ตารางกิจกรรมการเมืองวันนี้ ใจจดจ่อที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมติของที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซ้ำเป็นครั้งที่สองในสมัยประชุมเดียวกัน โดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 อย่างไรก็ตาม คณาจารย์ อาจารย์ ประชาชนส่วนหนึ่ง เห็นว่ามติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
แต่ดูเหมือนว่านกรู้การเมืองได้สัญญาณามาแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติออกมาว่ายกคำร้องของผู้ตรวจการฯ จึงไม่แปลกที่ช่วงหยุดยาวที่ผ่านมาบรรดาส.ส. สว. พุ่งเป้าข้ามชอตไปโฟกัสวันที่ 4 ส.ค. ที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา นัดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่สาม แทนที่จะเงี่ยหูฟังมติจากที่ประชุมตุลาการศาลฯก่อน
มี 2 บุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ “ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล” อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า หากพิจารณาข้อกล่าวอ้างในประเด็นเรื่องบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการลงมติของรัฐสภา ถ้าหากจะมีเกิดขึ้นที่เห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่คุณพิธาไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่กลับเป็น สส.และประชาชนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ร้องเรียน
ส่วนอีกคน คือ “เสรี สุวรรณภานนท์” ประเมินว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะยกคำร้อง เพราะประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่การกระทบสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรือกระทบโดยตรง แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง ขณะที่การพิจารณาวินิจฉัยของรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค. นั้นเป็นเอกสิทธิ์ และเป็นไปตามอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติญญัติ ดังนั้นศาลไม่สามารถก้าวก่ายเรื่องดังกล่าวด้วย คิดว่าโดยรวมแล้วจะยกคำร้อง
ฉะนั้น เวลานี้ทุกสายการเมืองมุ่งไปที่ “สมการรัฐบาล”ว่าจะมีพรรคใดร่วมกับพรรคเพื่อไทยบ้าง และการยอมรับในตัวของ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ ที่เพื่อไทยเตรียมไว้เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา!!!
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ชัดๆกับคำพูดของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในนามหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตัดสายสัมพันธ์รักกับพรรคก้าวไกล ว่า “การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียงให้เพียงพอต่อการจัดรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน” ทั้งยังโรยเกลือใส่แผลสดยืนยันพรรคเพื่อไทยจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112
สเต็ปการเมืองข้างหน้าต้องมองถึงตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้มีอยู่สองชื่อ ได้แก่ เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยชั้นนี้ “เศรษฐา” เป็นที่พูดถึงกันมาก แต่ดูแล้วชื่อนี้จะไม่ค่อยถูกใจ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” เจ้าพ่ออ่างจอมแฉ เตรียมรับมีดเชือด “เสี่ยนิด” เศรษฐา เปิดโปงมีพฤติการณ์นิติกรรมอำพรางเลี่ยงภาษีทำให้รัฐสูญเงินภาษี 500 ล้านบาท
ด้วยประการนี้ “สว.” ซึ่งเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในการโหวตนายกฯ มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง “จเด็จ อินสว่าง” สว. ตั้งแท่นว่า สว. มีหน้าที่ต้องโหวตเลือกนายกฯ โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา160 ที่ผู้ถูกเสนอชื่อต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ชื่อนายเศรษฐา ยังมีข้อน่าสงสัยตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ระบุเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ถ้าเป็นเช่นนี้สว.จะรับรองได้อย่างไร
ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ได้เสียงข้างมากแล้วสว.ต้องเลือก แต่สว.ต้องเลือกนายกฯที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นการโหวตเลือกนายกฯวันดังกล่าว ประธานรัฐสภาต้องให้นายเศรษฐาแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภามีโอกาสซักถาม จะให้สว.เลือก โดยไม่แสดงวิสัยทัศน์ไม่ได้
ขณะที่อีกฝ่าย “วันชัย สอนศิริ” สว. ดูเหมือนจะไร้ข้อกังวลในตัว “เศรษฐา” เขาแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ข้อร้องเรียนของนายชูวิทย์ยังไม่ได้ถึงชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เรื่องถึงกกต. และศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่แน่นอนว่า “เศรษฐา” จะได้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ เพราะการเมืองไทยต้องดูแบบสเต็ป บาย สเต็ป หนึ่ง จับตาพรรคการเมืองใดจะร่วมกับเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลบ้าง
ถ้ารวมเสียงของสส. ปิดสวิตสว. ได้ไม่ถึง 375 เสียง เกมก็จะพลิกกลับมาที่สภาสูงอีกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เปิดภารกิจ 'กิตติรัตน์' ในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ทำหลุดเก้าอี้ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ'
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ มีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
พ่อบงการ ลูกตามสั่ง
“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.
ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน