เกิดกระแสพูดถึงมาร่วมสัปดาห์กว่ากับการมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่ผู้คิดฉ้อฉลคดโกงประเทศหวั่นเกรง แต่สุดท้ายพอคนทุจริตถูกศาลตัดสินจำคุก แม้จะโดนลงโทษหลายปี แต่ ติดคุกจริง กลับแค่ไม่กี่ปี ไม่ได้รับโทษเต็มตามจำนวนตามคำพิพากษา เพราะนักโทษในคดีทุจริตมีชื่อติดอยู่ในกลุ่มคนที่ได้รับการลดวันต้องโทษ
ทำให้ผู้คนในสังคมตั้งคำถามถึงมาตรการในการ ลดหย่อนผ่อนโทษและการเลื่อนชั้นนักโทษ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์ ในการดูแลของกระทรวงยุติธรรมที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.ยุติธรรม จนเกิดเป็นกระแสดังอื้ออึง
อันเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น หลังมีพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษฯ ออกมาเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่นอกจากจะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ และได้รับพระราชทานลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวอีกกว่า 1.3 แสนราย มีรายงานด้วยว่า ในกลุ่มดังกล่าวมีนักการเมือง, อดีตข้าราชการระดับสูง ที่ถูกศาลพิพากษาในคดีสำคัญ 5 ราย ที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 2564 รอบ 2 เช่น กลุ่มนักโทษในคดีทุจริตจำนำข้าว
อาทิ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 36 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 12 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 25 สิงหาคม 2568 และยังมี บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เมษายน 2571 หรือ อภิชาติ (เสี่ยเปี๋ยง) จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวตัวแสบที่มีคดีความมากมาย และได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม โดยศาลพิพากษาปี 2561 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 9 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน พ้นโทษ 26 ธันวาคม 2566 หรืออีกแค่สองปีนับจากนี้ เป็นต้น
จนทำให้มีทั้งนักกฎหมาย-อดีตผู้พิพากษา-องค์กรเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน-สมาชิกวุฒิสภา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตหลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าว โดยเฉพาะการให้ผู้ต้องขังคดีทุจริตถูกจัดให้เป็น นักโทษชั้นเยี่ยม ว่ากรมราชทัณฑ์มีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพราะในเมื่อกระบวนการพิจารณาคดีต่างๆ ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พนักงานอัยการ ศาลยุติธรรม เช่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาดำเนินการสอบสวน ไต่สวน จนสุดท้ายคดีถึงที่สุด มีการกำหนดโทษให้ต้องชดใช้ฐานร่วมกันทุจริต ทำให้บ้านเมืองเสียหายหลายแสนล้านบาท แต่สุดท้ายได้รับการผ่อนปรน ลดโทษ ตามกฎระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่เป็นแค่กฎกระทรวง
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อเป็นแบบนี้ทั้งที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และกลไกต่างๆ ที่ออกมารองรับรัฐธรรมนูญทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดในการไต่สวนและการมีความเห็นสั่งฟ้อง เป็นต้น ที่ล้วนออกมาเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการให้มียาแรง มาตรการที่เข้มข้นในการเอาผิด ลงโทษคนทุจริต เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อบุคคลอื่น สุดท้ายแม้คนที่ฉ้อโกงจะต้องรับโทษในเรือนจำ แต่ก็ไม่ได้ติดคุกตามบทลงโทษของศาลยุติธรรม เทียบแล้วบางคนติดคุกแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น ตามตัวอย่างข้างต้นที่ยกมากรณีจำเลยคดีทุจริตจำนำข้าว สังคมจึงเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์เคลียร์เรื่องดังกล่าว
อย่างเช่นท่าทีของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ แก่ผู้ต้องขัง ส่งผลให้ผู้ต้องขังในคดีคอร์รัปชันหลายรายที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้เศรษฐกิจของประเทศ แต่ขณะนี้กลับได้รับการลดหย่อนโทษอย่างรวดเร็ว
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดและโดยใคร ทำให้หลักเกณฑ์ที่เคยเป็นหลักความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไป จนเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนักโทษ โดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันอย่างไม่น่าได้ลดหย่อนรวดเร็ว.....จึงเป็นเรื่องสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน บ่อนทำลายความพยายามของ ป.ป.ช., อัยการ และศาล ในการเอาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้คนโกงไม่เกรงกลัว" แถลงการณ์ระบุชัด
เรื่องดังกล่าว หลังคนในสังคมพูดถึงมาได้พักใหญ่ ล่าสุดมีท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังถูกสื่อตั้งคำถามกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแถลงการณ์คัดค้านลดโทษผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน โดยนายกฯ บอกว่าวันนี้ต้องเอามาทบทวน บางอย่างเป็นเรื่องของกฎระเบียบของกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์กำลังทบทวน ต้องศึกษาดูว่ามีอะไรที่ไม่เหมาะสมอยู่ตรงนี้ ต้องดูตรงนี้ มันคือเรื่องความทุจริต ต้องไปดูว่าเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้มันเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ใหม่ ต้องมาทบทวนใหม่ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน สมศักดิ์-รมว.ยุติธรรม ชี้แจงเรื่องร้อนแรงดังกล่าวนี้ กลางที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. ในช่วงการตอบกระทู้ถามด้วยวาจา กรณีการลดโทษให้ผู้ต้องขังคดีจำนำข้าว ที่ถามโดย วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ชนิดกระแทกใจประชาชนทั้งประเทศ
"กว่าที่จะเอาคนพวกนี้มาเข้าคุกได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมาก แต่กรมราชทัณฑ์กลับไปลดกระหน่ำซัมเมอร์เซล และมีคนพูดว่าคนพวกนี้เป็นพวกเดียวกับท่านรัฐมนตรี เคยเป็นนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีด้วยกัน
ขอถามแบบตรงไปตรงมาว่า กระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษเหล่านี้ ท่านรู้เรื่องบ้างหรือไม่ มีส่วนรู้เห็นมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสอบหรือไม่ หลักเกณฑ์ในการเลื่อนระดับนักโทษ มีการวิ่งเต้นใช้เงินหรือไม่" ส.ว.วันชัยถามชัดๆ ต่อหน้าสมศักดิ์กลางห้องประชุมวุฒิสภา
โดย สมศักดิ์ ชี้แจงโดยสรุปว่า ทั้งหมดทำโดยถูกต้องตามแนวทางที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2459 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 105 ปี มี พ.ร.ฎ.อภัยโทษผู้ต้องขัง 52 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นควรที่กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ จะต้องทำมากกว่าแค่การชี้แจง โดยอ้างอิงว่าทำตามระเบียบและครรลองที่ทำกันมาตลอด เพราะเรื่องแบบนี้กรณี นักธุรกิจ-อดีตนักการเมือง-คนมีเงิน-คนมีเครือข่ายอำนาจ ที่เรียกกันว่า "นักโทษวีไอพี" ติดคุกจริง แต่ก็ได้ออกมาเร็ว เป็นเรื่องที่สังคมพูดกันมาตลอด
เหมือนกับที่ ส.ว.วันชัยตั้งกระทู้ถามกลางที่ประชุมวุฒิสภา "มีการวิ่งเต้นใช้เงินหรือไม่"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อบงการ ลูกตามสั่ง
“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.
ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน
'สมศักดิ์' ขึงขังจัดการ รพ.ปลอมใบรับรองแพทย์!
'สมศักดิ์' ฮึ่มจัดการเด็ดขาด รพ.ปลอมใบรับรองแพทย์ ต้องเจอคุก ขอส่งข้อมูลให้ สธ.-ตร.พร้อมจัดการให้ไว 1-2 วัน
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด