“รัฐบาล”ประกบคู่ความมั่นคง เก็บงาน“สุทิน-เศรษฐา”5เรื่อง

แม้การจัดคณะรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน จะให้น้ำหนักพรรคเพื่อไทยไปกับกระทรวงเศรษฐกิจเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับกระทรวงด้านสังคมและความมั่นคงลดหลั่นกันไป แต่กระทรวงกลาโหมที่ดูเหมือนหลายพรรคจะโยนไปโยนมา เพราะมองว่ากองทัพเป็นเอกเทศ ไม่อยากเข้ายุ่ง และถ้าส่ง รมต.พลเรือนนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานสภากลาโหม และประธานคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล บริหารจัดการเหล่าทัพภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เป็น “นาย” ของเหล่าบรรดาบิ๊กๆ ทหาร ก็จะดูผิดฝาผิดตัว แต่ในที่สุด “กระทรวงกลาโหม” ก็ต้องตกเป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย และต้องใช้มาบริหารโควตาภายในพรรค ชื่อจึงไปออกไปที่ สุทิน คลังแสง

เมื่อมีข่าวออกมา เจ้าตัวจึงแบ่งรับแบ่งสู้ แต่เมื่อมีพระบรมราชโองการฯ ก็ต้องพร้อมทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ จึงเดินสายเข้าพบเหล่าบรรดาอดีต รมต.กลาโหม ที่เคยทำงานร่วมกับพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทยในอดีต เพื่อรับฟังคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ในการรับมือกับทหาร

แต่วงหารือที่ดูหนักแน่น สะท้อนภาพ การจัดความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพได้ชัดเจน คือ การเปิดโต๊ะกลมคุยกันระหว่าง นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, และว่าที่ ผบ.เหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผบ.ทร. ที่น่าสนใจคือ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ

“เหล่าทัพก็ไม่ได้สะท้อนอะไร เพียงแต่ว่าเราได้เห็นสัญญาณทางกองทัพเปิดใจกว้างที่จะรับคนพลเรือน ผมก็จับได้ว่าถ้าเราเข้าใจเขา แล้วเราก็ชัดเจนถึงแนวปฏิบัติ และเขาเชื่อมั่นว่าเราทำเพื่อชาติจริงๆ เชื่อว่าทหารไม่มีปัญหา ซึ่งผมก็ไม่ได้ลำบากใจอะไร แต่ก็ไม่ถึงกับประมาท หมายถึงว่าจะไปชิลๆ ไม่ต้องคิด ต้องอ่าน คือไม่ใช่ต้องเตรียมข้อมูล คงไม่ได้” นายสุทินระบุ

จากข้อมูลข่าวสารทั้งรายงานข่าว การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และนายสุทิน รมว.กลาโหมเอง พอสรุปได้ 5 ข้อ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน

1.นโยบายการยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหาร เหล่าทัพยืนยันมีแนวทางในการรับทหารกองประจำการโดยสมัครใจอยู่แล้ว แต่ยังมีหลายภารกิจที่ต้องใช้ “ทหารเกณฑ์” ในจำนวนที่กำหนดไว้ปีละประมาณ 9 หมื่นนาย ขณะนี้ขาดอยู่ปีละ 4 หมื่นนาย จึงต้องเกณฑ์ทหารเข้าไว้ (“สุทิน” เข้าใจในความจำเป็น แต่พยายามจะให้การเลิกบังคับเกณฑ์ทหารเลย โดยรัฐบาลจะเข้าไปกำกับ สนับสนุน และอาจลดจำนวนทหารเกณฑ์ เตรียมเปิดรับสมัครตั้งแต่เนิ่นๆ)

2.การปฏิรูปกองทัพ โดยลดนายพล เหล่าทัพได้เปิดแผนการลดอัตรากำลังพลตามแผนที่ทำมา และในปี 2570 จะเห็นถึงความเปลี่ยนอย่างชัดเจน (สุทิน.. บอกว่า ในอนาคตจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังพลและนายพลที่ลดลงไปด้วย

3.การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องใช้งบประมาณ ...  (เศรษฐา-สุทิน ไม่ตัดงบประมาณ และหากมีการเจรจาในเรื่องนี้ จะขอให้ทางกองทัพนำเสนอสินค้าภายในประเทศไทยที่มี เพื่อแลกเปลี่ยนหรือไปจำหน่ายกับประเทศนั้น ในลักษณะการแลกเปลี่ยน หรือ Barter trade)

4.โปรเจกต์ใหญ่ที่ค้างการพิจารณาอย่างเรือดำน้ำ ซึ่ง ทร.อนุมัติเครื่องยนต์จีนเพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T ไปแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนของกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลในการอนุมัติ หรือเปลี่ยนแปลง ยกเลิก (สุทิน.. ไม่ยืนยันเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำจีน ฟังดูข้อคิดเห็นเรื่องประสิทธิภาพของเรือดำน้ำชาติอื่นๆ หรืออาจจะเจรจาระดับรัฐบาลจีนเพื่อให้ได้มากกว่านี้ จะมีการ Barter trade หรือไม่ ต้องรอดู

5.หน่วยงานเฉพาะกิจของเหล่าทัพที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กองทัพบกได้อธิบายว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำอะไร เช่นเดียวกับ กองทัพเรือ อธิบายงานของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)  เช่น การแก้ไขปัญหา IUU (เศรษฐาเห็นว่า กองทัพทำอะไรดีๆ ที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ไม่มีการชี้แจงกันอย่างตรงไปตรงมา อยากให้ความเป็นธรรมกับกองทัพ หากมีการปรับเรื่องการสื่อสารให้ดีขึ้น พี่น้องประชาชนก็จะได้ทราบเรื่องดีๆ

สำหรับภารกิจเฉพาะหน้า “นายกฯ เศรษฐา” จะเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยให้ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ว่าที่ ผบ.ทหารสูงสุด เดินทางไปด้วย เป็นแนวทางการทูตในยุคนี้ ที่การเจรจาหารือกับนานาชาติจะเป็นลักษณะของ Two Plus Two  ซึ่งมี รมว.การต่างประเทศ หรือกลาโหม หรือปลัดกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานเดินทางไปด้วย จึงไม่แปลกที่เห็น ดร.ปานปรีย์อยู่ในวงประชุม อีกทั้ง พล.อ.ทรงวิทย์เป็นนักเรียนนายร้อย ตปท. จบ จาก VMI, Virginia Military Institute ประเทศสหรัฐ

และบทบาทหน้าที่ของกองบัญชาการกองทัพไทย ก็กำกับดูแลในเรื่องการส่งกองกำลังไปร่วมรักษาสันติภาพในประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีทหารไทยไปปฏิบัติงานที่เซาท์ซูดาน รวมถึงการส่งผู้สังเกตการณ์ที่พื้นที่ชายแดนปากีสถาน  นอกจากนั้นกองทัพไทยยังทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานส่งผู้ช่วยทูตทหารไปประจำที่สถานเอกอัครราชทูตประจำเมืองทั่วโลก ถือเป็นกรอบงานด้านการทูตทางการทหารโดยตรง

การเตรียมรับบท “สนามไชย 1” ของ “รมว.สุทิน” มีการวางตัวให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาวางโครงสร้างสำนักงานรัฐมนตรี เพื่อจัดทีมงานสนับสนุนภารกิจของ รมต.เบื้องต้น โดยจะมีทั้งทหารเกษียณและทหารในราชการ เป็นทีมที่เน้น “ความรวดเร็ว” หวังผล "การเปลี่ยนแปลง” วาระแรกคือ การเยือนเหล่าทัพอย่างเป็นทางการ โดยมีทหารกองเกียรติยศต้อนรับตามระเบียบวิธีปฏิบัติ การประชุมสภากลาโหม ที่ว่ากันว่า “จะคุยแต่เนื้อเน้นๆ” โดย พล.อ.นิพัทธ ถือเป็นทหารเสือราชินี ที่เคยรับราชการอยู่ที่ ร.21 พัน 3 กองพันเดียวกันกับ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ด้วย

นอกจาก พล.อ.นิพัทธ์แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังส่ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เข้ามาทำงานคู่ขนานไปด้วย หวังเป็น โซ่ข้อกลาง ในการประสานงานกับเหล่าทัพแบบไร้รอยต่อ เพื่อไม่ให้แผนพัฒนากองทัพในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางไว้สะดุด และคาดหวังว่าจะใช้เป็นอีกเสียงหนึ่งในการคานข้อมูลในเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องต่างๆ แบบ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ถ้านับรุ่นก็ถือว่า พล.อ.ณัฐพล จบเตรียมทหารรุ่น 20 รุ่นไม่ห่างจาก ผบ.เหล่าทัพปัจจุบันมากนัก โดยปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทอ. จบเตรียมทหารรุ่น 24 ส่วน ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร. จบเตรียมทหารรุ่น 23

เข้าสู่มิติใหม่ในการบริหารงานแบบผสมผสานระหว่างพลเรือน-ทหาร ที่หวังผลเลิศในเรื่องของงานเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ใจกันอีกหลายยก. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง

เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์