เจาะโผบิ๊ก ขรก.เกษียณ พท.ขวาง 'ประยุทธ์' ชิงตั้ง ผบ. 4 เหล่าทัพ-ผบ.ตร.

ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน “ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย" ที่มีบทบาทสูงมากในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ ก็ออกมาระบุให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เป็นรัฐบาลรักษาการเวลานี้ ยุติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงทุกตำแหน่ง โดยควรให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ

ท่าทีดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า เพื่อไทยคงได้สัญญาณบางอย่างมาว่า พลเอกประยุทธ์ที่นอกจากเป็นนายกฯ แล้ว ยังเป็น รมว.กลาโหม ดูแลกองทัพ อีกทั้งยังคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตัวเอง              

การที่เพื่อไทยออกมาดักคอไว้ คงเพราะอาจประเมินว่า มีแนวโน้มที่พลเอกประยุทธ์จะจัดทัพบิ๊กข้าราชการ ในช่วงรอยต่อก่อนมีรัฐบาลใหม่ เลยเกรงว่าจะมีการจัดทัพโดยวางคนในเครือข่ายไว้ในตำแหน่งสำคัญ

เชื่อได้ว่า ตำแหน่งหลักที่เพื่อไทยโฟกัสเป็นพิเศษ ก็คือ “ผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ที่สามารถพิจารณาแต่งตั้งได้เลยผ่านบอร์ดสภากลาโหมและที่ประชุม ก.ตร.ตามลำดับ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แบบข้าราชการพลเรือนปกติ

จึงทำให้เพื่อไทยเกรงว่า กว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าไปบริหารประเทศก็ยังเหลืออีกหลายขั้นตอน ทั้งกระบวนการโหวตนายกฯ, การฟอร์ม ครม., การนำชื่อนายกฯ และโผครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จากนั้นก็ต้องรอโปรดเกล้าฯ จึงจะได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทั้งตัวนายกฯ และ ครม. และจบที่การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา

ประเมินว่าเร็วสุด คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อยก็สามสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน ทำให้กว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าทำงานก็เกือบๆ ปลายเดือนกันยายนเข้าไปแล้ว 

แต่วงรอบของข้าราชการจะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ ทำให้เพื่อไทยเกรงว่า พลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีบางคนอาจแต่งตั้งบิ๊กข้าราชการระดับสูงไปก่อน  จึงรีบออกมาขวางโดยเร็ว 

ซึ่งตำแหน่งที่เพื่อไทย ไม่ต้องการให้บิ๊กตู่เข้ามาจัดทัพ คงไม่พ้น 4 เก้าอี้หลักในกองทัพ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 5 ตำแหน่งมีความสำคัญในด้านการเมืองและความมั่นคงของรัฐบาลมาทุกยุคสมัย ซึ่งปีนี้ผู้นำเหล่าทัพเกษียณอายุยกแผงทุกเหล่าทัพ ยกเว้นปลัดกระทรวงกลาโหมตำแหน่งเดียว

โดยเก้าอี้ “ผบ.ทบ.” คนใหม่ ข่าวว่าเป็นการชิงกันระหว่าง พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. กับพลเอกสุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.รุ่น 23 ด้วยกัน แต่หลายฝ่ายเชื่อ พล.อ.เจริญชัยจะเข้าป้าย

ส่วนเก้าอี้ “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” แคนดิเดตมีสองชื่อ คือ บิ๊กอ๊อบ-พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทสส. ลูกชาย พล.อ.อิศรพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ. กับ พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร แต่ถึงตอนนี้ดูแล้ว พล.อ.ทรงวิทย์ คงได้ผงาดเป็น ผบ.ทสส.คนใหม่

 “กองทัพเรือ” ปีนี้เบียดกันอยู่สามชื่อคือ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผช.ผบ.ทร. น้องชาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร., พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. และ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ 

 “กองทัพอากาศ” ก่อนหน้านี้ลือกันไปทั่วทัพฟ้าดอนเมือง ว่ารอบนี้คู่ชิงคือ พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รองผบ.ทอ. กับ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสนาธิการทหารอากาศ แต่ก็มีข่าวช่วงโค้งสุดท้าย โผอาจพลิก เพราะ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. เลือกคนที่จะมาเป็นผบ.ทอ.คนไว้แล้ว คือ “พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ.” เพราะหวังให้เข้ามาสานต่อภารกิจ โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ของทัพฟ้าให้เกิดความต่อเนื่อง แม้จะมีข่าวว่าบิ๊กตู่ ในฐานะ รมว.กลาโหม อาจเลือก พล.อ.อ.ชานนท์มากกว่า

ส่วน เก้าอี้ ผบ.ตร. เดิมทีตอนที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ช่วงนั้นรัศมีของ 2 รอง ผบ.ตร. คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก”  กับ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ มาแรงมาก จนเบียดเต็งหนึ่งอย่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ที่เป็นคู่กรณีกับพรรคก้าวไกลเรื่อง “ตั๋วช้าง” กระเด็นหลุดวงโคจร

ทว่า เมื่อเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ทำให้ รัศมี-บารมีของ “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” กลับมาเป็นเต็งหนึ่งอีกครั้ง ที่จะได้นั่งเป็น ผบ.ตร.หนึ่งปี ก่อนเกษียณอายุราชการ

ส่วนระดับ ซี 11 หรือปลัดกระทรวงฯ ที่เกษียณในปีนี้ หลักๆ ก็มีเช่น กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ข่าวว่าเต็งหนึ่งที่มีสิทธิ์ลุ้นจะมาแทน คือ “ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร” ที่เหลืออายุราชการอีกสี่ปี  และผ่านตำแหน่งหลักในกระทรวงการคลังมาแล้ว เช่นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ (สศค.), อธิบดีกรมสรรพสามิต

และยังมี "กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมายาวนาน 5 ปีก็เกษียณเช่นกัน โดยข่าวว่า คู่ชิงเก้าอี้ปลัดพลังงานคนใหม่ คือ ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กับนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

 กระนั้นข่าวบางกระแสบอกว่า ไม่แน่อาจมีการข้ามห้วยเกิดขึ้น หลังมีข่าวลือว่า "ปลัดตุ๋ม-จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ที่เหลืออายุราชการอีกสองปี และถึงตอนนี้เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ มาสี่ปีแล้ว อาจจะเหาะข้ามห้วยมาเป็นปลัด กระทรวงพลังงาน หลังลือกันว่าได้แรงหนุนจาก "เครือข่ายจุฬาคอนเนกชัน” ที่เชื่อมโยงกับ "ทุนพลังงาน” จนเกิดเสียงวิจารณ์อื้ออึง ไปทั่วตึกกระทรวงพลังงาน-ทรัพยากรฯ แม้ที่ผ่านมา จตุพร อดีตสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับ "วงการพลังงาน”เพราะปัจจุบันจตุพรก็มานั่งเป็น บอร์ด-ปตท.นานแล้ว ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ธรรมดา ทำให้จตุพรรู้เรื่องวงการพลังงานเป็นอย่างดี

จนมีกระแสข่าวด้วยซ้ำว่า มีการวางตัวจะดันให้จตุพร ไปนั่งเป็น "รมว.พลังงาน” ในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีขึ้น ถ้า "พรรครวมไทยสร้างชาติ” ได้ร่วมรัฐบาลและได้โควตากระทรวงพลังงาน แต่ช่วงหลังข่าวเริ่มสวิง เพราะข่าวว่า หากรวมไทยสร้างชาติเป็นพรรครัฐบาลและได้โควตากระทรวงพลังงาน ตัวเต็งที่จะมาเป็น รมว.พลังงาน น่าจะเป็นคนเดิมคือ สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ หรือไม่ก็ ณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ทำให้เลยมีข่าว จตุพร-ปลัดตุ๋ม  จะข้ามห้วยไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงานแทน   

นอกจากนี้ ระดับปลัดกระทรวงที่เกษียณในปีนี้ยังมี "บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน" ซึ่งก็ข้ามห้วยเมื่อปี 2564 จากหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มาเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ในยุค สุชาติ ชมกลิ่น เป็น รมว.แรงงาน

และยังมี "นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" ที่เกษียณอายุปีนี้เช่นกัน

อีกทั้ง ตำแหน่งที่สำคัญทางการเมืองและความมั่นคง อีกหนึ่งตำแหน่งในระดับซี 11 ที่เกษียณปีนี้ ก็คือ "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" (สมช.) ที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช.จะเกษียณในปีนี้ ที่ต้องไม่ลืมว่าเลขาธิการ สมช.เป็นหนึ่งในบิ๊กข้าราชการประจำ เพียงไม่กี่หน่วยงานที่จะต้องเข้าร่วมประชุม ครม.ด้วยทุกครั้ง จึงทำให้ตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญทางการเมืองไม่ใช่น้อย ซึ่งฝ่ายเพื่อไทยคงไม่ต้องการให้ พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งทิ้งทวนก่อนอำลาตำแหน่งแน่นอน  

ขณะที่ระดับซี 10 ก็มีหลายตำแหน่งสำคัญที่เกษียณในปีนี้ เช่น "อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์" ซึ่งต้องไม่ลืมว่าหากทักษิณ ชินวัตร กลับมา ก็จะต้องเข้าเรือนจำรับโทษตามคำตัดสินของศาลฎีกา ดังนั้น คนที่จะมาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ ต้องเป็นคนซึ่งทักษิณและเพื่อไทยไว้วางใจสูงมาก ในการให้มานั่งเป็นอธิบดีกรมคุก เพื่อคอยดูแลทักษิณหากกลับมารับโทษ

นอกจากนี้ อธิบดีคนดัง ลูกน้องคนสนิทบิ๊กตู่ "พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์” ก็เกษียณในปีนี้เช่นกัน ซึ่งดูแล้ว หากไม่เกษียณ รัฐบาลเพื่อไทย เข้ามา เสธ.ไก่อูก็คงอยู่ในบัญชีดำ โดนเด้งเข้ากรุแน่นอน

ส่วนที่กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นกระทรวงใหญ่ พบว่า ปีนี้ระดับอธิบดีเกษียณสองตำแหน่ง คือ แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง, บุญธรรม เลิศสุขีเกษม  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเกษียณปีนี้ 17 คน กับผู้ตรวจราชการมหาดไทย 5 คน เป็นต้น

สำหรับกระทรวงอื่นๆ บิ๊กข้าราชการที่เกษียณปีนี้ก็เช่น ปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน, ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน, เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ทำให้เพื่อไทยต้องออกมาดักคอ-ขวางลำ ไม่ให้พลเอกประยุทธ์ และรัฐบาลรักษาการ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในช่วงนี้

เป้าหลักที่เห็นได้ชัดคือ ขวางไม่ให้ "บิ๊กตู่" ทำโผแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ 4 เก้าอี้ และ ผบ.ตร.นั่นเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นับหนึ่ง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ยังขลุกขลัก ‘ย้ายทะเบียนบ้าน’ส่อทำเงินกระจุก

เริ่มแล้ว! อย่างเป็นทางการสำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ เรือธง ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวันแรก 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

14 ส.ค.ชี้ชะตา 'ลุงป้อม-พปชร.' ลุ้นสุดท้ายคดี 'เศรษฐา'

ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ขณะนี้เหมือนจะมี 2 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ พรรคจะควรจะอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ดี เพื่อรักษาสถานภาพที่มีอยู่

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน

“ลุง”กับ“อา”ใจถึงพึ่งได้ เฮือกสุดท้ายใน”บ้านป่า”?

“เปิดต้อนรับนักการเมืองเทรนด์เดียวกัน ที่รสนิยมในเรื่องของ พรรคพวก เพื่อนฝูง พี่น้อง ต้องมาก่อน เรื่องคำมั่นสัญญา การไม่หักหลังกัน เปรียบเหมือน ปฏิญญา-กฎเหล็ก ในการคบหากันของแวดวงคนใจนักเลง”