หยั่งกระแส-จับท่าทีสว. ก่อนโหวตนายกฯ 22 ส.ค.

ในทางการเมืองมองได้ว่า การที่ ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะกลับมารับโทษติดคุก หลังหนีคดีไปร่วม 17 ปี ซึ่งทักษิณ ประกาศว่า จะกลับมาวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 9 โมงเช้า โดยจะเข้ามาทางสนามบินดอนเมือง หากไม่มีการยกเลิกหรือเลื่อนไปอีก

 กระแสการเมืองทุกสายมองไปในทางเดียวกันว่า น่าจะเป็นเพราะทักษิณเชื่อมั่น-มั่นใจลึกๆ ว่า ผลการโหวตของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันเดียวกัน คือ 22 ส.ค. แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน จะได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภาให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย

จนทำให้เกิดรัฐบาลเพื่อไทย หลังจากเพื่อไทยว่างเว้นการเป็นรัฐบาล-คุมอำนาจรัฐมาร่วม 9 ปี

จึงเป็นการกลับมาของทักษิณในช่วงรอยต่อ รัฐบาลรักษาการ พลเอกประยุทธ์กำลังลงจากอำนาจ และรัฐบาลเพื่อไทยกำลังเข้าไปมีอำนาจ ซึ่งทำให้กลไกอำนาจรัฐกำลังจะต้องอยู่ใต้การกำกับ-สั่งการของเพื่อไทย ที่ทำให้ทักษิณคงมั่นใจถึงการกลับมาแล้วปลอดภัย-ได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษในฐานะนักโทษวีไอพี 

ทั้งหมดเลยทำให้ทักษิณเลือกที่จะกลับมาก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ ในช่วงประมาณบ่าย 3 โมงของวันเดียวกัน 

แม้บางส่วนจะมองว่า ถึงตอนนี้การจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยกำลังเดินหน้าไปด้วยดี หลังรวมเสียง ส.ส.ได้แล้วประมาณ 314-315 เสียง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมกับเสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ขั้นต่ำ 21 เสียงในกลุ่มของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่จะมีการประชุม สส.กันในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค. เพื่อลงมติว่า สส.ประชาธิปัตย์ 25 คนจะลงมติให้ เศรษฐาเป็นนายกฯ หรือไม่ แม้จะพบว่า การตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยไม่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วยแล้วในช่วงหลัง เพราะเพื่อไทยไปยอมจับมือกับพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ตั้งรัฐบาล แล้วก็ได้เสียงจาก สมาชิกวุฒิสภา ของ 2 ลุง ลุงตู่-ลุงป้อม โดยเฉพาะ สว.สายป่ารอยต่อฯ ที่จะมาช่วยเทเสียงให้เพื่อไทยด้วย หลังพรรค 2 ลุงได้ร่วมรัฐบาล จนทำให้เศรษฐาได้คะแนนเสียงไปถึง 375 เสียง ได้เป็นนายกฯ สมใจ

โดยหากเอาแค่จำนวนเสียง สส. 315 เสียงที่มีอยู่ ไม่นับรวมกับพวก สส.ประชาธิปัตย์ ก็เท่ากับว่าเพื่อไทยต้องการเสียงอีกแค่ 60 เสียงเท่านั้น แต่หากทักษิณ-เพื่อไทย จะยอมเฉือนโควตารัฐมนตรีเพื่อแลกกับความมั่นใจว่า เศรษฐา-ม้วนเดียวจบ ก็อาจยอมดึงประชาธิปัตย์กลุ่มเฉลิมชัยมาเติมเสียงให้อีก ซึ่งหากได้มาสัก 21 เสียงจากกลุ่มเฉลิมชัย ก็เท่ากับเพื่อไทยจะมี สส.ประมาณ 336 เสียง ก็เท่ากับขาดอีกแค่ 40 เสียง ก็ถึง 375 เสียงแล้ว แต่ถ้า เพื่อไทยมั่นใจว่า สว.จะเทเสียงมาให้ วันโหวตนายกฯ ก็อาจไม่จำเป็นต้องเปิดดีลกับกลุ่มเฉลิมชัยก็ได้ แม้จะมีข่าวว่ากลุ่มเฉลิมชัยยังคงพยายามจะขอเข้าร่วมรัฐบาลอยู่ก็ตาม

                    เมื่อเป็นดังนี้ “เสียงโหวตจาก สว.” จึงยังเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย

 ซึ่งจากการตรวจสอบท่าทีของ สว. พบว่าการโหวตนายกฯ รอบนี้ ท่าทีของ สว.ไม่เป็นเอกภาพ หรือเห็นทิศทางที่ชัดเจนเหมือนตอนโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

สาเหตุอาจเพราะด้วยการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยแตกต่างจากพรรคก้าวไกลค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลโดยเฉพาะเพื่อไทย ไม่มีนโยบายแก้ 112 ก็ทำให้ปลดล็อกเงื่อนไขที่ สว.จะนำมาอ้างเป็นเหตุในการไม่โหวตให้เศรษฐา-เพื่อไทย ไปได้หลายสิบคน

 ผนวกกับ สว.หลายคนก็เห็นว่า ขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนเศษแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เกิดขึ้น หากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม อีกทั้ง สว.จะถูกมองว่าเป็นอุปสรรค-ปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน การที่เพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ในการตั้งรัฐบาลจนทำให้เกิดภาพก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็ทำให้กระแสสนับสนุนการตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นระดับหนึ่ง แม้แต่กับกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ-เพื่อไทยก็ยังรับได้ และสนับสนุนการตั้งรัฐบาลรอบนี้ เพราะทำให้รวมไทยสร้างชาติได้เป็นรัฐบาล มันก็เลยทำให้ สว.สายลุงป้อม-ลุงตู่ก็เลยอยากจะโหวตให้เศรษฐาหลายคนเหมือนกัน ยิ่งเมื่อมีข่าวว่ามีการต่อสาย-ล็อบบี้จากฝ่ายการเมืองในป่ารอยต่อฯ ที่ต้องการให้ สว.ออกเสียงหนุนให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล เพราะลุงป้อมก็รู้ดีว่า ด้วยสังขารตัวเองและการที่พลังประชารัฐมี สส.แค่ 40 คน การจะหวังเป็นนายกฯ มันยากพอสมควร สู้เอาแค่ให้ได้เป็นรัฐบาลก็พอแล้ว ก็เลยทำให้มี สว.หลายคนก็เลยคล้อยตามกับการส่งสัญญาณดังกล่าวมาที่สภาสูง

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ทำให้ สว.หลายคนลังเลใจในการจะโหวตให้เศรษฐา ถึงตอนนี้คงเป็นเรื่องตัวของเศรษฐาเองเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะข้อกล่าวหาจาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ว่าเศรษฐามีส่วนรับรู้ในเรื่องการทำนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินของบริษัท แสนสิริฯ ที่เศรษฐาเคยเป็นซีอีโอ ที่ทำให้ สว.หลายคนชักลังเลใจ หากจะโหวตให้เศรษฐา เพราะมองว่าคำชี้แจงของเศรษฐาที่ออกมายังเคลียร์ตัวเองไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตลอดจนเรื่อง “บมจ.แสนสิริ” ในยุคเศรษฐาเป็นผู้บริหารบริษัท เรียกเก็บค่าผ่านทางสะพานข้ามคลองพระโขนง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เป็นต้น

ทั้งหมดเลยทำให้ สว.หลายคนไม่มั่นใจในการจะโหวตให้เป็นนายกฯ เพราะเกรงว่าเศรษฐาที่เป็นนักธุรกิจ หากเข้าไปเป็นนายกฯ จะบริหารประเทศหรือออกนโยบายอะไรที่มีปัญหาในภายหลังหรือไม่ พูดง่ายๆ เกรงจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนทักษิณ ที่เป็นนักธุรกิจแล้วมาเล่นการเมือง และทำให้เกิดปัญหาการเมืองต่างๆ ตามมามากมายจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

ปมนี้หากจะว่าไป ถ้าตัวเศรษฐาและเพื่อไทยเคลียร์ตัวเองได้ก่อนการโหวตลงมติเลือกนายกฯ ก็น่าจะทำให้ สว.หลายคนไม่ลังเลใจที่จะโหวตให้ แต่ถ้ายังเคลียร์ไม่ได้ ก็อาจทำให้ สว.บางส่วนไม่ลงมติเห็นชอบให้เศรษฐาเป็นนายกฯ ก็ได้

อย่างเช่นท่าทีของ สว.บางส่วนอย่าง ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นอกจากต้องไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว ยังต้องมี คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เพราะการเป็นผู้นำประเทศ ต้องเป็นผู้นำพาองคาพยพของประเทศ เรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์ของคนจะมาเป็นนายกฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ดิเรกฤทธิ์ มองว่า เมื่อตอนนี้เศรษฐามีประเด็นเรื่องในอดีตสมัยเป็นผู้บริหารอยู่บริษัทเอกชน ตามข้อมูลที่นายชูวิทย์นำมาเปิดเผย รวมถึงยังมีกรณี ที่บริษัทดังกล่าวทำสะพานในที่สาธารณะแล้วมีการเรียกเก็บเงินค่าผ่านทาง คิดว่าเรื่องเหล่านี้ต้องมีความชัดเจน ตัวนายเศรษฐาต้องอธิบายได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่ได้เป็นบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ตามประเด็นที่ถูกกล่าวหา เขาต้องชี้แจงให้ได้ รวมถึงท่าทีซึ่งเพื่อไทยประกาศว่า หากเข้าไปเป็นรัฐบาล จะให้มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฝ่ายเพื่อไทยและนายเศรษฐาต้องตอบคำถามให้ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ดีอย่างไร ถึงจะมายกเลิก แล้วเรื่องที่จะมาแก้ไข แล้วเป็นประโยชน์กับประชาชนมีอะไรบ้าง แล้วประเด็นดังกล่าวมันสำคัญมากจนไม่สามารถใช้วิธีการแก้เป็นรายมาตราอย่างไร จนต้องไปยกร่างมาใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงในเมื่อตอนนี้ก็มีสภาฯ ที่ สส.มาจากการเลือกตั้ง แล้วทำไมไม่ใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกรัฐสภา ทำไมต้องไปแก้ไข แล้วร่างใหม่ ผ่านการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กระบวนการต่างๆ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งการที่คนจะมาเป็นนายกฯ แล้วมาประกาศแบบนี้ โดยอาจจะยังไม่มีวิธีคิดที่ชัดเจนออกมาก่อน

ทั้งหมดเป็นข้อสงสัย ข้อกังวล ที่อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบ หากไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน” สว.ดิเรกฤทธิ์ระบุ

ที่จับประเด็นได้ว่า สว.ผู้นี้มองว่า ขณะนี้เศรษฐามีจุดตาย 3 เรื่องที่ต้องเคลียร์ให้ได้คือ "เรื่องการซื้อขายที่ดินของบริษัทแสนสิริฯ, การเก็บเงินค่าผ่านทางของบริษัทแสนสิริฯ ก่อนหน้านี้ และท่าทีของเพื่อไทย ในการจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อให้มีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่”

ซึ่ง 3 จุดตายดังกล่าวหากเศรษฐาเคลียร์ได้ เพื่อไทยช่วยแจงจนผ่านไปได้ ก็น่าจะทำให้ได้เสียงหนุนจาก สว.ตามมาเอง จนเศรษฐาได้เสียงโหวตเข้าป้าย 375 เสียง ตามเป้าที่วางไว้ แต่ถ้าเคลียร์ไม่ได้ ก็ไปรอลุ้นกันหน้างาน วันโหวตนายกฯ กันเอาเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

'อิ๊งค์พูด ทักษิณขยายต่อ' ให้ชาวบ้านทำอาชีพขุดดินในคลองไปขาย มีแต่นายทุนได้ประโยชน์

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า พ่อลูกพอกัน เราคงได้ฟังนายทักษิณ ไปแสดงวิสัยทัศน์ ที่อีสานในหลายประเด็น ผมจึงไม่แปลกใจที่ อุ๊งอิ๊งได้เอาสิ่งเหล่านี้มาพูดก่อน

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน

รู้แล้ว! ทำไม 'นายกฯอิ๊งค์' ไม่ลงพื้นที่น้ำท่วมชายแดนใต้ ไปแค่เมืองคอน

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แนะนำ อุ๊งอิ๊ง จัดลำดับความสำคัญลงพื้นที่

ศึก 'นายก อบจ.เชียงราย' เดือด! ทักษิณไฟเขียวเปิดตัว 'เมียยงยุทธ' ชน 'วันไชยธนวงศ์'

ชิงเก้าอี้ 'นายก อบจ.เชียงราย' ระอุ! 'ยงยุทธ' นัดแถลงเปิดตัวส่งเมียลงสมัคร หลัง 'ทักษิณ' ไฟเขียว ชน 'อทิตาธร วันไชยธนวงศ์' ส่วนพรรคส้มยังเงียบ