ก่อนโผสุดท้าย นายสุทิน คลังแสง ขึ้นนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือนามเรียกขานสนามไชย 1 ก็มีรายชื่ออดีตทหารที่มาเป็นแคนดิเดตหลายคนเข้ามาอยู่ในโผ ทั้งสาย 2 ลุง คือ พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรอง ผบ.ทบ. ซึ่งก็มีความใกล้ชิดกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร แถมเป็นน้องรักก้นกุฏิของ ลุงป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตีคู่มากับ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เตรียมทหารรุ่น 20 เพื่อนร่วมรุ่นของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ และยังเป็นนายทหารยุทธการที่ทำงานคู่กับ ลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงถือเป็นมือทำงานชั้นเซียน ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหลายภารกิจ มาตลอดการทำงานของรัฐบาลลุงตู่
ต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการจัดตั้งรัฐบาล มีความเคลื่อนไหวของอดีตทหารเกษียณหลายคนที่มีสายสัมพันธ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับทักษิณ ต่อสายแสดงตนต้องการทำงานในตำแหน่งในสายงานด้านความมั่นคง เพราะเชื่อว่านักการเมืองสายพลเรือนคงยากจะเข้ามาบริหารงานในกระทรวงนี้ ส่งผลให้แรงกระเพื่อมในการชิงเก้าอี้ระหว่างทหารแก่ด้วยกันเองแรงพอสมควร
รายชื่อแรกที่จะถูกโยนเข้ามาคือ พลเอกวิชญ์ แต่ถูกคณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลปัดตก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในโควตาของพรรคพลังประชารัฐ จากการยืนยันจากแกนนำหลักอย่าง พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เจรจาขอโควตาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น
พร้อมกับมีข่าวที่ยืนยันได้ว่า พลตำรวจเอกพัชรวาทต้องการนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม คุมทหารเอง แทนที่พลเอกประวิตร ผู้เป็นพี่ชาย หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ริบเก้าอี้ รมว.กลาโหม และประธาน ก.ตร.จากพลเอกประวิตรไปช่วงกลางๆ รัฐบาล เพราะหลังจากนั้น “ตั๋ว” ที่ออกจากบ้านป่ารอยต่อฯ ไม่ไหลลื่นเหมือนช่วงที่พลเอกประวิตรคุมทหาร-ตำรวจเบ็ดเสร็จ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพลเอกประยุทธ์ที่ยังต้องการให้กองทัพมีพี่เลี้ยงในการดูแลบริหารราชการในส่วนของกระทรวงกลาโหม และไม่ต้องการให้ตำรวจ-ทหารตกอยู่ในมือของพลตำรวจเอกพัชรวาท และ ร.อ.ธรรมนัส จึงได้ส่งชื่อ พลเอกณัฐพลให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาหลังจากที่มาขอคำปรึกษาที่ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้นไม่นานจึงเริ่มมีกระแสโจมตีอย่างมีนัยพุ่งตรงไปที่พลเอกณัฐพล ว่าเข้าไปมีส่วนปราบปรามเสื้อแดง โดยภายนอกมองว่าเป็นการปล่อยมาจากพรรคเพื่อไทย ที่กลุ่มการเมืองสูญเสียโควตาของพรรคไปให้ทหารอย่างเสียเปล่า แต่อีกกระแสหนึ่งกลับพุ่งตรงไปที่ศูนย์กลางอำนาจใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ ที่โต้กลับเกมของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งวางหมากให้พลเอกณัฐพลมานั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม เพื่อตีกันพลตำรวจเอกพัชรวาท ส่งผลให้ในที่สุดชื่อของพลเอกณัฐพลถูกเปลี่ยนก่อนส่งโผไม่นาน
ตามมาด้วยการปล่อยเอกสารตั้งคำถามเรื่องขาดคุณสมบัติรัฐมนตรีของพลตำรวจเอกพัชรวาท ก่อนทีมงานของพลตำรวจเอกพัชรวาทต้องแจงข้อมูลผ่านตัวแทนยืนยันถึงการเพิกถอนคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งไม่มีผลให้ตนเองขาดคุณสมบัติของตนแต่อย่างไร
ศึก “น้องในไส้” กับ “น้องรักในชีวิตรับราชการ” ของพลเอกประวิตร แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความขัดแย้งที่ยากจะสมานเยียวยากันได้ และเป็นปัญหาหนักอกยิ่งกว่าเรื่องสลายสีเสื้อ และข่าวการเมืองในอดีตเสียอีก นอกจากนั้นยังกลายเป็นมหากาพย์ภาคต่อที่ยังสอดแทรกไปทุกองคาพยพอำนาจรัฐอย่างไม่จบไม่สิ้น
และนั่นอาจเป็นส่วนที่ทำให้ “นายใหญ่” ปล่อยให้คณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลพิจารณาโควตาตามตัวเลขคณิตศาสตร์ของจำนวน ส.ส.ไปก่อน โดยไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในตำแหน่งที่ไม่ใช่ไฮไลต์ทางการเมืองตอนนี้
ทำให้ชื่อ นายสุทิน คลังแสง กลับมานั่งตำแหน่งนี้ในโผ ครม.รอบสุดท้าย ตอบโจทย์การบริหารโควตา แบ่งสรรปันส่วนให้กับทุกกลุ่มเพื่อเป็นการตอบแทนให้จบรอบแรกในรัฐบาล เศรษฐา 1 ไปก่อน
เพราะมีการมองกันว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อาจเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และนายสุทินก็เหมือนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมขัดตาทัพเท่านั้น ก่อนที่จะมี รมว.กลาโหมตัวจริงมานั่งทำหน้าที่ในรอบต่อไป หากสายอำนาจเก่าเคลียร์กันให้จบ
อีกทั้งในมุมมองของพรรคเพื่อไทยมีการมองว่าตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในยุคนี้ไม่ได้มีความสำคัญเหมือนยุคก่อนที่ต้องกุมสภาพไว้เพื่อป้องกันการ “ปฏิวัติรัฐประหาร” เพราะการวางโครงสร้างกองทัพอย่างเหนียวแน่น และเหล่าทัพมีกฎหมายของทหารที่ควบคุมการบริหารงานอยู่ รัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ยิ่งกองทัพบกมีบางหน่วยอยู่ในสถานะของหน่วยรักษาพระองค์ ก็ไม่มีใครอยากล้วง หรือแตะให้เดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องการเลื่อนยศ ปลด ย้าย
ไม่เหมือนช่วงยุคที่ ตท.10 เรืองอำนาจในรัฐบาลทักษิณ หรือ บูรพาพยัคฆ์ สยายปีกยุค “ลุงป้อม” คุมกลาโหม ที่การเมืองเข้ามาวางตัวบุคคล หรือกำหนดแนวทางในเรื่องการจัดหายุทโธกรณ์ได้อย่างชัดแจ้ง
และถ้าในที่สุดชื่อของสุทินได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมา เจ้าตัวก็ต้องมีทีมงานในการเข้ามาให้คำปรึกษา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สมาชิกพรรคเพื่อไทย และเป็น ตท.9 รุ่นพี่ปกครอง ที่ทักษิณไว้ใจที่สุด ซึ่งได้ข่าวว่ามีการฟอร์มทีมในการทำงานในด้านความมั่นคงไว้บ้างแล้ว
ไม่เท่านั้น เพื่อไทยยังมีทหารฝีมือดีอย่าง “ปู่แป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นทีมงานผู้ว่าฯ กทม.ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปัจจุบันยังเขียนงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการทหารอยู่ในหลายสื่อ ล่าสุดโพสต์ผลงานในการเจรจายุติการหยุดยิงที่เขาพระวิหาร ในการต่อสายตรงกับ ฮุน มาเน็ต ว่าที่นายกฯ และผู้นำทางทหารในช่วงนั้น รวมไปถึง พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมช.กลาโหม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายตรงของ “ทักษิณ” ในอดีต
ทีมงานทางทหารจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ รมว.กลาโหมยังต้องทำหน้าที่ในตำแหน่งของประธานสภากลาโหม ประธานคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล ประธานสภาองค์การทหารผ่านศึกอีกด้วย
หวยจึงออกที่ชื่อสุทิน นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม เพื่อพรางไปก่อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
พ่อบงการ ลูกตามสั่ง
“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.
ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด