัฐบาลเศรษฐาให้สัญญากับประชาชนไว้ สุดท้ายแล้วได้เข้าไปทำจริงหรือไม่ และทำแล้วประสบความสำเร็จหรือมีปัญหาติดขัดตรงไหน เพื่อที่หากเวลาผ่านไปแล้วปรากฏว่า รัฐบาลเพิกเฉยไม่ได้ทำอย่างที่แถลงไว้
ประชาชนจะได้ส่งเสียงไปถึงรัฐบาลให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะประชาชนจะไม่ยอมโดนนักการเมืองหลอกอีกต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์
นับถอยหลัง 2567 5 ฉากร้อนการเมืองไทย
นับถอยหลังต่อจากนี้ ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็เข้าสู่ช่วง “นับถอยหลังอำลา 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568” กันแล้ว