เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-เลือกตั้งซ่อม จับตาเกมชิงอำนาจ พปชร.!

ผลพวงจากคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณา 5 แกนนำ กปปส. “นายชุมพล จุลใส” ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ “นายอิสสระ สมชัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ “นายถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ "นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ “นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  

กรณีถูกศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่  

แม้จะมีคำโต้แย้งทั้ง 5 กปปส. แต่ก็ฟังไม่ขึ้น สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง และจากคำวินิจฉัย ส.ส.ทั้งหมดต้องหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ สิ้นสภาพ คนใหม่ถูกเลื่อนขึ้นมาแทน ส่วน ส.ส.เขตว่างลง เขต 1 ชุมพร ของนายชุมพล และ เขต 6 สงขลา นายถาวร ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย   

ผลจากคำวินิจฉัยในแง่ของกฎหมาย เกิดคำโต้แย้ง ตั้งเป็นข้อสังเกต ตามหลักเหตุผลที่น่ารับฟัง อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะจาก ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตัดพ้อออกมาว่า   

‘รู้สึกเจ็บปวดกับคำวินิจฉัยที่ออกมา ซึ่งตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี จึงขอถามไปยังศาลว่าใช้ดุลยพินิจอย่างไรในการวินิจฉัย ตั้งข้อสังเกตประเทศไทยปกครองโดยรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องสูงกว่าและอยู่เหนือกว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยชอบ ดังนั้นที่ท่านอ้างที่ว่าขังผมโดยชอบ เพราะฉะนั้นถ้าวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยอ้างว่าขังโดยชอบ ผมโต้แย้ง แต่ต้องรับโทษตามที่ท่านพิจารณา แต่ผมไม่ยอมรับในความภาคภูมิใจในคำวินิจฉัย หากจะพูดแบบภาษาชาวบ้านคือ การเขียนหักมุมของท่านไม่สวยเลย ไม่น่ารักเลย ไม่น่าเชื่อถือ ท่านเอาวิธีพิจารณาความแพ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ดังนั้นขอฝากไปยังเพื่อนในพรรคประชาธิปัตย์ว่า ผมต้องขอโทษพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ร่วมจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ และผมเสียดายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในสภาต่อไป”   

ในแง่มุมกฎหมายเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ในแง่มุมทางการเมืองก็ถูกตั้งคำถามย้อนกลับ เข้าตามตำรา เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล หรือไม่ ระหว่างกลุ่มม้าใช้เดิม แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ที่เคยแนบแน่นกันมาก่อน แต่มาถึงวันนี้ไม่มีเหตุที่จะต้องใช้พลัง กปปส.ในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกต่อไป  

อีกหนึ่งสิ่งที่จะต้องตามมา หลังมีคำวินิจฉัยของศาล การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตใน 2 พื้นที่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น พื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ต่างเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทั้งคู่ จากเดิมที่เคยมีสัญญาใจระหว่างบิ๊กๆ พลังประชารัฐบางคน อาจจะหลบ ไม่ส่งผู้สมัครในบางเขต เพราะในวันข้างหน้าจะมาเป็นพันธมิตรทางการเมืองในค่ายเดียวกัน แต่ก็มีเสียงโต้กลับมาจากบิ๊กพลังประชารัฐร่วมค่ายบางคนเหมือนกัน หากทำเช่นนั้นจะถูกมองได้ว่าฮั้วทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องส่งผู้สมัครในนามพลังประชารัฐลงแข่งขัน 

การเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา ประชาธิปัตย์ เข้าตาจน แพ้อีกไม่ได้ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรี แต่ยังเป็นการวัดกระแส ชี้ถึงความนิยมประชาธิปัตย์ในดินแดนภาคใต้ ถึงคราวเสื่อมมนต์ขลังไปหรือยัง  

นาทีนี้ พลังประชารัฐ ไม่ (ยอม) หลีกทาง เตรียมส่งผู้สมัครในนามพรรค ในวันที่ปัจจัยกระสุนดินดำ อำนาจรัฐ อำนาจทางการเมืองเป็นพลังบวกสำคัญ การเลือกตั้งซ่อมไม่เหมือนเลือกตั้งใหญ่ ตัวชี้วัดชี้ขาดมีไม่กี่ปัจจัย บวกกับระยะหลังเกิดปัญหาความระหองระแหงใจระหว่าง ส.ส.ประชาธิปัตย์ กับแกนนำพรรคพลังประชารัฐบางคน ยิ่งทำให้ศึกเลือกตั้งซ่อมในอีก 45 วันนับจากนี้ ยกระดับเพิ่มดีกรีความดุเดือดให้เข้มข้น พลังประชารัฐจึงไม่จำเป็นต้องสนมารยาททางการเมือง    

อีกสนามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน สนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ยังไม่รู้จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนอะไรในปี 2565 แต่งานนี้ยิ่งฉายภาพให้เห็นเด่นชัด ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครถอยให้ใคร   

ประชาธิปัตย์ผูกปีขาดผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์มานาน แต่นับตั้งแต่สนามเลือกตั้ง 2562 ประชาธิปัตย์เข้าสู่ยุคถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ไม่มี ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์แม้แต่คนเดียว ส.ก.เดิมกระจัดกระจายไปอยู่กับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ สนามเมืองหลวง ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะถอยไม่ได้ ล่าสุดประชาธิปัตย์เตรียมเปิดตัว “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 14 ธ.ค. ถือเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคแรกที่เตรียมเปิดตัวผู้สมัครในนามพรรค   

แม้ว่าสุชัชวีร์จะถูกตั้งคำถามปนความเคลือบแคลงสงสัย “ของจริง หรือของเทียม” เป็นพวกดีแต่พูดหรือไม่ เพราะผลงานทางปฏิบัติอย่างเป็นชิ้นเป็นอันยังไม่เคยเห็นมีอะไรถูกจับต้องได้เลย แต่ประชาธิปัตย์ในยุค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กลับกล้าเสี่ยงลองของใหม่ แหวกประเพณีเดิม ไม่ดันลูกหม้อ สมาชิกพรรคลงชิงชัยตามที่มีกระแสข่าว “องอาจ คล้ามไพบูลย์” อดีต ส.ส.กทม.หลายสมัย ประชาธิปัตย์ที่รู้พื้นที่ เข้าใจสภาพปัญหา กทม.เป็นอย่างดี หรือแม้แต่ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ คนรุ่นใหม่ ที่พร้อมเสนอตัวเป็นทางเลือกกลับไม่ถูกดันมาใช้งาน ทั้งที่ผ่านมาทุ่มเททำงานให้กับพรรคมาโดยตลอด   

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ โดยเป้าทางยุทธศาสตร์ต้องการประกาศศักดาเมืองหลวง ที่นอกจากจะเป็นตัวชี้วัด ลบคำครหาคนเมืองกรุง คนชั้นกลางไม่เอาทหาร พลังประชารัฐแล้ว หากได้ผู้ว่าฯ เมืองหลวงเป็นคนคุ้นเคย ไว้ใจได้ การทำงานสอดประสานกัน ระหว่างผู้ว่าฯ กทม.กับนายกรัฐมนตรีจะเกิดประโยชน์สูงยิ่งทางการเมือง   

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น กลุ่มพี่น้อง 3 ป. บิ๊กตู่-“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” บิ๊กป้อม-“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” บิ๊กป๊อก-“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” คงต้องประสานรอยร้าว มองไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน ในวันนี้มีกระแสข่าวแพร่สะพัดอย่างหนาหู พี่ไปทาง น้องไปทาง    

พล.อ.ประยุทธ์จับมือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ จัดวางผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ลงตัวแล้ว 30 เขต จากทั้งหมด 50 เขต ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม.จะขอดัน พล.ต.อ.อัศวินลงสมัครในนามกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร ส่งสัญญาณกลุ่ม ส.ส.กทม.จัดวางผู้สมัคร ส.ก.ครบทั้ง 50 คน 50 เขต สู้ศึกสนามท้องถิ่น แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าทาบทามผู้ว่าฯ หมูป่า-นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร แม้จะมีปัญหาทางสุขภาพบางประการ แต่ก็อยากจะให้มาลงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐให้ได้ นาทีนี้ชื่อที่พอจะไปวัดคู่แข่ง สมน้ำสมเนื้อ มีเพียงผู้ว่าฯ หมูป่าเท่านั้น    

สนามเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้งซ่อม พรรคพลังประชารัฐหมายมั่นปั้นมือจะขอเก็บอีก 2 แต้มสำคัญ ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของพรรครัฐบาล ขณะที่หัวใจสำคัญ สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นตัวชี้วัดความนิยมคนกรุง ชาว กทม. ก็เป็นอีกสนามที่พลังประชารัฐให้ความสนใจ ไม่ยอมปล่อยให้หลุดมือ     

การเปิดศึกต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามหนักหนาอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องมารบกับคนกันเอง รู้มือรู้ทางกันเป็นอย่างดี กลเกมประกาศศักดาแผ่ขยายช่วงชิงอำนาจที่หมายมั่นเอาไว้ อาจไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์..ก็เป็นได้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.

'ลุงป้อม' เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ รับอวยพรปีใหม่

'ลุงป้อม' สดใส เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ รับอวยพรปีใหม่ ย้ำพระราชเสาวนีย์พระพันปีหลวง ปกป้องป่าให้ลูกหลาน ด้าน ผบ.เหล่าทัพ ทยอยอวยพร 3 ป. วานนี้

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน

“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง

ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด