เก็งข้อสอบ รอชำแหละ นโยบาย รบ.เศรษฐา

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย พยายามเร่งเครื่องทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีฮันนีมูนพีเรียด และมีเดิมพันทางการเมืองสูง เพราะหากรัฐบาลเพื่อไทยไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมที่โดดเด่น ประชาชนจับต้องได้ เลือกตั้งรอบหน้า โอกาสจะแพ้พรรคก้าวไกลแบบเลือกตั้งที่ผ่านมามีความเป็นไปได้สูง

ทำให้ไม่ต้องแปลกใจที่เหตุใด รัฐบาลเศรษฐาดูจะเครื่องร้อนเป็นพิเศษในการที่เร่งผลักดันนโยบาย-มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาประชาชนแบบเร่งด่วน จับต้องได้

จนประกาศว่า ประชุม ครม.นัดแรก จะมีการประกาศมาตรการที่นำไปสู่การลดต้นทุนพลังงาน เพื่อทำให้ค่าไฟ-น้ำมันดีเซล-ก๊าซหุงต้ม มีการปรับราคาลดลง รวมถึงยืนยันหลายครั้งว่า คนไทยทั่วประเทศที่อายุเกิน 16 ปี จะได้ดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาทแน่นอน ในช่วงต้นปี 2567 จนเรื่องนี้ถูกนำไปเขียนไว้ชัดเจนใน ร่างคำแถลงนโยบายรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่จะประชุมกันสัปดาห์หน้า 11 ก.ย.นี้ ส่วนจะอภิปรายไปถึงวันที่ 12 ก.ย.ด้วยหรือไม่ ก็อยู่ที่การหารือร่วมกันระหว่างวิป 3 ฝ่าย รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 7 ก.ย.

แม้การแถลงนโยบายรัฐบาลจะมีการเปิดโอกาสให้ ส.ส.รัฐบาลได้ร่วมอภิปรายด้วย แต่เป็นที่รู้กัน ส่วนใหญ่ ส.ส.รัฐบาลก็จะอภิปรายแบบซอฟต์ๆ เนื้อหาจะเป็นลักษณะการให้ข้อเสนอแนะ ให้ข้อคิดเห็นว่า รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรนำนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมอย่างไร หรือไม่ ก็อภิปรายแบบเชียร์กันสุดลิ่มทิ่มประตูไปเลย ว่านโยบายแต่ละด้านดีอย่างไร

ยิ่งหากรัฐบาลเศรษฐาต้องการให้อภิปรายจบเร็ว ไม่ยืดเยื้อ ก็คงให้คิว สส.รัฐบาลอภิปรายกันไม่มาก

ซึ่งการแถลงนโยบายรัฐบาลรอบนี้ ดูจากสถานการณ์โดยรวม บทบาทหลักคงไปอยู่ที่การอภิปรายของ สส. พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหอกหลักของพรรคฝ่ายค้าน ที่เบื้องต้นมี สส.ก้าวไกลจองคิวขออภิปรายกันร่วม 60 คน

 ขณะที่ฝ่ายค้านอื่นๆ อย่าง ประชาธิปัตย์ ที่ถูกจับตามองว่า เป็นพรรค อะไหล่-รอเสียบเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคต

ประเมินจากขุมกำลัง และความพร้อมของประชาธิปัตย์ในยุคนี้ คาดว่าตัวหลักๆ สส.อาวุโสคงยังไม่ขึ้นเวทีรอบนี้ คงปล่อยให้ สส.พรรครุ่นใหม่ได้ลับดาบ ซ้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านไปก่อน ที่ก็ต้องดูว่า ประชาธิปัตย์จะชกเต็มหมัดหรือไม่ แต่หากแค่อภิปรายแบบประคองตัว ไม่มี สส.รุ่นใหม่คนไหนแจ้งเกิดได้ ก็จะยิ่งทำให้ประชาธิปัตย์ถูกสบประมาทอีกว่าถอยหลังลงคลอง ชกไม่เต็มหมัด เพราะหวังร่วมรัฐบาลในอนาคต

ทำให้การอภิปรายที่หากออกมาเข้มข้น ก็น่าจะมาจากก้าวไกลและกลุ่ม สมาชิกวุฒิสภา ที่มี สว.หลายคน จองคิวอยากอภิปรายแบบ ชำแหละ นโยบายรัฐบาลให้เต็มที่ เพื่อทิ้งทวนการทำงาน เพราะการแถลงนโยบายรัฐบาลรอบนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายของ สว.ที่จะได้อภิปรายนโยบายรัฐบาล เพราะ พ.ค.ปีหน้า สว.จะหมดวาระ

   เก็งข้อสอบประเด็นการอภิปรายของ สส.ฝ่ายค้าน-สว. ที่กำลังลับดาบ รออภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาลเศรษฐา คาดว่าเรื่องหลักๆ ที่จะมีการอภิปรายกันมาก ก็เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต-หนึ่งหมื่นบาท ที่เป็นนโยบายหลักของเพื่อไทยที่ใช้งบประมาณรวม 560,000 ล้านบาท

ถึงตอนนี้เห็นชัดว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ยังไงรัฐบาลเพื่อไทยทำแน่ เพราะเป็นเดิมพันสำคัญของพรรค เพียงแต่ทำแล้วประสบความสำเร็จหรือมีปัญหาตรงไหน ก็ค่อยไปดูกันหน้างานตอนทำออกมาแล้ว ความมั่นใจดังกล่าวของเศรษฐา-เพื่อไทย ต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ ร่างคำแถลงนโยบายรัฐบาล จึงเขียนเรื่องนี้ไว้ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน

“นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี” เอกสารร่างนโยบายรัฐบาลระบุ

จุดที่ต้องเฝ้ามองก็คือ นโยบายดังกล่าวเริ่มถูกทักท้วงและตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะหางบประมาณจากส่วนใดมาทำ อีกทั้งกระบวนการต่างๆ ในการทำ อาจเกิดปัญหา-รูรั่วขึ้นหลายขั้นตอน ที่เป็นไปได้สูงที่เรื่องนี้จะมี สส.ฝ่ายค้านและ สว.อภิปรายนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกันพอหอมปากหอมคอ             

กระนั้นฝ่ายเศรษฐา-เพื่อไทย คงไม่ยอมพลาดท่ากลางห้องประชุมรัฐสภา ทำให้ทีมงานแบ็กอัพของเพื่อไทยและเศรษฐาต้องเตรียมข้อมูลไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้เศรษฐา ในฐานะ รมว.คลังด้วยอีก 1 ตำแหน่ง ต้องชี้แจงให้ได้ เคลียร์ทุกประเด็น โดยจะมี 2 แบ็กอัพสำคัญที่จะมาช่วยเศรษฐาในห้องประชุมรัฐสภาคือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง จากเพื่อไทย และกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง อดีตปลัด ก.คลัง จากรวมไทยสร้างชาติ

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการอภิปรายกันพอสมควร ก็เช่น เรื่อง การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน แต่ประเมินว่า ประเด็นนี้เสียงคัดค้านคงมีน้อย เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ แต่น่าจะมีการอภิปรายทำนองซักถามว่า ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจะทำอย่างไร-ทำแล้วจะเกิดผลกระทบกับส่วนอื่นๆ เช่น เงินในกองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่หรือไม่ และจะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีหรือไม่อย่างไร ทำนองนี้

 แต่เรื่องปากท้อง-ค่าครองชีพประชาชน ก็คาดว่าอาจจะมี สส.ฝ่ายค้านอภิปรายกันพอสมควร แต่จะมีประเด็นอื่น เช่น การทวงถามเรื่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่เพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ ที่ตอนนี้กำลังย้อนกลับมาที่เพื่อไทยแล้ว หลังแสดงท่าทีจะซื้อเวลาเรื่องนี้ออกไป และไม่มีการเขียนไว้ในร่างนโยบายรัฐบาล เช่นเดียวกับอีกหลายนโยบายที่เพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ เช่น จะให้การช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า

20,000 บาทต่อเดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 ก็ไม่มีการเขียนไว้

ทำให้คาดว่าจะมี สส.ฝ่ายค้านและ สว.อาจลุกขึ้นอภิปรายทวงถามการหายไปของนโยบายต่างๆ ข้างต้น ว่าเหตุใดเพื่อไทยถึงไม่เขียนไว้ มีเหตุผลอะไร

                    ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่จะมี สส.-สว.อภิปราย เพื่อขอทราบจุดยืนและความชัดเจนจาก เศรษฐา-ครม.-พรรคร่วมรัฐบาล เช่น แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร, นโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะการยกเลิกการเกณฑ์ทหารและการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ, นโยบายเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังก่อนหน้านี้เพื่อไทยเคยหาเสียงว่า หากเข้าไปเป็นรัฐบาลจะเอากัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง, นโยบายเรื่องการกระจายอำนาจ, นโยบายด้านความมั่นคง เช่น การแก้ไขปัญหาภาคใต้ จะผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ เช่น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือไม่ จะยังคงสนับสนุนแนวทางการให้มีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหรือจะยกเลิก เป็นต้น

เวทีแถลงนโยบายรัฐบาล จึงเป็นเวทีแรกของเศรษฐา

ที่จะเดินเข้าสู่ห้องประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความสนใจทางการเมืองว่า จากอดีตซีอีโอที่ประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจ ที่ยังทิ้งบุคลิกแบบเถ้าแก่ออกไปไม่ได้ทั้งหมด ยามเมื่อต้องมารับมือ-รับฝีปากกับ สส.-สว. ตัวเศรษฐาจะทำได้ดีแค่ไหน หรือจะนอตหลุดกลางห้องประชุมรัฐสภา หากโดนทุบหนักๆ มันน่าติดตามดูชม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘นิด-หนู’ ปัดสำรอง!

"เศรษฐา-อนุทิน" หัวเราะร่วน หลังถูกถามนายกฯ สำรอง บอกรู้จักกันมานาน ไม่ต้องมาอธิบาย ไม่น้อยใจ ย้ำ 314 เสียงมั่นคง ส่วนการแข่งขันการเมืองเป็นธรรมดา "เสี่ยหนู"

วุ่นๆก่อนชี้ชะตา ‘เศรษฐา’ ‘เสี่ย’ พอได้ ‘ลุง’ พอแล้ว ‘นายใหญ่’ ไม่ยอม

นโยบายเรือธงเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เริ่มนับหนึ่งกันไปแล้ว หลังเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และลงทะเบียนกันไปวันแรกเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายกฯ เผยหลังลงพื้นที่นราธิวาส-มาเลเซีย กระชับความสัมพันธ์ทุกระดับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ว่า สืบเนื่องจากการพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และการลงพื้นที่ของตนที่มาดูเรื่องเศรษฐกิจ 3 วัน 2 คืน

'เศรษฐา' สยบข่าวนายกฯสำรอง ย้ำ 314 เสียงมั่นคงแล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกฯ สำรอง โดยนายอนุทินที่นั่งอยู่ข้างๆ หัวเราะ ก่อนนายอนุทินจะกล่าวว่า นั่งตัวลีบอยู่อย่างนี้ ขณะที่นายกฯ

นายกฯ สั่งตรวจสอบ TEMU อีคอมเมิร์ซจีนตีตลาดไทย ยันต้องเสียภาษี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่จ.นราธิวาส ถึงกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu ของจีนเข้ามาตีตลาดไทย รวมถึงตลาดอื่นทั่วโลก จึงกังวลว่าเงินจะถูกส่งกลับจีน โดยไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยว่

'ศิริกัญญา' เอาใจช่วย 'เศรษฐา' ไม่หลุดนายกฯ หวัง 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

'ศิริกัญญา' เชียร์ 'เศรษฐา' รอดคดี ไม่เห็นด้วยองค์การอิสระแทรกแซง ยังหวังก้าวไกลไม่ถูกยุบ ขอรอผล 7 ส.ค. ก่อน รับคุยหลายพรรคไม่ใช่แค่ถิ่นกาขาวฯ