ว่าที่ รมต.ป้ายแดง-เศรษฐา 1 รอผงาด "ได้ดี เพราะพี่ดัน"

คาดหมายกันทางการเมืองว่า ต้นสัปดาห์นี้ ทาง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะนำรายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีใน รัฐบาลเศรษฐา 1 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และคงไม่เกินปลายสัปดาห์นี้ก็คงมีการประกาศรายชื่อ ครม.ออกมาอย่างเป็นทางการ และเตรียมขั้นตอนการรอเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้าทำหน้าที่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเศรษฐาก็ยังไม่สามารถทำงานอะไรได้ เพราะต้องรอให้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเสร็จสิ้นเสียก่อน

โดยถึงขณะนี้ โผรายชื่อ ครม.พบว่าส่วนใหญ่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ค่อนข้างนิ่งแล้ว กระนั้นก็ยังอาจมีการปรับเปลี่ยนกันได้อีกในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่เชื่อว่าจะจบภายในวันจันทร์ที่ 28 ส.ค.นี้

ในส่วนพรรคเพื่อไทย ที่ข่าวว่าพลิกไปพลิกมาหลายตลบ เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก ทั้งชื่อและกระทรวง แต่ล่าสุดตำแหน่งหลักๆ น่าจะลงตัวหมดแล้ว เช่น เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ควบ รมว.คลัง, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ควบ รมว.พาณิชย์ ส่วน ท็อป-วราวุธ  ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา หลุดไปเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ขณะที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แบเบอร์ในเก้าอี้ รมว.คมนาคม, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังอยู่ที่เดิม รมว.สาธารณสุข หลังก่อนหน้านี้เคยเป็น รมช.สาธารณสุขมาแล้ว ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ยังเป็นชื่อเดิม ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

แต่ที่มีการปรับรอบล่าสุดคือ สุทิน คลังแสง อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน กระทรวงที่จะเป็นเสนาบดีค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จากเดิมว่า เป็น รมว.ศึกษาธิการ ล่าสุดไปอยู่ รมว.วัฒนธรรม หลังข่าวว่าเพื่อไทยให้กระทรวงศึกษาธิการกับภูมิใจไทย และเนวิน ชิดชอบ ดันน้องชาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็น รมว.ศึกษาธิการ จากตอนแรกโผเดิมเป็น รมว.แรงงาน และที่ฮือฮาไม่น้อยก็คือ เพื่อไทยดันปานปรีย์ พหิทธานุกร หลานเขยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ หนึ่งในทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย สายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า จากเดิมเป็นแค่รองนายกฯ ตอนนี้ข่าวว่าผงาดได้ควบรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและ รมว.ต่างประเทศ และสลับให้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่เดิมถูกวางไว้เป็น รมว.การต่างประเทศ ขยับไปเป็น รมช.คลัง

นอกจากนี้ก็ยังมีการขยับ เกรียง กัลป์ตินันท์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม สส.อีสาน ที่เดิมมีข่าวว่าจะเป็น รมช.มหาดไทย แต่ตอนหลังข่าวว่าหลุด เพราะโดน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เสียบแทน แต่ล่าสุดมีชื่อเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ หลังลือกันว่ากลุ่ม สส.อีสานสายเกรียงไม่พอใจ หากเกรียงหลุดโผ ครม.

สำหรับพรรคอื่นๆ ส่วนใหญ่นิ่งหมดแล้ว เช่น ภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ควบ รมว.มหาดไทย, พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็น รมว.แรงงาน, ทรงศักดิ์ ทองศรี เป็น รมว.การอุดมศึกษาฯ, ชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็น รมช.มหาดไทย, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล โควตากลุ่มอยุธยาฯ รมช.ศึกษาธิการ, นภินทร ศรีสรรพางค์ อดีต สว.ราชบุรี เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์, ศุภมาส อิศรภักดี นั่ง  รมช.พาณิชย์

หรือ รวมไทยสร้างชาติ ที่ลงล็อกหมดแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน, ม.ล.ชโยทิต กฤดากร อดีตผู้แทนการค้าไทย หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค เป็น รมว.อุตสาหกรรม, อนุชา นาคาศัย เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์, สุพล จุลใส สส.ชุมพร โควตากลุ่มชุมพรและภาคใต้ เป็น รมช.มหาดไทย เช่นเดียวกับ พลังประชารัฐ ก็นิ่งหมดแล้วเช่นกัน และกำลังเข้าสู่ยุค พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งไม้ต่อให้น้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หลังดันน้องชายนั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค และตามด้วยรองนายกฯ ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ

สำหรับรายชื่อ ครม.เศรษฐา 1 พบว่าส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของเพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน และหลายคนก็เป็น สส.มาหลายสมัย แต่ในส่วนของ รัฐมนตรีป้ายแดง ที่จะได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิตในรอบนี้ ก็มีหลายคนที่น่าสนใจ โดยบางคนก็เพิ่งเล่นการเมืองในการเลือกตั้งรอบนี้ และบางคนก็อยู่หลังฉากทางการเมืองมานาน และพอเปิดตัวเข้ามาก็สามารถมีตำแหน่งใหญ่ได้ทันที

เคสการเมืองลักษณะข้างต้น คนที่เห็นชัดมากสุดก็คือ บิ๊กป๊อด-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่กำลังจะมีตำแหน่งเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ

คาดหมายกันว่า ภายในไม่เกินวันอังคารนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทน่าจะยื่น "ใบลาออก" จากการเป็นบอร์ดใน 2 บริษัทใหญ่ในเครือซีพีของเจ้าสัวแสนล้าน ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

หลังที่ผ่านมา พล.ต.อ.พัชรวาทนั่งเป็นบอร์ดเครือซีพี 2 บริษัทมาหลายปี คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่แสดงให้เห็นถึงคอนเน็กชันที่ไม่ธรรมดาของ พล.ต.อ.พัชรวาท กับกลุ่มทุนใหญ่ทางธุรกิจในประเทศไทย

ก็น่าติดตามว่า เส้นทางการเมืองของ พล.ต.อ.พัชรวาท อดีต ผบ.ตร. คีย์แมนตัวจริงเสียงจริงของป่ารอยต่อฯ ซึ่งอยู่หลังฉากทางการเมืองให้กับพลเอกประวิตร-พลังประชารัฐและป่ารอยต่อฯ มาตลอดในช่วงยุค คสช.และรัฐบาลบิ๊กตู่ร่วม 9 ปีเต็ม เมื่อวันนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทเปิดตัวมาเล่นการเมืองเต็มตัวแบบนี้แล้ว และมีแนวโน้มที่จะต้องรับไม้ต่อ บริหารงาน-คุมพรรคพลังประชารัฐต่อจากพี่ชาย จะนำพาพรรคพลังประชารัฐไปถึงการเลือกตั้งรอบหน้าได้หรือไม่ หลังเลือกตั้งที่ผ่านมาล่าสุด พลังประชารัฐไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ส่วนว่าที่รัฐมนตรีอีกคนที่รอผงาด ด้วยสูตร ได้ดีเพราะพี่ดัน อีกทั้งยังเป็นอดีตตำรวจยศ พล.ต.อ.เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท นั่นก็คือ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เรียกได้ว่าเส้นทางการเติบโตในชีวิตราชการ จนได้ติดยศ พล.ต.อ.ก่อนเกษียณ และกำลังจะได้เป็นรัฐมนตรี ทั้งหมดได้ดีเพราะพี่ดันจริงๆ

เพราะด้วยความเป็นน้องชายเนวิน ชิดชอบ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย เลยทำให้ได้รับการสนับสนุนให้เติบโตในชีวิตราชการตำรวจและในทางการเมือง จนกำลังจะเป็นรัฐมนตรีป้ายแดงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สมัยรับราชการตำรวจ พล.ต.อ.เพิ่มพูน หรือบิ๊กอุ้ม เคยโดนสังคมวิจารณ์กดดันอย่างหนัก เพราะในสมัยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ​ด้านกฎหมายและคดี ที่เป็นคนลงนามแทน ผบ.ตร.สั่งไม่ฟ้อง-ยุติคดี วรยุทธ​ หรือบอส​ อยู่วิทยา​ ที่ขับรถชน​ ด.ต.วิเชียร​ กลั่นประเสริฐ​ เสียชีวิต จนทำให้คดียุติลงทันที จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการสั่งคดีของตำรวจและอัยการในช่วงนั้น

ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สั่งให้ สตช.ตั้งกรรมการสอบการสั่งคดีดังกล่าว และต่อมาก็มีการตั้งกรรมการสอบนายตำรวจที่เกี่ยวข้องร่วม 16 นาย ที่รวมถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูนด้วย

อย่างไรก็ดี สุดท้ายปรากฏว่าทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูนไม่มีความบกพร่องในการสั่งคดีโดยไม่แย้งความเห็นอัยการ​ เนื่องจากการพิจารณาจะต้องพิจารณาตามข้อมูลและหลักฐานภายในสำนวนตามที่อัยการส่งมาเท่านั้น ไม่สามารถนำหลักฐานใหม่มาพิจารณาได้ และการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายแต่ละชั้นก่อนประมวลเรื่องถึง พล.ต.ท.เพิ่มพูน​ ก็ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งแต่อย่างใด พล.ต.ท.เพิ่มพูนจึงมีความเห็นทางคดีพ้องตามอัยการ

สำหรับเส้นทางชีวิตของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน พบว่า ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเริ่มรับราชการตำรวจ ตั้งแต่ปี 2527 ที่สำนักงานเลขานุการ กรมตำรวจ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น เป็น ผบก.กองตรวจราชการ 2 จต. (จเรตำรวจ) ผบก.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กทม. แต่แน่นอนว่าด้วยความเป็นน้องเนวิน ทำให้ จังหวะชีวิตรับราชการตำรวจ พอการเมืองเปลี่ยนขั้วก็โดนสกัดเหมือนกัน เพราะหลังเติบโตแบบรวดเร็วในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พอการเมืองเปลี่ยนขั้วมาเป็นรัฐบาลเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัว พล.ต.อ.เพิ่มพูนก็โดนดอง ถูกย้ายเข้ากรุจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไปนั่งตบยุงเป็นฝ่ายอำนวยการจเรตำรวจ

แต่ครั้นการเมืองเปลี่ยนขั้วมาเป็นยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตัว พล.ต.อ.เพิ่มพูนก็กลับมาเติบโตอย่างพรวดพราด เช่นขึ้นเป็นจเรตำรวจ (สบ 8) แล้วก็ขยับมาเป็น ผช.ผบ.ตร. จนสุดท้ายได้ยศ พล.ต.อ.ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สตช. ก่อนเกษียณอายุราชการในปี 2564

เส้นทางการเมืองของ 2 อดีตบิ๊กตำรวจยศ พล.ต.อ.ด้วยกันทั้งคู่ พล.ต.อ.พัชรวาท-พล.ต.อ.เพิ่มพูน ที่กำลังรอผงาด หลังเข้าไลน์แผงอำนาจการเมือง เพราะ พี่ชายดันหลัง-แบ็กอัพ ให้ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็รอดูการประกาศรายชื่อ ครม.ที่จะออกมา และการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะทำได้ดี หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

อยู่เหนือการควบคุม พท.โยนบาปปมแก้ ‘รธน.’ ‘แม้ว-เนวิน’ คุมการเมือง

"พท." เล็งยื่นร่าง กม.นิรโทษกรรมเดือน ธ.ค.นี้ ยันไม่ล้างผิด ม.112-คดีทุจริต "นพดล" รับ กม.ประชามติงานยาก ต้องโน้มน้าว สว.เห็นตามเกณฑ์ชั้นเดียว แย้มใช้เกณฑ์ 20%

'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ