เรียกได้ว่าลงตัวแล้วสำหรับ โผ ครม. เศรษฐา 1 ที่หน้าฉากมีทีมงานของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเจรจาจัดตัวบุคคล แต่หลังฉากก่อนได้ข้อสรุปในทุกเก้าอี้ ต้องใช้บริการชี้ขาดจากนายใหญ่เหมือนเช่นในอดีต
ที่ชัดเจนคือเรื่องไทม์ไลน์ โดยสัปดาห์หน้า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จะส่งรายชื่อรัฐมนตรีมาตรวจคุณสมบัติที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หากไม่มีปัญหาก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นเป็นขั้นตอนของการถวายสัตย์ปฏิญาณตน
จึงคาดว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีกว่าจะได้รายชื่อน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคงต้องใช้เวลาตรวจสอบประวัติอีก 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวายสัตย์ฯ อีก 1 สัปดาห์ รวมเป็น 3 สัปดาห์ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คำนวณไว้คร่าวๆ
จากนั้นต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันหลังการถวายสัตย์ฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมระยะเวลาตามกระบวนการทั้งหมดน่าจะเริ่มทำงานได้อย่างเร็วสุดประมาณกลางเดือนกันยายน หรือช้าสุดประมาณปลายเดือนกันยายน
สำหรับการจัดทัพ ครม.ชุดใหม่ นายกฯ ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเลือก รมต. เพราะต้องให้เอกสิทธิ์พรรคร่วมที่เข้ามาเกื้อหนุนโหวตนายกฯ แต่การเจรจาและแลกเปลี่ยนทั้งหน้าฉากและหลังฉาก พรรคเพื่อไทยยังพอรักษา “คลัสเตอร์” กระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่เชื่อว่าจะฟื้นกระแสความนิยมให้กับพรรคเพื่อไทยที่ตกต่ำไปจากการยอมจับมือกับพรรคขั้วลุงในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้
สำหรับ “โผ ครม.” ที่ปิดบัญชีเกือบจะเรียบร้อย ประกอบด้วย ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง นายเศรษฐาจะนั่งนายกฯ ควบ รมว.การคลัง, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค รมว.สาธารณสุข, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ รมว.คมนาคม, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ รมว.การต่างประเทศ, นายสุทิน คลังแสง รมว.ศึกษาธิการ, น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล สส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ รมต.สำนักนายกฯ เป็นต้น
ส่วนในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงนั้น เริ่มมีความชัดเจนแล้วในบางกระทรวง อาทิ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี ได้ รมช.คมนาคม เป็นโควตาของ จ.กาญจนบุรี ที่ได้ สส.ถึง 5 คน, นางมนพร เจริญศรี สส.นครพนม ได้ รมช.คมนาคม หลังจากชวดเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ รมช.การคลัง, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช แกนนำพรรค จะได้กลับมารับตำแหน่งเดิมในเก้าอี้ รมช.มหาดไทย นอกจากนี้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานด้านนโยบายพรรค พท. จะได้เก้าอี้เลขาธิการนายกฯ ด้วย
ด้านโควตารัฐมนตรี ในส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ได้สูตร 4+4 นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค จะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็น รมว.ศึกษาธิการ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ นั่ง รมว.แรงงาน และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมว.การอุดมศึกษาฯ ในส่วนตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการนั้น นายชาดา ไทยเศรษฐ์ (อุทัยธานี) จะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล (พระนครศรีอยุธยา) เป็น รมช.ศึกษาธิการ, นายนภินทร ศรีสรรพางค์ (ราชบุรี) รมช.เกษตรฯ และนางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็น รมช.พาณิชย์
สำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในส่วนของกระทรวงหลักยังคงเป็นตามโผเดิมคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค นั่งรองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรค เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ แม้จะมีกระแสข่าวมีความพยายามจะเอา รมว.แรงงานมาแลกก็ตาม ขณะที่เก้าอี้ รมช. 2 ตำแหน่ง ล่าสุดมีการสลับกระทรวง โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค จะไปเป็น รมช.สาธารณสุข ส่วนนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรค มีชื่อไปเป็น รมช.การคลัง
ส่วนโควตารัฐมนตรี ในส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ 2 เก้าอี้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 เก้าอี้นั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค จะนั่งรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน, ม.ล.ชโยทิต กฤดากร สส.บัญชีรายชื่อ มีชื่อนั่งเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม, นายสุพล จุลใส สส.ชุมพร มีชื่อนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทย และนายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท นั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์
ส่วนตำแหน่ง รมว.กลาโหม ที่ถูกจัดว่าเป็นโควตาพรรคเพื่อไทย โดยมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้คุยกับนายเศรษฐาในเรื่องดังกล่าว อธิบายเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานกระทรวงกลาโหม และพร้อมให้นายเศรษฐาไปตัดสินใจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ในฐานะนายกฯ และนั่งเป็นประธาน ก.ตร. หรือมอบหมาย
เมื่อดูตัวบุคคลที่นั่งเก้าอี้ รมต.ในรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็น รมต.หน้าเก่าที่เคยมีอำนาจในยุค ครม.ลุงตู่มาก่อน เพราะองค์ประกอบของรัฐบาลก็มาจากขั้วรัฐบาลเดิม ส่วนการคัดเลือกรัฐมนตรีของเพื่อไทยส่วนใหญ่กระจายไปตาม 1.โควตาแกนนำ กรรมการบริหารพรรค 2.โควตากลุ่ม สส.อีสาน เหนือ ให้ส่งตัวแทนมา 3.โควตานายทุน 4.โควตาคนนอก โดยทั้งหมดต้องผ่านความเห็นชอบจาก “นายใหญ่” เป็นหลัก
จากสภาพการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ที่มีการจัดสรรกระทรวง แบ่งสันปันส่วนตามตัวเลขคณิตศาสตร์ โดยที่พรรคเพื่อไทยเองต้องคุมสภาพไม่ให้เสียดุลในการบริหารกระทรวงที่จะผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เคยหาเสียงไว้มากเกินไป
และไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่ได้มีต้นทุนบารมีทางการเมืองเท่าใดนัก และยังต้องอยู่ในร่มเงาของตระกูล “ชินวัตร” จะสามารถตัดสินใจอะไรได้เอง
ทั้งที่โจทย์ใหญ่ของ “เศรษฐา” มีแต่เรื่องที่หนักหนาสาหัส ไม่ว่าจะเป็นการบริหารคน บริหารงาน และบริหารผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ต่างมุ่งเข้ามา "ถอนทุน" จากทรัพยากรที่เสียไปช่วงเลือกตั้ง อีกทั้งต้องแบกภาพลักษณ์ของ รมต.พรรคร่วมรัฐบาลที่หลายคนก็ไม่ได้ขาวสะอาดนัก
อีกทั้งยังมีประเด็นที่รุงรังก่อนเข้ามาเป็นนายกฯ โดยเฉพาะปมซื้อขายที่ดิน การวางแผนภาษี ถ้ามีใครชี้ปมใช้เรื่องต่อรองหรือนำเรื่องเข้าสู่ชั้นศาล ก็จะเหนื่อยยิ่งกว่านี้
เลยไปถึงนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะข้อกังวลเรื่องการใช้งบประมาณ และความไม่แน่ชัดต่อขั้นตอนการปฏิบัติ และสัญญาณเตือนการคืนชีพของ “ประชานิยมเต็มรูปแบบ” เพื่อหวังซื้อใจประชาชนเท่านั้น โดยนายเศรษฐาย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญและจะเดินหน้าเต็มที่แน่นอน โดยวันจันทร์-อังคารนี้จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือในเรื่องดังกล่าว พร้อมคาดหวังว่าภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 จะสามารถเดินหน้าได้
ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นจากการแก้โจทย์แรกที่ทุกฝ่ายต้องการขวางไม่ให้ “ก้าวไกล” เข้ามามีอำนาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ควบคู่ไปกับภารกิจของเพื่อไทยในการพา “ทักษิณ” กลับบ้าน จึงตีกรอบให้เกิดเป็นการประนีประนอม เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าไปได้ด้วยสูตรรัฐบาลข้ามขั้ว
แม้จะมีสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมประเทศในการจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากที่แน่นิ่งอยู่ 3 เดือน แต่ รมต.ชุดใหม่ก็ไม่ได้สร้างความคาดหวังให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่าจะนำพาประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ขณะที่นายกฯ แม้จะมีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็อยู่ใต้เงาผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรค ไม่ได้มีอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะชี้ขาด ส่อเค้าว่ารัฐบาลเศรษฐา 1 อาจทำงานไปได้ไม่นานนัก และมีแนวโน้มจะมีการ “เขย่าใหม่” ปรับทัพตอบสนองผู้ที่พลาดหวังในรอบแรกตาม "ตั๋ว" ที่มีการส่งมา
ยังไม่นับสารพัดปัญหาที่รุมเร้าท้าทายนายกฯ คนที่ 30 ว่าจะบริหารจัดการแบ่งสันปันส่วนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร โดยไม่ต้องรอการชี้นำจากผู้มีอำนาจตัวจริง ท่ามกลางข้อครหา นายกฯ นอมินี ที่มีคนกดปุ่มสั่งการอยู่นอกทำเนียบฯ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9
เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
บิ๊กโตโยต้าเยือนไทยย้ำร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์
'บิ๊กโตโยต้าญี่ปุ่น' เยือนไทย ให้ความมั่นใจ นายกฯขอยืนหยัดร่วมกับไทยส่งเสริมอุตสาหกรรม ยานยนต์รูปแบบใหม่ต่อไปย้ำ คุณภาพรถยนต์ผลิตในไทยมาตรฐานเดียวกันกับญี่ปุ่น