เหลือเวลาอีก 2 วัน คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
กรณีออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่ บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคาร โครงการวอเตอร์ฟรอนท์ พัทยา (Waterfront Pattaya) หรือ วอเตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ เป็นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมและโรงแรมหรู 53 ชั้น บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี มิชอบด้วยกฎหมาย กำลังจะ ‘หมดอายุความ’
คดีนี้สั่นสะเทือนกระบวนการยุติธรรมประเทศไทยอีกครั้ง และทำให้เกิดข้อกังขามากมายอีกหน
โดยเฉพาะช่องว่างทางกฎหมาย ที่ทำให้หลายคนสามารถรอดเงื้อมมือกระบวนการยุติธรรมไปได้
กรณีของนายอิทธิพลนั้นเกิดขึ้นสมัยเป็นนายกเมืองพัทยา เมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้ว เรื่องอยู่ในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มายาวนาน กระทั่งเพิ่งมาชี้มูลนายอิทธิพลกับพวกไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ป.ป.ช.เพิ่งจะรวบรวมสำนวนและพยานหลักฐานส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง
ที่สำคัญ ป.ป.ช.เพิ่งจะขอให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ออกหมายจับนายอิทธิพล เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันคดีจะหมดอายุความแล้ว
เพราะในบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กำหนดอายุความไว้เพียง 15 ปี ซึ่งเรื่องเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551
เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดคำถาม ตั้งแต่การใช้เวลาไต่สวนที่ยาวนานของ ป.ป.ช. และเพิ่งจะมาชี้มูลเอาในช่วงที่คดีใกล้หมดอายุความ ตลอดจนการสั่งฟ้องภายหลังที่นายอิทธิพลพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรมไปแล้ว ทำให้ติดตามตัวยากกว่าตอนเป็นรัฐมนตรี
ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้มูลและสั่งฟ้องได้เร็วกว่านี้ตั้งแต่นายอิทธิพลยังเป็น รมว.วัฒนธรรม การหลบหนีอาจกระทำได้ยากกว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดความคลางแคลงใจในสังคมว่า มีใครจงใจทำให้ออกมาเป็นแบบนี้หรือไม่?
อย่างไรก็ดี สำหรับไทม์ไลน์ในชีวิตของนายอิทธิพลนั้นพบว่า เคยถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เด้งออกจากตำแหน่งนายกเมืองพัทยา
ซึ่งในยุค คสช.ใหม่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจมาตรา 44 เด้งข้าราชการและผู้บริหารท้องถิ่นที่พัวพันคดีทุจริตนับร้อยคน ซึ่งนายอิทธิพลที่มีคดีใน ป.ป.ช.คือหนึ่งในนั้น
ต่อมาในปี 2561 มีการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อมาเป็นนั่งร้านให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยช่วงนั้นมีกระแสข่าวออกมาหนาหูว่า ในหนึ่งวิธีที่ผู้มีอำนาจใช้ต้อนนักการเมืองให้ยอมมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ คือกดดันเรื่องคดีความ หรือมีข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างที่คุ้มค่า
ซึ่ง บ้านใหญ่ชลบุรี ภายใต้การนำของ นายสนธยา คุณปลื้ม กลายเป็นนักการเมืองล็อตแรกๆ ที่ถูกชวนมาร่วมกันก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ
มิเพียงเท่านั้น พี่น้องคุณปลื้ม ‘สนธยา-อิทธิพล’ ยังเข้ามามีตำแหน่งในฝ่ายบริหารยุค คสช. โดย ‘สนธยา’ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขณะที่ ‘อิทธิพล’ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.คืนอำนาจให้กับคนบ้านนี้ โดยแต่งตั้ง ‘สนธยา’ เป็นนายกเมืองพัทยา หลังเคยใช้อำนาจนี้เด้งน้องชายคือ ‘อิทธิพล’ มาก่อนหน้านั้น
ส่วน ‘อิทธิพล’ ถูกส่งเข้ามาช่วยงานพรรคพลังประชารัฐในยุคแรกเริ่ม และยังเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดแรกด้วย ซึ่งแม้จะสอบตก แพ้ให้กับพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น แต่ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมว.วัฒนธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในโควตา ‘บ้านใหญ่ชลบุรี’
ในปี 2562 นายสนธยาตัดสินใจพาทีมบ้านใหญ่ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย ขณะที่นายอิทธิพลลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ตามพี่ชายไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย รวมถึงไม่ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติแม้จะถูกชักชวนก็ตาม
มีแต่ข่าวออกมาว่า ต้องการเว้นวรรคทางการเมืองก่อน
เมื่อรูปการณ์ออกมาเป็นแบบนี้ หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากล
อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาในประเด็นที่อธิบดีอัยการปราบทุจริตฯ ส่งหนังสือด่วนถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขอให้ศาลออกหมายจับนายอิทธิพลฉบับใหม่ โดยหยิบยก พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า "...ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ..."
ป.ป.ช.จะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไร เพราะเป็นกฎหมายของตนเองด้วย
กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมาก เพราะมันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะกับคนที่มีอำนาจ
ตั้งแต่ในยุค รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเกิดแบบนี้ซ้ำๆ
น่าสนใจอย่างมากว่า เมื่อถึงยุคของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่เพิ่งประกาศต่อสู้กับการคอร์รัปชันเมื่อวันที่ 6 ก.ย. เรื่องพวกนี้ยังจะอยู่ หรือหมดไปได้หรือไม่
เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นมะเร็งร้ายของสังคมไทย และเคยทำให้รัฐบาลทักษิณล่มสลายมาแล้ว!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รอดยากป.ป.ช.จ่อฟัน อดีต44สส.พรรคส้ม แต่อาจพ้นผิดที่ศาลฎีกา!
ศึกซักฟอกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนมีนาคม ที่มีพรรคประชาชน เป็นหัวหอกหลักของฝ่ายค้านในการนำทัพ ไล่บดขยี้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
'เพื่อไทยวิธี'ตลบตะแลงแก้'รธน.' แอบหลังสว.-ทำสภาล่ม-ยื่นศาล
ก่อนหน้านี้ไม่เพียงแค่พรรคประชาชน (ปชน.) จะมุ่งมั่นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเท่านั้น ยังมีพรรคเพื่อไทยที่มีความขึงขังไม่แพ้กัน โดยยื่นร่างแก้ไขประกบเว้นการแก้หมวด 1 และหมวด 2
‘สุชาติ’นั่ง‘ประธานป.ป.ช.’สมบูรณ์ ทำ‘บิ๊กโจ๊ก’แตะเบรก ตั้งหลักใหม่?
ถือเป็นคลิปสะเทือนแวดวงการเมือง องค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม หลังมีการเผยแพร่คลิปการนั่งสนทนากันระหว่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และบุคคลอื่นๆ ที่กล้องไม่สามารถจับได้
ประวิงเวลายื่นศาลฯ เข้าทางเกมแก้ รธน.‘เพื่อไทย’
คอการเมืองวันนี้ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเสียหน่อย กับเหตุการณ์ที่รัฐสภามีประชุมร่วมรัฐสภา โดย สส. สว.ประชุมด้วยกันในวันนี้ และอีกวันคือ วันที่ 14 ก.พ. พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.....จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของพรรคเพื่อไทย (พท.) และฉบับของพรรคประชาชน (ปชน.) ในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ
รุกไล่-ถอนรากถอนโคน เครือข่ายเงินสีเทา-หม่อง ชิตตู
การรุกคืบของรัฐบาลที่ ถอนรากถอนโคน เครือข่าย ธุรกิจสีเทา ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยใช้ไม้หนักมากขึ้นนอกเหนือจาก ตัดไฟ-ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่โยงไปถึงฝั่งเมียนมา เป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง
แก้รธน.วาระ(นับ)1หรือยืนอยู่ที่เดิม
ก่อนจะเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 256 และยังเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้