11-12 ก.ย.ล็อกเป้าถลุง นโยบายรัฐบาลเศรษฐา

วันจันทร์ที่ 11 ก.ย. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะเข้าห้องประชุมรัฐสภาครั้งแรกในชีวิตอย่างเป็นทางการ เพื่อนำทัพคณะรัฐมนตรีร่วมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่จะอภิปรายกัน 2 วัน 11-12 กันยายน

เหตุที่เป็นการเข้าประชุมรัฐสภาครั้งแรกของเศรษฐา ก็เพราะเศรษฐาไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนในชีวิต และตอนที่ประชุมร่วมรัฐสภา โหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 ส.ค. ก็ไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ ตอบคำถามสมาชิกรัฐสภา ดังนั้นก็ต้องมาติดตามกันว่า เศรษฐาจากซีอีโอบริษัทใหญ่วงการอสังหาริมทรัพย์ที่เคยแต่ออกคำสั่ง ไม่เคยต้องฟังคำสั่งใคร ไม่เคยมีลูกน้อง-พนักงานในบริษัทคอยคัดค้านท้วงติง เสนอแนะ จึงทำให้ยังติดบุคลิกการเป็นเถ้าแก่ใหญ่อยู่ในดีเอ็นเอ เห็นได้จากคลิปโยนปากกาก่อนหน้านี้ จนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง ทำให้เศรษฐาต้องออกมาขอโทษประชาชน

 จึงต้องดูกันว่า ศึกแถลงนโยบายแมตช์นี้ ยามเมื่อเศรษฐาต้องเจอการอภิปรายแบบไม่เห็นด้วย-คัดค้าน นโยบายรัฐบาลจาก สส.ฝ่ายค้าน รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วน ที่อาจมีการอภิปรายแบบเชือดเฉือนนโยบายรัฐบาล แล้วตัวเศรษฐาจะทนได้มากน้อยแค่ไหน

กระนั้นเชื่อว่าเศรษฐาพยายามปรับบุคลิกตัวเองอยู่ และไม่น่าจะออกอาการนอตหลุดกลางห้องประชุม

จุดสำคัญต้องดูด้วยว่า สส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ที่ประกาศว่าได้ลับดาบเตรียมทั้งกะซวกและชำแหละนโยบายรัฐบาลแบบจัดหนักจัดเต็ม สุดท้ายจะทำได้แค่ราคาคุย ถึงเวลาชกไม่เต็มหมัด ออกหมัดป้อแป้หรือไม่

โดยเฉพาะกับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่รุ่นใหญ่ของพรรคประกาศจะลงมานำทีมอภิปรายด้วย ทั้ง ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่เพิ่งพ้นจากการเป็น รมว.พาณิชย์ มาไม่ถึงเดือน โดยมี สส.ประชาธิปัตย์แจ้งความจำนงขออภิปราย 15 คน

งานนี้ให้จับตาประชาธิปัตย์จะกลับมาแสดงบทบาทที่ตัวเองถนัดในการตรวจสอบรัฐบาล จนถูกเรียกขานฝ่ายค้านมืออาชีพได้หรือไม่?

ส่วน พรรคก้าวไกล แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่าได้โหมโรง เชิญชวนให้ประชาชนและแฟนคลับด้อมส้มติดตามการอภิปราย 2 วันนี้ให้ดี เหมือนกับจะบอกว่ารอบนี้ไม่ผิดหวัง ก้าวไกลจะไล่ถลุงรัฐบาลเศรษฐาอย่างหนัก

“ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิป สส.พรรคก้าวไกล กล่าวก่อนถึงการเตรียมพร้อมของพรรคก้าวไกล ว่าพรรคก้าวไกลได้วางตัว สส.ในการอภิปรายครั้งนี้จนถึงตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 30 บวกลบ โดยวางกรอบการอภิปรายไว้ 3 กรอบใหญ่คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยในวันแรก จะเน้นเรื่องการอภิปรายนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วนนโยบายเชิงการเมือง จะอยู่ในวันที่ 12 ก.ย. ซึ่งหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอ่านคำแถลงนโยบายเสร็จสิ้น ก็จะตามด้วยแกนนำพรรคก้าวไกลลุกขึ้นอภิปรายต่อทันที ที่ตอนนี้วางตัวให้ นส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจเป็นคนอภิปรายคนแรก จากนั้นคาดว่าจะตามด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

"เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต จนถึงขณะนี้พบว่าคนในรัฐบาลยังไม่มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่บอกว่าจะนำมาใช้กับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมารองรับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มองดูแล้วเหมือนกับจะเป็นการทำแบบผิดฝาผิดตัว เพราะเวลาตั้งนโยบายเราต้องตั้งโจทย์หลักให้ชัด แล้วนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาทำ ไม่ใช่เอา 2 โจทย์คือกระตุ้นเศรษฐกิจกับเทคโนโลยีบล็อกเชนมารวมกันแล้วพยายามจะทำให้ได้ เพราะหวังว่าทำครั้งเดียวแล้วจะได้ 2 อย่าง แต่มันอาจไม่ได้เหมาะสมกับสภาพที่มันเป็นก็ได้

ส่วนนโยบายเชิงการเมือง ก็จะมีการอภิปรายเช่นกัน เช่น เรื่องแนวทางการปฏิรูปกองทัพ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในคำแถลงนโยบายกลับไม่เขียนไว้ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ปกรณ์วุฒิระบุ

ถึงตอนนี้จับอุณหภูมิการเมืองได้ว่า เวทีแถลงนโยบายรัฐบาล 11-12 ก.ย. หากฝ่ายค้านและ สว.ทำการบ้านมาดี อภิปรายแบบตีแสกหน้านโยบายรัฐบาลได้ตรงจุด ชี้ให้เห็นช่องโหว่ของนโยบายรัฐบาลได้ดี ย่อมทำให้ เศรษฐาต้องว้าวุ่นแน่เลย

เพราะอย่างที่หลายคนเห็น คำแถลงนโยบายรัฐบาล มีหลายจุดให้ต้องเค้นคอถามหนักๆ ให้เศรษฐาและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง  ต้องตอบ หลังรัฐบาลใช้วิธีเขียนนโยบายแบบกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียดเพื่อเลี่ยงการผูกมัดตัวเอง รวมถึงการไม่มีรายละเอียดในนโยบายที่ชัดเจน

โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่คนทั้งประเทศรอคอยและเฝ้าติดตามการอภิปราย คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินถึง 560,000 ล้านบาท ก็ไม่มีรายละเอียดว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนใดแบบเฉพาะเจาะจง และคนในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ตกผลึกอย่างเห็นได้ชัดถึงการทำนโยบายดังกล่าว ซึ่งนอกจาก สส.ฝ่ายค้านจะอภิปรายนโยบายดังกล่าวแล้ว ก็คาดว่าจะมี สว.บางคนมาร่วมอภิปรายผสมโรงด้วย

รวมถึงอีกหลายนโยบายที่เพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ ก็ไม่ได้ถูกนำมาเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาล ก็จะถูกฝ่ายค้านอภิปรายเช่นกัน อาทิ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ตอนหาเสียง เศรษฐา ทวีสิน เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าเป็นนโยบายที่ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ขับเคลื่อนได้ แต่ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จากพรรคเพื่อไทย รีบตีกรรเชียง บอกว่าขอเวลา 2 ปีในการศึกษาและทำนโยบาย ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักประกันว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะทำได้จริง

ตลอดจนจะมีการอภิปรายนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลด้วย เช่น นโยบายด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน หลังเกิดวิกฤตการเมืองในเมียนมา เรื่องแนวคิดนโยบายผู้ว่าฯ ซีอีโอ นโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายพักหนี้เกษตรกรที่เศรษฐาประกาศจะทำทันทีในเดือนตุลาคมปีนี้ นโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น

ขณะที่นโยบายเชิงการเมือง คาดว่าเรื่องหลักที่พรรคก้าวไกลจะอภิปรายเน้นเป็นพิเศษ คงไม่พ้นเรื่องการขอความชัดเจนจากนายเศรษฐา ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะให้มีการทำประชามติเพื่อให้มีการจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่เพื่อไทยเคยหาเสียงหรือไม่ รวมถึง นโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้ออาวุธและการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และไม่แน่ อาจจะมี สส.ฝ่ายค้าน-สว.อภิปรายเรื่องที่นโยบายรัฐบาลบอกว่าจะสร้างหลักนิติธรรม Rule of Law โดยอภิปรายลากโยงไปถึงกรณี ทักษิณ ชินวัตร ว่ากระทรวงยุติธรรมจะเอาอย่างไรกับทักษิณ หลังยังนอนพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ เป็นต้น 

เมื่อฝ่ายค้าน-สว.ตั้งแท่น จะรอฟาดนโยบายเศรษฐา เพื่อรับน้องทางการเมืองเศรษฐากลางห้องประชุมรัฐสภาอย่างหนัก

 ประเมินดูแล้ว ฝ่ายพรรคเพื่อไทยคงวางแผนเตรียมทีมองครักษ์ทั้ง สส.และรัฐมนตรีคอยช่วยแบ็กอัพเศรษฐาในการชี้แจงไว้แล้ว เพื่อไม่ให้เศรษฐาพลาดท่าเสียทีกลางห้องประชุม ถูกฝ่ายค้าน-สว.จัดหนักจนคางเหลืองตั้งแต่เข้าสภาฯ นัดแรก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง

เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์

ควักใบแดงถีบพ้นรัฐบาล ในโฟกัส"พีระพันธุ์-รทสช." ทักษิณจ้องยึด"ก.พลังงาน"

แวดวงการเมืองต่างเทน้ำหนักไปทางเดียวกัน โดยมองว่าน่าจะเป็นจริงอย่างที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “สัญญาณเตือน-เตรียมควักใบแดง ถีบออกจากรัฐบาล” ของทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง