เดินหน้าโหวตนายกฯ 'เศรษฐา' แผลยังไม่แห้ง

กลับเข้าสู่โหมดเดินหน้า "โหวตนายกรัฐมนตรี" ของที่ประชุมรัฐสภากันอีกครั้ง หลังผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 16 ส.ค. ไม่มีอะไรผิดคาด เพราะที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ "ไม่รับคำร้อง" กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยถึงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ไม่เห็นชอบให้มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยสรุปว่า ตัวผู้ร้องที่ไปยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ นายพรชัย เทพปัญญา, นายบุญส่ง ชเลธร และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงในกระบวนการโหวตเห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ตามช่องทางที่ยื่นมาตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญฯ

"ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป"

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือ กระบวนการนัดประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อเดินหน้าโหวตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องดูว่าจะเกิดขึ้นวันใด 

 "วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา" ระบุไว้ก่อนจะมีมติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า วันพฤหัสบดีที่ 17 ส.ค.จะนัดประชุมฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาเพื่อหารือถึงการกำหนดวันโหวตนายกฯ

ทั้งนี้ การกำหนดวันโหวตนายกฯ ประธานรัฐสภา ต้องหารือร่วมกันกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา รวมถึงวิปของฝ่ายวุฒิสภา, พรรคการเมืองขั้วจัดตั้งรัฐบาล และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขั้วจัดตั้งรัฐบาล เพื่อกำหนดวันออกมา ซึ่งข่าวว่าประธานรัฐสภาได้นัดประชุมวิปทุกพรรคการเมืองและ สว.ในศุกร์ที่ 18 ส.ค.นี้ เพื่อกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

ซึ่งล่าสุด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 ส.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แถลงอย่างเป็นทางการว่าจะนัดประชุมโหวตนายกฯ ในวันอังคารที่ 22 ส.ค.นี้

ขณะเดียวกัน เส้นทางการเข้าสู่ "ตึกไทยคู่ฟ้า" ของ "เศรษฐา ทวีสิน" ที่เพื่อไทยจะเสนอชื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเห็นชอบเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยนั้น

 ถึงตอนนี้ ท่าทีของแกนนำเพื่อไทยดูจะมั่นใจว่า "เศรษฐา-ฉลุยม้วนเดียวจบ" หลังรวมเสียง สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ มาไว้จนตัวเลขทะลุไปที่ร่วมๆ 315  เสียงแล้ว โดยเฉพาะการที่สูตรพรรคตั้งรัฐบาลจะมี "พลังประชารัฐ" กับ "รวมไทยสร้างชาติ" มาร่วมด้วย ที่ทำให้เพื่อไทยเชื่อว่าจะได้เสียง "สมาชิกวุฒิสภา" พ่วงเข้ามาด้วย โดยเฉพาะ สว.สาย "ป่ารอยต่อ" หลายสิบคน

ทำให้ปัจจุบัน เพื่อไทยมีเสียง สส.อยู่ในหน้าตักประมาณ 315 เสียง ก็เท่ากับว่าจากที่บุคคลซึ่งจะได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกฯ จากเดิมต้องได้ 376 เสียง แต่ตอนนี้เหลือ 375 เสียง จึงเท่ากับขาดอีกประมาณ 60 เสียง ซึ่งเพื่อไทยเชื่อว่า หาก "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งสัญญาณไปถึง สว.หลายสิบคนในเครือข่ายมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ให้โหวตให้เพื่อไทย ยังไงซะก็น่าจะทะลุ 375 เสียงได้ไม่ยาก

อีกทั้งตัวเลข 315 เสียงดังกล่าว ยังไม่นับรวม "21 เสียง สส.พรรคประชาธิปัตย์" ที่อยู่ในปีกของเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ปชป. ที่ตอนนี้คอนโทรลทุกอย่างในพรรค ปชป.ไว้เกือบหมดแล้ว โดยหาก "ทักษิณ-เพื่อไทย" ต้องการเพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้น ก็อาจตกลงกับกลุ่มเฉลิมชัยเพื่อขอเสียงจาก ปชป.อีก 21  เสียง มาเพิ่มเป็น “เสียงอะไหล่” เพื่อความชัวร์ ก็จะทำให้ เพื่อไทยมีประมาณ 336 เสียง เท่ากับขาดอีกแค่ 39 เสียงจาก สว.ก็จะครบ 375 เสียงแล้ว

มองได้ว่า หากเพื่อไทยจะเอา 21 เสียง ปชป.มาร่วมโหวตให้ด้วย ก็คาดว่า "เฉลิมชัย-เดชอิศม์ ขาวทอง" สองแกนนำที่คุมเสียง สส.ในพรรคไว้ คงไม่ยอมเป็นแค่อะไหล่เสริม-ตีเช็คเปล่าให้เพื่อไทยและทักษิณ เพราะถ้าจะเอาจริง เฉลิมชัยคงต้องยื่นคำขาดให้ พท.ทำข้อตกลงกับกลุ่มตนให้ชัดเจน ว่าหากมาร่วมโหวตให้แล้วจะต้องมีโควตารัฐมนตรีให้

ที่หากใช้คณิตศาสตร์การเมือง การคำนวณสูตรโควตารัฐมนตรีที่ใช้ 9 หาร ก็เท่ากับกลุ่มเฉลิมชัยจะได้โควตารัฐมนตรีประมาณ 2 ที่นั่ง

กระนั้นก็จะเป็นการไปเข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ของกลุ่มเฉลิมชัย ที่จะไม่มีอำนาจต่อรองมากเหมือนเมื่อช่วงสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่เดชอิศม์บินไปคุยกับทักษิณที่ฮ่องกง ที่ตอนนั้นกลุ่มเฉลิมชัยยังต่อรองได้มากอยู่ เพราะช่วงนั้นทักษิณยังลังเลเรื่องจะไม่ดีลพรรคสองลุงร่วมรัฐบาล เลยต้องพึ่งเสียง สส.ปชป.มาช่วย แต่เมื่อตอนนี้ตัดสินใจแล้วว่าจะดึง พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ มาร่วมดีล ก็ทำให้กลุ่มเฉลิมชัยกำลังเสี่ยงตกขบวน ไม่ได้ร่วมรัฐบาล จนตอนนี้มีสภาพเป็นพวกอะไหล่รอเสริมเท่านั้น

ทว่า เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลยังมีเวลาเหลืออีกพอสมควร แม้ใกล้วันโหวตนายกฯ เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้การเจรจาต่อรอง และการหักมุมทางการเมืองยังเกิดขึ้นได้ตลอด เรียกได้ว่าคงต่อรองกันจนถึงนาทีสุดท้าย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของตัว "เศรษฐา" เอง ก็ยังมีชนักติดหลังจากข้อกล่าวหาของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ว่า มีส่วนรู้เห็นกับนิติกรรมการซื้อขายที่ดินของบริษัทแสนสิริฯ  ที่เศรษฐาเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) อีกทั้ง ปัจจุบันแม้เศรษฐาจะลาออกจากบริษัทแล้ว แต่ก็ยังมีบทบาทสูงในบริษัทอยู่ รวมถึงคนในครอบครัวคือ น.ส.ชนัญดา ทวีสิน บุตรสาว ก็ถือครองหุ้นบริษัท 661,002,734 หุ้น คิดเป็น 4.44% ของทุนจดทะเบียนบริษัท ที่ได้รับโอนจากนายเศรษฐาเมื่อ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา

 ทำให้เศรษฐากับบริษัทแสนสิริฯ เลยดูจะแยกกันไม่ออก

ซึ่งเรื่องที่ชูวิทย์เดินหน้าแฉ ก็จับกระแสได้ว่าเป็นเรื่องที่คนในสังคมบางส่วนยังคลางแคลงใจอยู่ รวมถึง สว.หลายคนเองด้วยที่ตั้งป้อมจะไม่โหวตให้ หากเศรษฐาเคลียร์เรื่องนี้ไม่ได้ หลังชูวิทย์ยังคงเดินหน้า "แฉเพื่อชาติ" ต่อเนื่อง ซึ่งยิ่งแฉข้อมูลก็ยิ่งหวือหวา และโยงถึงตัวเศรษฐามากขึ้น  

แม้ฝ่ายแกนนำเพื่อไทยจะพยายามบอกว่า ไม่ให้ราคากับการแฉของชูวิทย์ รวมถึงมองว่าการแฉของชูวิทย์ไม่ค่อยสร้างแรงสั่นสะเทือนมากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจยาก ทว่าหากจับอาการกันดีๆ จะพบว่าเพื่อไทยก็หนักใจเหมือนกัน ถ้าตัวว่าที่นายกฯ ของพรรคยังไม่ทันจะได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ ก็ดันมี "แผล" เสียแล้ว ทำให้การขึ้นเป็นนายกฯ ของเศรษฐาอาจมีคำถามจากสังคมอยู่เหมือนกัน

ต้องดูว่าเพื่อไทยจะลงมาช่วยแก้เกมให้ เศรษฐา ยังไง หลังพยายามหยุดชูวิทย์หลายวิธี โดยเฉพาะการดิสเครดิตเพื่อหวังให้ข้อมูลไร้น้ำหนัก แต่ก็ยังหยุดไม่ได้

เรื่องนี้เห็นได้ชัด "เศรษฐา" ก็ออกอาการเช่นกัน เพราะรู้ดีว่าคนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง โดยเฉพาะการเป็นผู้บริหารประเทศในสังคมปัจจุบัน ถ้าบุคคลดังกล่าวมีอะไร "เทาๆ" อาจทำให้เกิดปัญหาการยอมรับในภายหลังได้ ทำให้เศรษฐาก็พยายามดิ้นชี้แจงทั้งในนามส่วนตัว และขอให้บริษัทแสนสิริฯ ลงมาช่วย ทำนองว่าแสนสิริทำธุรกิจถูกต้อง-ยึดหลักธรรมาภิบาล

เส้นทางการขึ้นเป็นนายกฯ ของเศรษฐาจะม้วนเดียวจบ ถึงฝั่งฝันในวันโหวตนายกฯ หรือไม่ ตอนจบของการเมืองฉากนี้ช่างน่าติดตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เผยหลังลงพื้นที่นราธิวาส-มาเลเซีย กระชับความสัมพันธ์ทุกระดับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ว่า สืบเนื่องจากการพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และการลงพื้นที่ของตนที่มาดูเรื่องเศรษฐกิจ 3 วัน 2 คืน

'เศรษฐา' สยบข่าวนายกฯสำรอง ย้ำ 314 เสียงมั่นคงแล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกฯ สำรอง โดยนายอนุทินที่นั่งอยู่ข้างๆ หัวเราะ ก่อนนายอนุทินจะกล่าวว่า นั่งตัวลีบอยู่อย่างนี้ ขณะที่นายกฯ

นายกฯ สั่งตรวจสอบ TEMU อีคอมเมิร์ซจีนตีตลาดไทย ยันต้องเสียภาษี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่จ.นราธิวาส ถึงกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu ของจีนเข้ามาตีตลาดไทย รวมถึงตลาดอื่นทั่วโลก จึงกังวลว่าเงินจะถูกส่งกลับจีน โดยไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยว่

'ศิริกัญญา' เอาใจช่วย 'เศรษฐา' ไม่หลุดนายกฯ หวัง 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

'ศิริกัญญา' เชียร์ 'เศรษฐา' รอดคดี ไม่เห็นด้วยองค์การอิสระแทรกแซง ยังหวังก้าวไกลไม่ถูกยุบ ขอรอผล 7 ส.ค. ก่อน รับคุยหลายพรรคไม่ใช่แค่ถิ่นกาขาวฯ

'เศรษฐา' ไม่ขอคิดไกล! อย่าโยง 3 คดีใหญ่ ทำ ครม. ไขว้เขว

'เศรษฐา' ลั่นยังไม่คิดปรับ ครม. ตอนนี้ รับ 3 ปีที่เหลืออาจมีการปรับเปลี่ยน ขออย่าโยง 3 คดีใหญ่เดือน ส.ค. หวั่น รมต.ไขว้เขว ขออย่าคิดไกล ปมข่าววางคนเสียบนายกฯ

นายกฯ ปลื้มทะลุ 18 ล้านคน แห่ลงทะเบียนรับเงินหมื่น แย้มรอฟังข่าวดีจาก พณ.

นายกฯ พอใจประชาชนตื่นตัวลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันแรก เตรียมหารือป้องกันแอปปลอมระบาด- ข้อมูลรั่วไหล-แลกเงินสด แย้มรอฟังข่าวดีจากกระทรวงพาณิชย์