โหวตนายกฯ 4 ส.ค. นับถอยหลังฉีก MOU?

วันพุธที่ 2 ส.ค. หากไม่มีการเลื่อนนัดออกไปอีก ก็จะมีการประชุมแกนนำ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ณ พรรคเพื่อไทย ตามที่  แกนนำพรรคเพื่อไทยประกาศไว้

แม้จะพบว่า คนในพรรคก้าวไกลบอกไว้ในช่วงบ่ายวันที่ 1 ส.ค.ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคเพื่อไทยให้ร่วมประชุมดังกล่าว แต่หากการประชุมเกิดขึ้น ไม่มีการยกเลิก การพูดคุยระหว่างแกนนำ 8 พรรคการเมืองจะเป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลและความชัดเจนในการโหวตนายกรัฐมนตรี วันศุกร์ที่ 4 ส.ค.

ล่าสุด ช่วงเย็นวันที่ 1 ส.ค. ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกำหนดการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีขึ้นวันใด ว่า ยังอยู่ในกระบวนการนัดหมาย ทางผู้ประสานงานยังไม่ได้แจ้งมาให้ทราบ จึงยังไม่รู้ว่า 8 พรรคจะประชุมกันวันไหน หากทราบแล้วจะมีการแจ้งให้สื่อทราบต่อไป

เบื้องต้น แกนนำเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ที่เป็น 1 ใน 3 คีย์แมนพรรคที่อยู่ในคณะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลบอกว่า จะนำข้อสรุปจากการที่ตัวแทน-แกนนำพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาร่วมพูดคุยกันที่พรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ 22-23 ก.ค. ที่ประกอบด้วย ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนากล้า ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทุกพรรคการเมืองประกาศไม่สามารถร่วมงานการเมืองกับ พรรคก้าวไกล ได้ เพราะติดขัดเรื่องท่าที-นโยบายพรรคก้าวไกลที่จะแก้ไขมาตรา 112

รวมถึงจะนำสิ่งที่แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ไปพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ท่าทีของ สว.ต่อการโหวตนายกฯ ที่ก็คือ สว.จำนวนไม่น้อยบอกว่า หากยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วยในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่สามารถโหวตสนับสนุนคนของเพื่อไทย ให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้

จุดที่น่าสนใจคือ เมื่อแกนนำเพื่อไทยบรีฟข้อหารือทั้งหมดต่อที่ประชุมแกนนำ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ละพรรคจะมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะที่ต้องจับตามองมากที่สุดก็คือ พรรคก้าวไกล จะแสดงอาการอย่างไร

กระนั้นก็มีการประเมินว่า ฝ่ายก้าวไกลก็อาจไม่แสดงท่าทีอะไรออกมา เพื่อรอหยั่งเชิงการเมืองเพื่อไทยก่อนว่าจะทิ้งไพ่อะไรออกมา เพราะข้อสรุปข้างต้น ก้าวไกลก็รับรู้อยู่แล้วจากข่าวที่ปรากฏออกมา แต่สิ่งที่ก้าวไกลต้องการรู้มากกว่าก็คือ แล้วเพื่อไทยจะเดินหน้าโหวตนายกฯ วันที่ 4 ส.ค. ด้วยสูตรจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน นี่คือคำตอบที่ก้าวไกลต้องการจะรู้จากปากของแกนนำเพื่อไทยต่อหน้ากันไปเลย ก่อนที่จะไปถึงวันโหวตนายกฯ

หลังที่ผ่านมามีกระแสข่าว-รายงานข่าว สูตรตั้งรัฐบาล-ดีลฮ่องกง ออกมาต่อเนื่อง ที่ส่วนใหญ่จะออกมาในโทน บีบก้าวไกล ให้ออกไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ประชุมแกนนำ 8 พรรคตั้งรัฐบาล เมื่อได้เห็นหน้าค่าตากันแล้ว การได้รู้จากปาก ได้เห็นท่าทีของกันและกัน มันจะทำให้ก้าวไกลประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง ไม่อยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำ วันที่ 4 ส.ค.

เพราะในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา กระแสข่าวก้าวไกลจะถอยไปเป็นฝ่ายค้าน แต่จะยกมือให้ เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขอเพียงให้การจัดตั้งรัฐบาลอย่ามีพรรค 2 ลุง คือ พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย ลือกันหนาหูมากทางการเมือง โดยเฉพาะหลังเสร็จสิ้นการจัดงาน วันเกิดทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกง เมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นการจัดงานที่มีคนของเพื่อไทยระดับคนใกล้ชิดทักษิณ-คีย์แมนพรรคตัวจริง เดินทางไปร่วมงานจำนวนมาก และเมื่อกลับมาแล้วก็เกิดกระแสข่าวดังกล่าวลือว่อนในแวดวงการเมือง ที่จนถึงป่านนี้ คนที่อยู่ในข่าวที่อยู่ในฝ่ายก้าวไกลเองอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ยังไม่ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่าไปคุยกับทักษิณที่ฮ่องกงและคุยกันเรื่องสูตรตั้งรัฐบาลดังกล่าว

ทั้งนี้ กระแสข่าวสูตรตั้งรัฐบาลที่ลือกันว่า มาจากวงกินข้าววันเกิดทักษิณที่ฮ่องกง ที่คนพูดกันมากก็คือ เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาล โดยจะมีพรรคการเมืองที่อยู่ในปีก 8 พรรคการเมืองตั้งรัฐบาลมาอยู่ด้วยกับเพื่อไทยก็คือ พรรคประชาชาติ 9 เสียง เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และเสรีรวมไทย 1 เสียง ส่วนพรรคไทยสร้างไทย อาจมีแนวโน้มว่าเพื่อไทยจะไม่ดึงมาร่วมรัฐบาลด้วย แต่จะไปดึงพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเวลานี้เติมเข้ามาคือ พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 19 เสียง ที่อยู่ในปีกของ เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง แกนนำพรรคภาคใต้ ที่เรียกกัน กลุ่มบ้านดาวล้อมเดือน เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลก่อนเป็นกลุ่มแรก หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า เดชอิศม์บินไปคุยกับทักษิณที่ฮ่องกงเช่นกัน แม้จะมีการให้โฆษกพรรคออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว

โดยกระแสข่าวสูตรตั้งรัฐบาลข้างต้น รวมเสียง สส.แล้วได้ประมาณ 265 เสียง แต่ตอนโหวตนายกฯ จะมี สส.ก้าวไกล 151 เสียง ที่แม้จะหลุดไปเป็นฝ่ายค้าน แต่พร้อมยกมือโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เพื่อขับเคลื่อนกลไกประชาธิปไตย-ปิดสวิตช์ สว.ไปในตัว รวมทั้งหมด เศรษฐาอาจจะได้รับเสียงโหวตประมาณ  406 เสียง อันนี้เฉพาะแค่กรณี เสียง สส. ไม่ต้องพึ่งเสียง สว. แต่หากเพื่อไทยต้องการให้เสถียรภาพรัฐบาลแน่นขึ้น หลังโหวตนายกฯ เสร็จ พอเศรษฐาได้เป็นนายกฯ แล้ว ก็อาจต้องไปดึงบางพรรค เช่น พลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาล แต่มีเงื่อนไขว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องไม่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเงื่อนไขนี้บิ๊กป้อมน่าจะไม่ขัดข้อง เพราะได้วางตัวน้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ให้มารับไม้ต่อทางการเมืองแล้ว เห็นได้จากการตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ

แต่สูตรตั้งรัฐบาลดังกล่าวก็ยังเป็นแค่กระแสข่าว และแวดวงการเมืองมองว่า สูตรนี้ตกไปแล้ว เพราะ สส.ก้าวไกลหลายคนคงไม่เล่นด้วย แต่ก็ทำให้มีควันหลงที่เป็นปฏิกิริยาการเมืองจากคนในพรรคก้าวไกลที่ไม่พอใจ ที่มีข่าวกดดันให้ก้าวไกลถูกผลักออกจาก 8 พรรคตั้งรัฐบาล ถึงขั้นคนในพรรคก้าวไกลบางคนบอกว่า ก้าวไกลคงไม่โง่ถึงขนาดไปโหวตให้คนของเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ แล้วตัวเองเป็นฝ่ายค้าน   

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่าสูตรตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยในช่วงเย็นวันที่ 1 ส.ค.ว่า เพื่อไทยอาจดึงพลังประชารัฐมาร่วมตั้งรัฐบาล โดยจะไม่มีพลเอกประวิตรเป็นรัฐมนตรี ซึ่งบิ๊กป้อมจะให้น้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นรัฐมนตรีแทน ส่วน 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลที่จะหลุดไปเป็นฝ่ายค้านคือ ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย-เป็นธรรม เป็นต้น แต่โผดังกล่าวก็ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว อาจพลิกอีก เพราะแรงต้านจากคนในเพื่อไทยต่อพลังประชารัฐยังแรงอยู่ แม้แต่เศรษฐาก็ดูจะไม่เห็นด้วย 

ความไม่นิ่งของสูตรตั้งรัฐบาลที่เพื่อไทยเป็นแกนนำ ที่ดูแล้ว อาจมีการสับขาหลอกกันหลายรอบ แต่ที่เห็นชัด ยิ่งการตั้งรัฐบาลยืดเยื้อออกไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ใน 8 พรรคตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะ เพื่อไทย-ก้าวไกล ยิ่งเกิดรอยร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

 ซึ่งจุดหนึ่งต้องยอมรับว่า เพื่อไทยก็อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เพราะไม่ว่าจะตั้งรัฐบาลสูตรไหน ย่อมมีคนไม่พอใจ-คนเสียประโยชน์ โดยเฉพาะหากจะถีบพรรคก้าวไกลออกจากการตั้งรัฐบาล เพื่อไทยและทักษิณก็ต้องโดนถล่มจากฝั่งก้าวไกล-ด้อมส้ม รวมถึงกองเชียร์เพื่อไทยด้วยกันเองบางส่วน ที่ไม่ต้องการให้ตั้งรัฐบาลกับพรรคปีกรัฐบาลปัจจุบัน แต่ครั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ยังจะกอดกัน 8 พรรค 312 เสียงเหมือนเดิม การโหวตนายกฯ วันที่ 4 ส.ค. ตัวเศรษฐา ทวีสิน ก็คงได้เสียงไม่ถึง 375 เสียง และหากจะตั้งรัฐบาลโดยมี งูเห่า จากบางพรรคการเมืองมาโหวตให้เศรษฐาอย่างที่มีกระแสข่าว ทั้งที่พรรคต้นสังกัดไม่ได้มีมติออกมา ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะทำให้การขึ้นเป็นนายกฯ ของเศรษฐาก็ขาดความสง่างามทางการเมือง หลังที่ผ่านมาเพื่อไทยโจมตีพฤติการณ์งูเห่ามาตลอด แต่สุดท้ายตัวเองก็เอาด้วย เพื่อจะได้ตั้งรัฐบาลสำเร็จ  

และยังมีกรณีท่าทีของ สว.บางส่วนที่เกรงว่า หากโหวตเลือกคนของเพื่อไทยเป็นนายกฯ ไปแล้ว โดยตอนที่โหวตเลือกไม่มีก้าวไกลเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลด้วย แต่พอคนของเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ เสร็จ อาจจะไปดึงก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลภายหลัง ซึ่งถึงตอนนั้น สว.ก็ทำไม่ได้ เลยทำให้ สว.บางคนออกมาตั้งแง่กับเศรษฐา เหมือนกับเกรงสภาสูงจะเสียรู้ โดน เพื่อไทย-ก้าวไกล ตลบหลัง

สุดท้ายแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะคลอดออกมาแบบไหน และจะสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ฝ่ายเพื่อไทยแล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งคาดว่าหากมีการโหวตนายกฯ 4 ส.ค. ไม่มีการเลื่อน คืนวันที่ 3 ส.ค. ทักษิณและแกนนำเพื่อไทยคงต้องเคาะโต๊ะ ปิดดีล เสียที หลังยืดเยื้อมานาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567