มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรี เศรษฐา 1 ซึ่งหลังมีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อลงมาเมื่อวันเสาร์ที่ 2 ก.ย. ก็เตรียมติดเครื่อง หวังเร่งเข้าไปทำงานอย่างรวดเร็ว ด้วยการแจ้งล่วงหน้าทีมรัฐมนตรีว่าจะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันศุกร์ที่ 8 ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ความต้องการจะแถลงนโยบายรัฐบาลวันที่ 8 ก.ย. ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว เมื่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า กระบวนการจัดส่งเอกสารนโยบายรัฐบาลไปให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง สส.-สว. ไม่น่าจะทัน เพราะถ้าจะประชุมวันที่ 8 ก.ย. รัฐบาลต้องส่งเอกสารนโยบายรัฐบาลมายังรัฐสภา 4 ก.ย. เนื่องจากสภาต้องออกหนังสือนัดสมาชิกล่วงหน้า 5 วัน ดังนั้น เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะให้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลวันจันทร์ที่ 11 ก.ย. ที่ก็ต้องดูกันว่าจะมี สส.-สว.ขออภิปรายกันมากน้อยแค่ไหน แต่ดูแล้วอาจจะต้องใช้เวลาในการอภิปรายอย่างน้อยสองวัน และหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสิ้น ก็ถือว่า ครม.เศรษฐามีอำนาจครบถ้วนสมบูรณ์แล้วในการจะเข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน ที่ก็อาจทำให้มีการนัดประชุม ครม.ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนนี้
ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า มีการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการให้รัฐมนตรีทุกคนรอสแตนด์บายกระบวนการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และอาจจะมีการประชุม ครม.นัดแรกอย่างไม่เป็นทางการ 6 ก.ย. เพื่อหารือเรื่องกรอบนโยบายรัฐบาล ที่ห้อง 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
หลังที่ผ่านมา ทีมงานวิชาการของพรรคเพื่อไทยมีการซุ่มทำกรอบนโยบายรัฐบาลมาได้ร่วมสัปดาห์แล้ว หลังได้ข้อมูลต่างๆ จากตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ส่งไปให้อย่างไม่เป็นทางการ
พร้อมกับมีข่าวว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้เตรียมเสนอชื่อบุคคลให้มารับตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลไว้เกือบหมดแล้ว เช่น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ
โดยตำแหน่งการเมืองต่างๆ ข้างต้น คนที่จะมาเป็นต้องไม่เป็น สส. แต่หาก สส.คนใดจะมาเป็นก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง เช่นกระแสข่าวจะมี สส.บัญชีรายชื่อคนดังของเพื่อไทย ที่เป็นอดีตนักแสดงชื่อดังอย่าง ดนุพร ปุณณกันต์ มาเป็นโฆษกรัฐบาล แต่ก็มีข่าวว่าเจ้าตัวยังไม่ได้รับการทาบทาม และหากได้รับการทาบทามจริงก็อาจต้องตัดสินใจหนัก เพราะต้องลาออกจาก สส. เพราะตำแหน่งโฆษกรัฐบาลถูกเปลี่ยนตัวได้ง่าย หากทำงานกับทีมนายกฯ ไม่เข้าขา จนมีข่าวว่าจะมีชื่ออื่นๆ เข้ามาเป็นตัวเลือก ที่ก็มีบางชื่ออาจกำลังถูกพิจารณา เช่น ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เจ้าของโรงเรียนทิวไผ่งาม รักษาการกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย-อดีตรองโฆษกรัฐบาล แต่ก็ติดที่อายุเริ่มเยอะ อาจไม่คล่องตัว เลยทำให้ไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนายกฯ เศรษฐา ส่วนจักรพล ตั้งสุทธิธรรม อดีต สส.เชียงใหม่ เพื่อไทย ที่ระยะหลังเป็นเงาตามตัวเศรษฐา ดูแล้วก็น่าจะมีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลแน่นอน เป็นต้น
นอกจากนี้ข่าวบอกว่า แกนนำรัฐบาลเพื่อไทยได้แจ้งให้แต่ละรัฐมนตรีและแกนนำพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เตรียมรายชื่อที่จะแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งสำคัญๆ ไว้ได้เลย เช่น รองโฆษกรัฐบาลในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะมาจากสามพรรคหลักคือ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ รวมถึง ที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรี-กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ของแต่ละกระทรวง ซึ่งหากทุกอย่างพร้อม ทุกพรรคเคาะจบหมด ก็สามารถเสนอรายชื่อให้ ครม.พิจารณาแต่งตั้งในวันประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนัดแรกในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายนได้ทันที
สำหรับตำแหน่งการเมืองเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกอดีต สส.-อดีตผู้สมัคร สส.ที่สอบตก-คนใกล้ชิดแกนนำพรรค รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มที่สนับสนุนพรรค เช่น ตัวแทนกลุ่มทุนพรรคส่งคนมารับตำแหน่ง
บนความเคลื่อนไหวที่เริ่มมีให้เห็นว่าบางพรรคก็เริ่มวางตัวคนไว้แล้ว เช่น รวมไทยสร้างชาติ มีข่าวว่า รองโฆษกรัฐบาลในโควตารวมไทยสร้างชาติมีชื่อที่อาจอยู่ในข่ายพิจารณา เช่น เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.ที่สอบแตก และเป็นลูกสาวไตรรงค์ สุวรรณคีรี หรืออาจจะเป็นเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ รองโฆษกพรรคอีกคน ที่เคยเป็นอดีต สส.-อดีตโฆษกพรรครวมพลัง
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่เริ่มมีข่าวก็เช่น กระทรวงพลังงาน ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เริ่มมีกระแสข่าวว่า เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.ของพรรค ที่เคยเป็นอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส อาจมาเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน แต่ก็มีข่าวว่า มีชื่อแม่เลี้ยงติ๊ก ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู คอยสอดแทรก ส่วนเลขานุการ รมว.พลังงาน เริ่มมีชื่อของชื่นชอบ คงอุดม ลูกชัช เตาปูน ติดโผ เป็นต้น
หรือในส่วนของ พรรคประชาชาติ ที่หัวหน้าพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น รมว.ยุติธรรม ข่าวว่าน่าจะลงตัวแล้ว คือ ยู่สิน จินตภากร รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ จะมาเป็นเลขานุการ รมว.ยุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง), สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ และอดีตอัยการ จะมาเป็นที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และวรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรค อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
โดยรายชื่อ ครม.เศรษฐา 1 ทุกตำแหน่ง ไม่มีอะไรผิดคาด ทุกตำแหน่งเป็นไปตามข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ เพียงแต่ชื่อไม่ครบ 35 คน เพราะมีแค่ 33 คน
ซึ่งชื่อที่หายไปสองคน ในช่วงนาทีสุดท้าย คือ พิชิต ชื่นบาน โควตาเพื่อไทย-ตระกูลชินวัตร กับ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร โควตากลุ่มกำแพงเพชร-ธรรมนัส พรหมเผ่า
กรณีพิชิต ชื่นบาน ที่เดิมทีข่าวว่าจะไปเป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายกินแห้ว คาดการณ์กันว่าน่าจะมีสัญญาณจากแกนนำเพื่อไทย ที่ประเมินแล้วกระแสไม่ยอมรับในตัวพิชิต ทนายถุงขนม 2 ล้านบาทมีสูง ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์รัฐบาล จะทำให้เกิดภาพติดลบอย่างหนัก อีกทั้งอาจสุ่มเสี่ยงมีปัญหาข้อกฎหมาย ถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ในภายหลังหากผลักดันให้เป็นรัฐมนตรี เลยถอดชื่อออกในช่วงเย็นวันที่ 1 ก.ย. แต่เพื่อไม่ให้พิชิตเสียหน้า ก็ให้ พิชิตออกข่าวแบบเร่งด่วนว่าขอถอนตัว
ส่วน ไผ่ ลิกค์ ซึ่งเดิมทีติดโผเป็น รมช.พาณิชย์ แต่สุดท้ายข่าวว่ามีปัญหาเรื่องการส่งเอกสารตรวจสอบคุณสมบัติที่สำคัญบางอย่าง ชื่อเลยหลุดไปนาทีสุดท้าย แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าพลังประชารัฐส่งชื่อ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ไปแทนไผ่ ลิกค์ แต่สุดท้ายก็ไม่มี ทำให้พลังประชารัฐยังเหลือโควตารัฐมนตรีหนึ่งตำแหน่ง
เลยทำให้ ครม.เศรษฐาตั้งไม่ครบ 35 คน ขาดไปสองคน แต่ก็คาดว่าน่าจะมีการเสนอแต่งตั้งเติมเข้าไปภายหลังในอนาคตอันใกล้ หลังรัฐบาลเข้าไปทำงานสักระยะ
จุดที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ การทำงานของรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งมีเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้สำเร็จด้วยการ ข้ามขั้วการเมือง หลังสลัดออกจากพรรคก้าวไกล แล้วมาจับมือกับพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ จึงทำให้ต้นทุนการตั้งรัฐบาลในสายตาแฟนคลับ-กองเชียร์เพื่อไทยบางส่วนรู้สึกผิดหวังที่เพื่อไทยไม่รักษาจุดยืน-คำพูดที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่จับมือกับพรรคลุง
ผนวกกับยิ่งมาเกิดกรณี ทักษิณ ชินวัตร ที่เหลือโทษจำคุกแค่หนึ่งปี ก็ทำให้แวดวงการเมืองโยงไปถึงเรื่องดีลลับการเมืองมากขึ้นไปอีก แม้ฝ่ายแกนนำเพื่อไทยพยายามบอกว่า การเกิดขึ้นของรัฐบาลเพื่อไทยเป็นรัฐบาลพิเศษ เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ ก้าวข้ามความขัดแย้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเกิดขึ้นของรัฐบาลเศรษฐาย่อมอาจไม่มีช่วงฮันนีมูนพีเรียด เพราะเกิดขึ้นแบบติดลบ ค้านสายตาประชาชนบางกลุ่มพอสมควร
มันจึงเป็นงานหินของ เศรษฐา-เพื่อไทย ที่จะต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในเวลาอันรวดเร็วที่สุด เพื่อรักษาฐานเสียงของเพื่อไทยที่มีอยู่ที่ประมาณสิบล้านเสียงจากผลเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ให้ไหลไปที่พรรคก้าวไกล รวมถึงต้องพยายามเร่งสร้างผลงาน ออกนโยบาย เพื่อซื้อใจประชาชนกลุ่มฐานเสียงใหม่ๆ ด้วย เพื่อขยายฐานเสียงของเพื่อไทยออกไป
โดยวิธีการที่ทำแล้วได้ผลเร็วที่สุดก็คือ การทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่ต่ำลง มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
เลยไม่แปลกที่เศรษฐาประกาศประชุม ครม.นัดแรก จะผลักดันให้ต้นทุนค่าพลังงานถูกลง จนทำให้ราคาน้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม ลดราคาลงมา ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการเรียกคะแนนนิยมให้รัฐบาลในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงการประกาศเดือนตุลาคมจะมีการพักหนี้เกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเกษตรกร
และเมื่อทำเรื่องเหล่านี้ในช่วงแรกแล้ว จากนั้นคาดว่าเศรษฐา-เพื่อไทย ก็จะเริ่มค่อยๆ ทำนโยบายที่เพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นเดิมพันของเพื่อไทยเลยทีเดียว หลังประกาศไม่เกินสงกรานต์ 2567 เงินถึงประชาชนทั่วประเทศ
เพราะหากรัฐบาลเพื่อไทยทำไม่ได้ หรือทำแล้วมีปัญหามากมาย ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เลือกตั้งรอบหน้า เพื่อไทยก็จบเห่ แพ้ก้าวไกลไม่เห็นฝุ่น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9
เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
บิ๊กโตโยต้าเยือนไทยย้ำร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์
'บิ๊กโตโยต้าญี่ปุ่น' เยือนไทย ให้ความมั่นใจ นายกฯขอยืนหยัดร่วมกับไทยส่งเสริมอุตสาหกรรม ยานยนต์รูปแบบใหม่ต่อไปย้ำ คุณภาพรถยนต์ผลิตในไทยมาตรฐานเดียวกันกับญี่ปุ่น