ศึกชิงปธ.กมธ.สมบัติล้ำค่า ซีกรบ.เตะตัดขา ก.ก.

เปิดศึกกันอีกรอบสำหรับเพื่อนรักหักเหลี่ยมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ภายหลังเกิดความไม่ลงตัวในเรื่องการจัดสรรโควตาคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 35 คณะ ถึงขั้นที่ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง จากพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีการจับสลาก

ปฐมเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในครั้งนี้มีสาเหตุด้วยกัน 2 ประการ โดย ประการที่ 1 คือ กระบวนการจัดสรรโควตาประธานคณะกรรมาธิการสามัญฯ จากเดิมในปี 2562 ทุกพรรคตกลงกันว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองใหญ่ตามลำดับมีสิทธิเลือกคณะกรรมาธิการก่อนจำนวน 3 คณะ ส่วนจำนวนคณะกรรมาธิการที่เหลือจะให้พรรคการเมืองวนเลือกจนครบ ดังจะเห็นได้จากเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่มีสิทธิเลือกคณะกรรมาธิการก่อนจำนวน 3 คณะ จากนั้นถึงจะเป็นสิทธิของพรรคการเมืองอื่นตามลำดับ

แต่ปรากฏว่าปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนกติกาใหม่ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจับมือกันตกลงกันว่าจะให้ สส.ของแต่ละพรรคนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ตามกระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลดูแลอยู่ เช่น พรรคเพื่อไทยประกาศจองคณะกรรมาธิการคมนาคม หรือพรรคภูมิใจไทยขอตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน และคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เป็นต้น

เหตุผลประการที่ 2 คือ การที่พรรคก้าวไกลมีความต้องการจะเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ เดิมที่เคยทำหน้าที่มาก่อน เช่น ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการอ้างว่าต้องการเข้ามาสานงานที่เคยทำไว้ก่อนให้สำเร็จ รวมถึงพรรคก้าวไกลมองว่าควรให้ฝ่ายค้านเข้ามาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการฯ ที่มีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลโดยตรง อย่างคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ซึ่งเดิมเป็นของฝ่ายค้านมาตลอด ทว่าครั้งนี้พรรคเพื่อไทยก็มีความต้องการจะเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ทั้งสองตำแหน่งเช่นกัน

ในมุมของพรรคก้าวไกลต่อเรื่องนี้ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เนื่องจากมองว่าหากปล่อยให้กระบวนการจัดสรรโควตาประธานคณะกรรมาธิการเป็นในลักษณะให้ สส.พรรคร่วมรัฐบาลมานั่งประธานคณะกรรมาธิการฯ ตามกระทรวงที่แต่ละพรรคมีรัฐมนตรีเข้าไปนั่งเป็นเจ้ากระทรวง จะทำให้กลไกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรเป็นประธานคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต เพราะยิ่งจะเป็นการทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่เกิดความสง่างาม

แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะยอมให้พรรคก้าวไกลได้ประธานคณะกรรมาธิการฯ ตามอำเภอใจ แม้ว่าด้านหนึ่งจะอ้างถึงเหตุผลในเรื่องความเป็นเอกภาพในการทำงานระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะหาก สส.พรรคร่วมรัฐบาลทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการตามสัดส่วนของกระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลได้รับโควตา จะทำให้การทำงานของสภาเกิดความราบรื่น แต่เหตุผลลึกๆ แล้วมีความกังวลต่อการทำงานของพรรคก้าวไกลอยู่พอสมควร

ทั้งนี้ เป็นเพราะข้อมูลที่พรรคก้าวไกลใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจถล่มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากคณะกรรมาธิการฯ ที่พรรคก้าวไกลเป็นประธานแทบทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ต้องการให้ สส.พรรคก้าวไกลที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ในการเรียกหัวหน้าส่วนราชการมาชี้แจงและให้ข้อมูล ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็ตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้อยู่

แม้ถึงที่สุดแล้วการพยายามของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลในการเตะตัดขาพรรคก้าวไกลจะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะถึงอย่างไรเสียพรรคก้าวไกลก็ยังคงได้เก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการจำนวน 10 คณะตามสัดส่วนของ สส. แต่ก็ยังดีกว่าให้พรรคก้าวไกลได้อำนาจตามที่ต้องการ เพราะนั่นแทบไม่ต่างอะไรกับการยื่นมีดให้กับฝ่ายตรงข้าม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล