เศรษฐาเร่งตั้งรัฐบาล โผครม.-แย่งเก้าอี้เดือด

ผลการโหวตของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา สุดท้ายหลังรอคอยมาร่วม 3 เดือน นับจากวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ตอนนี้ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

หลังผลการลงคะแนนเสียงปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้เศรษฐาเป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ม้วนเดียวจบ โดยได้คะแนนเสียง 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง อันเป็น 482 เสียงที่เกินจำนวนที่เพื่อไทยและเศรษฐาต้องการให้เกินกึ่งหนึ่ง 375 เสียง มาอย่างท่วมท้น   

โดย เศรษฐา จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ที่มาจากพรรคเพื่อไทยที่คือ ไทยรักไทย-พลังประชาชนเดิม หลังก่อนหน้านี้พรรคเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร มีนายกฯ มาแล้ว 4 คน คือ ทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเศรษฐา

ถือได้ว่าเศรษฐาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในฝ่ายบริหารได้โดยใช้เวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น หลังเปิดตัวเล่นการเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อใส่ชุด แดงเพลิง ไปร่วมกิจกรรมการเมืองกับอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร และนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ในการลงพื้นที่ ถนนเยาวราช ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เมื่อ 21 ม.ค.2566

จึงเท่ากับว่าเศรษฐาใช้เวลาประมาณ 175 วัน นับจากเปิดตัวเข้าสู่การเมืองก็ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ก็น้อยกว่าเพื่อนเลิฟ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้เวลาเปิดตัวเล่นการเมืองแล้วเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ เพียงแค่ 49 วัน

สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ โผ ครม.-เศรษฐา 1 ที่แต่ละพรรคการเมืองจะต้องไปคุยกันให้ลงตัว ตามโควตาที่แต่ละพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้โควตามา  

แยกเป็น เพื่อไทย รมว.ว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง ภูมิใจไทย รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง พลังประชารัฐ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง รวมไทยสร้างชาติ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง ชาติไทยพัฒนา รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง ประชาชาติ รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง

      โดยบางพรรคการเมือง เรื่องตัวบุคคลจะมาเป็นรัฐมนตรีไม่มีปัญหาอะไร เพราะเมื่อได้โควตาน้อย ทำให้ต้องให้เก้าอี้กับแกนนำพรรคไปโดยปริยาย เช่น ชาติไทยพัฒนา ตัววราวุธ ศิลปอาชา ที่เพื่อไทยจะให้เก้าอี้ รมว.พาณิชย์ หลังแกนนำพรรคได้สัญญาณมาจาก ทักษิณ ชินวัตร ว่า ก.พาณิชย์ ให้ชาติไทยพัฒนาไป ตามที่ทักษิณได้เคยรับปากไว้กับประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนาที่บินไปอวยพรวันเกิดทักษิณที่ฮ่องกง แต่ ท็อป-วราวุธ ข่าวว่าไม่โอเค ยังอยากอยู่ที่ ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เช่นเดิม หรือหากไม่ได้จริงๆ เพราะโดน พลังประชารัฐแย่งไป ก็อยากไปกระทรวงอื่น เช่น ก.การท่องเที่ยวฯ มากกว่า เลยทำให้ยังไม่ชัดว่าสุดท้ายจะไปกระทรวงไหนกันแน่

       ส่วน ประชาชาติ ก็ชัดเจนว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ น่าจะไปนั่งเป็น รมว.ยุติธรรม หลังเคยเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงมาก่อนสมัยเป็นอธิบดีดีเอสไอ แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่า บ้านจันทร์ส่องหล้า อยากให้ ชัยเกษม นิติสิริ กลับไปเป็น รมว.ยุติธรรมอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เคยเป็นมาแล้วตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะครอบครัวชินวัตรไว้ใจชัยเกษมในการไปดูแลกรมราชทัณฑ์ เพื่อจะได้คอยช่วยดูแลทักษิณที่ติดคุกอยู่ รวมถึงเพื่อไปช่วยดูเรื่องกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณด้วย แต่ข่าวว่าทักษิณต้องการคนที่ใจถึง-กล้าได้กล้าเสียมากกว่า ในการมาดูแลกรมราชทัณฑ์ เลยทำให้ พ.ต.อ.ทวีกลายเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ในเวลานี้ หากโผไม่พลิก

ขณะที่อีกหลายตำแหน่งก็มีข่าวว่า ยังไม่ลงตัวมากนักในเรื่องโควตากระทรวงและตัวบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาหลากหลาย เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ตามข่าวบางกระแสบอกว่า มีเซอร์ไพรส์จะมาเป็น รมว.มหาดไทย-มท.1 ไม่ใช่ "ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้จัดการรัฐบาล" อย่างที่คนคาดหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งหากอนุทินมาเป็น มท.1 จริง ก็จะทำให้ต้องถูก จารึกไว้ในประวัติศาสตร์กระทรวงมหาดไทย ที่มี พ่อ-ลูก เป็น รมว.มหาดไทย เพราะก่อนหน้านี้ ปู่จิ้น-ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บิดานายอนุทินก็เคยเป็น รมว.มหาดไทยมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม อนุทินกับกระทรวงมหาดไทย จริงๆ ก็คุ้นเคยกันดีอยู่ เพราะตอนชวรัตน์เป็น มท.1 ตัวอนุทินก็แวะเวียนไปที่กระทรวงบ่อย จนทำให้คุ้นเคยกับ ปลัดเก่ง-สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด ก.มหาดไทย คนปัจจุบัน ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าสำนักงาน รมว.มหาดไทย เป็นมือทำงานข้างกายชวรัตน์อย่างใกล้ชิด

 ดังนั้นหากอนุทินมาเป็น มท.1 ตามกระแสข่าวจริง ไม่พลิกในช่วงท้าย ก็คงทำให้การทำงานระหว่าง รมว.มหาดไทยกับปลัดกระทรวงมหาดไทยกลับมาเข้าขากันอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทำงานไม่เข้าขากับสุทธิพงษ์ ปลัดมหาดไทยมาตลอด โดยหากอนุทินเข้ามาเป็น มท.1 งานสำคัญแรกๆ ก็คือ การจัดทัพบิ๊กข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ร่วมๆ 30 ตำแหน่ง เช่น การแต่งตั้งอธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, แต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ ทั่วประเทศประมาณ 25-30 คน เป็นต้น แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายเพื่อไทยจะยอมคายกระทรวงมหาดไทยให้กับภูมิใจไทยอย่างที่มีกระแสข่าวหรือไม่

ส่วนตัวเต็ง รัฐมนตรีคนอื่นๆ ของภูมิใจไทย ที่น่าจะได้ลุ้นเก้าอี้รัฐมนตรีรอบนี้ คนอื่นๆ ก็มีเช่น ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ที่รอบนี้คงถึงเวลาได้เป็นรัฐมนตรีเสียที หลังรอบที่แล้วโดนพลเอกประยุทธ์สกัด จนทำให้ต้องส่งน้องสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ มาเป็น รมช.เกษตรฯ แทน

ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า ในพรรคเพื่อไทยก็เริ่มมีเค้าลาง ฝุ่นตลบ แย่งเก้าอี้รัฐมนตรี เกิดขึ้นให้เห็น เพราะหลายคนในเพื่อไทยที่อาวุโส รอบนี้ก็หวังมากว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีเสียที เช่น เกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำกลุ่มอุบลราชธานี หรือ เจ๊แจ๋น-พวงเพชร ชุณละเอียด หัวหน้าทีมเลือกตั้ง กทม.-สายจันทร์ส่องหล้า

กระนั้นข่าวอีกสายลือกันว่า คนในพรรคเพื่อไทยหลายกลุ่มก็จ้องสกัดอยู่ โดยอ้างเหตุต่างๆ เช่น ผลงานเลือกตั้งล้มเหลว-ไม่เข้าเป้า เช่น พวงเพชร ที่มีข่าวว่าจะลุ้นเก้าอี้ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ก็โดนคนในพรรคเพื่อไทยด้วยกันเองมองว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะ กทม.เพื่อไทยได้ สส.แค่คนเดียว จาก 33 เขต หลังแพ้ก้าวไกลยับเยิน อีกทั้งคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทยหลายเขต ก็แพ้ทั้งก้าวไกลและรวมไทยสร้างชาติ จนทำให้เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์เช่นเดียวกับ "เกรียง" ก็โดนเรื่องคุมพื้นที่อุบลราชธานี แล้วพลาด ขนาดลูกน้องของตัวเอง อย่างชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ สมคิด เชื้อคง ก็สอบตก จึงไม่ควรได้เป็นรัฐมนตรีในรอบนี้

ท่ามกลางข่าวว่าการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในเพื่อไทยกำลังร้อนระอุ และชื่อระดับบิ๊กเนมบางคนรอบนี้อาจไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็ได้ เพราะทำผลงานไม่เข้าเป้า เช่น สนธยา คุณปลื้ม ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการคุมพื้นที่ชลบุรี เพราะได้ สส.มาแค่คนเดียวจาก 10 เขต รวมถึงอีกหลายคนที่ทำผลงานในการเลือกตั้งที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้า ก็มีข่าวว่าอาจวืดในการเป็นรัฐมนตรีครั้งนี้ ส่วนคนที่ทำงานได้ดี เช่น เสี่ยแป้งมันพันล้าน-วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หัวหน้ากลุ่มโคราช เพื่อไทย ที่เพิ่งย้ายมาจากภูมิใจไทย รอบนี้น่าจะได้เก้าอี้รัฐมนตรี หลังทำผลงานในการเลือกตั้งได้ดีจนเข้าตาทักษิณ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟอร์ม ครม.เศรษฐา 1 รอบนี้จะเสร็จเร็ว ไม่แน่ปลายๆ สัปดาห์นี้ก็อาจจบแล้ว เพื่อจะได้เร่งนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป จากนั้นรัฐบาลจะได้มาเร่งประชุมทำร่างนโยบายรัฐบาลที่จะไปแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้เร็วที่สุด เพราะแกนนำเพื่อไทยต้องการให้รัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ กระบวนการต่างๆ ในการตั้งรัฐบาลจึงติดสปีดเร็วกว่าการตั้งรัฐบาลปกติที่ผ่านมา.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี