หลังการประกาศลาออกจาก หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่างเป็นทางการของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เมื่อเย็นวันพุธที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทำตามที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า หากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ-ไปดีลกับลุงป้อม พลเอกประวิตรจะลาออกจากหัวหน้าพรรค
อย่างไรก็ตาม แม้ นพ.ชลน่าน-ว่าที่ รมว.สาธารณสุข จะไม่ปฏิเสธ หลังถูกสื่อถามถึงว่า หากมีสมาชิกพรรคเสนอชื่อให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง จะรับหรือไม่ โดยตอบว่า ต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วน
กระนั้นถ้าดูตามรูปเกม หาก นพ.ชลน่านจะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอีกรอบ ในทางการเมืองน่าจะเสียมากกว่าได้ เพราะคงไม่พ้นโดนด่าขรมว่า เล่นปาหี่การเมือง ชักเข้าชักออก ภาพลักษณ์หมอชลน่านและเพื่อไทยจะยิ่งทรุดหนักลงไปอีก
สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ ในช่วงเวลาต่อจากนี้ ที่เพื่อไทยมีเวลา 60 วันในการจัดประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ก็ต้องดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลคนใหม่?
ที่พบว่า ขณะนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนได้เริ่มถูกจับตามองทันทีว่า อาจจะเป็นคนที่ ทักษิณ ชินวัตร-ตระกูลชินวัตร เลือกมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่แทน นพ.ชลน่าน
ไม่ว่าจะเป็น เช่น ชัยเกษม นิติสิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไทย-ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่มีดีกรีเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมถึงตอนเลือกตั้งปี 2562 ด้วย
การมีชื่อติดแคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 2 รอบของชัยเกษม แสดงให้เห็นถึงการเป็น สายตรงจันทร์ส่องหล้า ที่คนเพื่อไทยรับรู้กันได้เป็นอย่างดี ขณะที่โปรไฟล์การทำงานก็ไม่ธรรมดา เพราะเป็นทั้งอดีตอัยการสูงสุด-อดีต รมว.ยุติธรรม ผนวกกับการที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล ก็จะทำให้สามารถเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ติดปัญหาตรงที่อายุมาก แม้สุขภาพร่างกายที่เคยเจ็บป่วยจะหายดีแล้วก็ตาม ตรงนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนในพรรคไม่ยอมรับ รวมถึงเจ้าตัวก็อาจไม่อยากเป็นด้วย เพราะการเป็นหัวหน้าพรรคต้องทำงานคลุกคลีกับนักการเมืองจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ตรงกับบุคลิกของชัยเกษม เว้นแต่ถูกร้องขอให้เป็นหัวหน้าพรรคขัดตาทัพไปก่อน แต่หากสถานการณ์วันข้างหน้าเปลี่ยน เช่น มีการเลือกตั้งใหญ่ ค่อยปรับทัพอีกรอบ
นอกจากนี้ก็ยังมีชื่อที่ถูกคาดหมายอีกหลายชื่อ เช่น ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ-ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ที่ตอนนี้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และก่อนหน้านี้ชื่อหลุดโผ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีในวันสุดท้าย หลังถูกพิชิต ชื่นบาน เบียดในนาทีสุดท้าย ชนิดคนในพรรคเพื่อไทยร้องเสียงดังระงมไม่เห็นด้วย ที่คนซึ่งทำงานให้พรรคมาตลอดอย่างชูศักดิ์ สุดท้ายกลับไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะไม่ใช่สายตรงตระกูลชินวัตร
ขณะเดียวกันก็มีบางชื่อที่คนในพรรคเพื่อไทยออกมาส่งเสียงเชียร์ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ อย่าง อดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย-ว่าที่ประธานวิปรัฐบาล ที่ออกมาสนับสนุน กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง แม้กิตติรัตน์ไม่ได้เป็น ส.ส. รวมถึงเชียร์ นพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่เป็นสายตรงของทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตัวนพดลก็ติดปัญหาที่เป็นคนไม่มีเพาเวอร์ในพรรค จึงทำให้ขาดลมใต้ปีกที่จะสนับสนุนให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เว้นแต่ถูกเคาะชื่อมาจากทักษิณ
นอกจากนี้ก็มีข่าวว่า อาจจะมีรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทยบางคนกลายเป็นตัวเลือกที่อาจถูกผลักดันขึ้นมาก็ได้ เช่น ปานปรีย์ พหิทธานุกร ว่าที่รองนายกฯ ควบ รมว.ต่างประเทศ สายตรงจันทร์ส่องหล้า ซึ่งชื่อนี้มักติดโผทุกครั้งเวลามีการจัดทัพการเมืองในส่วนของเพื่อไทย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาหลายครั้งแล้ว รวมถึงเป็นชื่อแรกๆ ที่ทักษิณทาบทามให้มาเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นพรรคสาขาของเพื่อไทยตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่โดนยุบพรรคไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ปานปีย์นั่งควบรองนายกฯ-รมว.ต่างประเทศ คงทำให้ไม่น่าจะสะดวกที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่
ขณะที่ข่าวอีกกระแสก็บอกว่า ไม่แน่อาจจะมีการผลักดัน คนรุ่นใหม่-คนนอก ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เพื่อไทยรอบนี้ ให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ก็ได้
ท่ามกลางข่าวว่า สูตรนี้หากเกิดขึ้น จะเป็นสูตรที่ได้รับการผลักดันจาก อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการรีแบนด์พรรค ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องไปรอถึงการเลือกตั้ง หลังอุ๊งอิ๊งเห็นกระแส-ความสำเร็จของก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาแล้ว จึงทำให้กลุ่มยังบลัดในเพื่อไทยสายอุ๊งอิ๊ง ต้องการเห็นเพื่อไทยได้หัวหน้าพรรคที่ ใหม่-สด กว่าหลายชื่อที่คนเริ่มคาดการณ์
เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมา จนทำให้เพื่อไทยต้องรอจนพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ถึงมารับไม้ต่อ และต้องการเป็นพรรคการเมืองที่ ตระบัดสัตย์-พลิกลิ้น ด้วยการจับมือตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ จนทำให้ นพ.ชลน่านต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่มันก็ไม่สามารถพลิกฟื้นเรียกศรัทธา แฟนคลับพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้ ที่รับไม่ได้กับการที่เพื่อไทยไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนกับพรรคก้าวไกล จนทำให้แฟนคลับเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยประกาศชัดว่า เลือกตั้งรอบหน้า เปลี่ยนเสื้อจากสีแดงเป็นสีส้ม-เลิกหนุนเพื่อไทย
ดังนั้นการบ้านใหญ่ของทักษิณ-เพื่อไทยก็คือ การต้องวางแผนการเมืองตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อรักษาฐานเสียงเดิม 10 กว่าล้านเสียงตอนเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด และต้องพยายามสร้างฐานเสียงใหม่ๆ ด้วยการทำให้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีผลงานจับต้องได้มากที่สุด
ที่หากรัฐบาลเศรษฐาทำได้ ก็อาจช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ทำให้ประชาชน แฟนคลับเพื่อไทยอาจยอมให้อภัยตอนเลือกตั้งรอบหน้า และจะได้แฟนคลับรุ่นใหม่ๆ เข้ามา
หมากการเมืองหมากแรกๆ หลังจากนี้ของทักษิณ-เพื่อไทย ก็คือ การต้อง ดิสรัปชันตัวเอง-รีแบนด์พรรคใหม่ เพื่อวางเกมยาวสู้กับ พรรคก้าวไกล หลังการเมืองตอนนี้เห็นชัดเจนว่า การเมืองจะเป็นการแข่งกันระหว่าง 2 พรรคคือ เพื่อไทยกับก้าวไกล ส่วนพรรคอื่นๆ เป็นแค่ส่วนประกอบในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งรอบหน้าเท่านั้น
โดยหากจับท่าทีของทักษิณ ชินวัตร ในเรื่องการปรับทัพพรรคเพื่อไทย ก็เห็นชัดเจนว่า ทักษิณยอมรับว่า สาเหตุที่เพื่อไทยแพ้เลือกตั้ง ก็เพราะปรับตัวไม่ทันกับบริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทักษิณจึงเห็นว่า เพื่อไทยจำเป็นต้องดิสรัปฯ ตัวเองเพื่อให้สู้กับก้าวไกลได้
อันเป็นท่าทีซึ่งทักษิณส่งสัญญาณมาไว้ตั้งแต่หลังแพ้เลือกตั้ง 3 วัน โดยพูดในรายการ "CARE คิด เคลื่อน ไทย" หัวข้อ อนาคตเมืองไทยจะเป็นอย่างไรหลังเลือกตั้ง? เมื่อ 16 พ.ค.2566 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ดิสรัปชันของพรรคเพื่อไทย เรียกว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงของเดิมให้ทันสมัยขึ้น แต่ปรากฏว่าเพื่อไทยทำได้ไม่ดีพอ เพราะว่าก้าวไกลเหมือนบริษัทเอสเอมอีรายเล็กที่สร้างสินค้าขึ้นมาใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเนี้ยบอะไรมาก แค่เอาใจให้กลุ่มลูกค้าแบบตรงเป้า หยาบหน่อย ลุยหน่อย ไม่เป็นไร เพราะลูกค้าถูกใจ เปรียบได้ว่าเป็นเอสเอมอีที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ เจ๊งไปหลายราย
“พรรคเพื่อไทยต้องปรับกระบวนการใหม่ เราต้องทำให้เหมือนก้าวไกล พรรคเก่าคนเก่าไม่เข้าใจ พรรคเก่าคนใหม่ก็ยังไม่เข้าใจ แม้เพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่มา 20 กว่าปี ก็คงต้องทำดิสรัปชัน เพื่อไทยต้อง learn from mistake เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา..เราต้องเปลี่ยนแท็กติกใหม่ ฝึกฝนใหม่ ถึงจะชนะคู่แข่ง”
น่าติดตามว่า ทักษิณ-เพื่อไทยจะกล้าเขย่าพรรคครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะมีขึ้นต่อจากนี้หรือไม่ หรือจะรอไปถึงตอนเลือกตั้งค่อยปรับทัพ?
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทยจะพยายามรีแบนด์พรรคอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าก็คงยากที่จะทำให้ภาพความเป็น พรรคชินวัตร หายไปจากความรู้สึกของประชาชนได้ เพราะข้อเท็จจริงทางการเมืองทั้งหมดที่เห็นตอนนี้ในการตั้งรัฐบาล มันประจักษ์ชัดในสายตาประชาชนทั้งประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
กสม. ประณาม 'ทักษิณ' ปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน ย้ำไทยอยู่ภายใต้ CERD
กสม.ซัด 'ทักษิณ' จ้อเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน อบรมคนมีอิทธิพลทางสังคมไม่ควรทำ หวั่นโดนขยายความรุนแรง ซ้ำรอยความสูญเสียในอดีต
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
นายกฯ ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูน ตรวจอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ผลงานยุคทักษิณ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แวะจังหวัดพังงา ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ที่หาดบางขวัญ ตำบลโคกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งในพื้นที่นี้ยังมีพะยูนอยู่โดยมีชื่อว่า
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร