“ประชาธิปัตย์” ร้าวลึก 21 ส.ส.งัดข้อ “ชวน”

ประชาธิปัตย์ อีนุงตุงนังทั้งพรรค ภายหลัง 16 สส.โหวตสวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียงในการโหวตนายกรัฐมนตรี ด้วยการเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ และ 21 สส.เสียงข้างมาก ของพรรคอยากไปร่วมรัฐบาล

ส่วนเสียงข้างน้อยที่เป็นเสาหลักของพรรคมาโดยตลอด นำโดย ชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ บัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค กลับไม่ต้องการไปร่วมรัฐบาล

อันที่จริงถ้าเป็นพรรคอื่น อะไรๆ ก็คงจะเรียบร้อยหมดแล้ว เพราะมีลักษณะเป็นพรรคเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สำหรับ “ประชาธิปัตย์” จะเห็นว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายปลายทางของการต่อสู้ก็จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระเห็จพ้นพรรค

เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ 21 สส.ของกลุ่ม เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ขับเคลื่อนในสภา โดย เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค  ดูแลภาคใต้ จากนักเลงสนามการเมืองระดับท้องถิ่น ก้าวสู่การเล่นการเมืองระดับประเทศ ปากบอกว่าพร้อมเป็นฝ่ายค้าน แต่การกระทำรู้กันทั้งบาง กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรือ อยากข้ามขั้วร่วมรัฐบาล สส.ต่างค่ายเมาธ์กันให้แซดว่าบินไปพบ ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ถึงฮ่องกง

แถมก่อนโหวต เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ยังดอดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย ทำตัวเป็นคนมีศักดิ์ศรีน้อย ขอเป็นอะไหล่ให้เขา ในยามที่เขาเรียกหา เรื่องนี้จริงหรือไม่ ก็ดูที่  ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา

แต่จะแตกต่างกันก็ตรงที่เพื่อนต่างค่ายกอดคอก๊งเหล้ากันได้ดี แต่ตัวเองกลับมานั่งซดน้ำใบบัวบก ซดน้ำแห้ว เพื่อนฝั่งเดียวกัน ทั้งภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ได้ดีมีเก้าอี้เสนาบดี ก็อยากได้กับเขาบ้าง หวังถอนทุน แล้วเก็บแต้มบุญใหม่ เพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยไม่สนใจการต่อสู้ระหว่าง “ชวน” กับ ระบอบทักษิณ

ในทางกลับกัน “เดชอิศม์” และกลุ่ม สส.ประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ มองว่า “วันนี้พรรคเพื่อไทยเขารวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง และเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส.เคยขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือกลุ่มเพื่อนนายเนวิน ชิดชอบ เคยเป็นงูเห่าออกจากพรรคภูมิใจไทย มาโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เขายังมาสมานฉันท์กันได้ แล้วเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ทั้งหมด ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่เคยมีความขัดแย้ง เราไม่ควรจะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ”

ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างครั้งนี้ นำสู่ความแตกแยกร้าวลึกภายในประชาธิปัตย์ โดยคำให้สัมภาษณ์ของ เดชอิศม์ เป็นหลักฐานอย่างดี ฟ้องว่าต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการมองหน้ากันแล้ว เดชอิศม์ บอกว่า "ความจริงแล้วการขับออกจากพรรคต้องมี สส.ร่วมกับกรรมการบริหารพรรค และเป็นมติ 3 ใน 4 แต่ดูไปดูมา สส.และกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้หมดแล้ว ไม่รู้ว่าจะขับใครกันแน่ ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด ดังนั้นจะขับกันอย่างไร"

ขณะที่สถานการณ์ฝั่ง นายหัวชวน ก็ย่ำแย่ คนในอดีตที่คอยเป็นกำลังเสริมทัพให้ เลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ สอบตกยกแผง เลยทำให้กำลังอ่อนแรง มีเพียง 3 คนที่อยู่ในฝ่ายนี้ ได้แก่ บัญญัติ, จุรินทร์ และสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา บุตรชายของ นิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรค

วันนี้หลายคนกล่าวว่า ชวน หลีกภัย สิ้นมนต์ขลัง คนใต้ที่รักและเคารพก็ร่อยหรอตามกาลเวลา ปักษ์ใต้วัยกลางคน ถึงรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาแทนที่ในยุคทุนนิยม มองเรื่องปากท้องมาก่อน อุดมการณ์ไว้ทีหลัง ดังนั้นวิถีทางที่ “ชวน” เคยหาเสียง จึงมีคนฟังน้อยลงเรื่อยๆ กว่าจะถ่องแท้และตระหนักถึงภยันอันตราย “ธุรกิจการเมือง” ก็คงต้องเห็นโรงศพเสียก่อน

ปลายทางของความขัดแย้งครั้งนี้ไม่รู้จะจบลงด้วยรูปแบบใด ครั้นจะอ้างว่า กลุ่ม 21 สส.สวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียงในการโหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เพื่อขับกลุ่มนี้ออกไปก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะตามกฎหมายรับรองให้เป็นเอกสิทธิ์ สส. แต่ถ้า 21 สส.ยังอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะอยู่ในภาวะต่างฝ่ายต่างเป็นก้อนกรวดในรองเท้าของกันและกัน พรรคย่ำอยู่กับที่ ไม่ไปทางไหนสักทาง

ได้แต่หวังว่า คารมโมเดล จะไม่เกิดขึ้นในประชาธิปัตย์ ถ้ายังจำกันได้ สภาชุดที่แล้ว สส.คารม พลพรกลาง ตัวอยู่ ก้าวไกล แต่หัวใจทั้ง 4 ห้องมีแต่ภูมิใจไทย ประชุมสภาคราใดเจ้าตัวไปนั่งเก้าอี้โซนภูมิใจไทยเป็นประจำ

ฉะนั้น ต้องจับตาการต่อสู้กันเองของ ปชป.ครั้งนี้่ ว่าใครจะอยู่ ใครจะไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี