แฟ้มคดีร้อน "ศาลรธน." “ก้าวไกล” แก้ 112 จุดไคลแมกซ์

การเมืองไทยสัปดาห์นี้ หลังจากพ้นช่วงหยุดยาวราชการ 6 วัน จุดพีกจะอยู่ที่ 2 จุด แต่จะมีความเชื่อมโยงทางการเมืองถึงกัน นั่นก็คือ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ กับ รัฐสภา

เพราะวันพฤหัสบดีที่ 3 ส.ค. จะเป็นวันที่ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมประจำสัปดาห์ โดยเลื่อนมาจากที่ปกติประชุมทุกวันพุธ แต่เนื่องจากรอบนี้ตรงกับวันที่ 2 ส.ค.ที่เป็นวันหยุดราชการ เลยมาประชุม 3 ส.ค.แทน

วงประชุมนัดดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่หลายคนสนใจก็คือ การรอฟังว่า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะ

รับคำร้อง-ไม่รับคำร้อง

เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 19 ก.ค.ที่มีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้อีก หากรอบแรกชื่อไม่ผ่านความเห็นชอบ เป็นมติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อที่ 41 หรือไม่ อีกทั้งในคำร้องยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวจนสะเด็ดน้ำ

 โดยหากศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย ถึงแม้ต่อให้ไม่มีการสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตนายกฯ แต่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่า หากศาลรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นกระแสความ แต่หากศาล รธน. ไม่รับคำร้อง ก็จะทำให้การประชุมร่วมรัฐสภา วันศุกร์ที่ 4 ส.ค. ก็จะมีการเดินหน้า โหวตนายกฯ กันทันที เพราะได้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในระเบียบวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อย

 จับกระแสการเมืองก่อนถึงวันประชุมตุลาการศาล รธน. 3 ส.ค. พบว่า แวดวงการเมืองและนักกฎหมายมหาชน รวมถึงอดีตตุลาการศาล รธน. ตลอดจนบรรดา สส.และ สว.หลายคน คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า ศาล รธน.น่าจะไม่รับคำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัย ด้วยเหตุผลเป็นเรื่องการดำเนินการของสมาชิกรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และเป็นเรื่องที่มีการลงมติไปแล้ว ศาล รธน.จึงไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะจะไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ

 และอีกแนวทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ ศาล รธน.อาจรับคำร้องไว้ก่อน แล้วก็เร่งวินิจฉัยภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ จากนั้น ก็น่าจะยกคำร้อง แต่ถ้าจะออกมาแนวทางหลังจริง ก็น่าจะไม่รับคำร้องตั้งแต่แรกไปเลย

 หลายคนจึงยังมองว่า มีโอกาสไม่น้อยที่ศาล รธน.ไม่น่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพื่อที่รัฐสภาจะได้เดินหน้าตัดสินใจเรื่องเลือกนายกฯ ไปเลย ไม่ต้องมารอศาล รธน.

แต่สุดท้ายแล้ว เสียงส่วนใหญ่ของ 9 ตุลาการศาล รธน.จะมีดุลยพินิจในคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างไร ก็ต้องรอดูกัน 3 ส.ค.นี้

 สำหรับ ศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าช่วงนี้มีคำร้องหลายคดีที่เป็นเรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ที่เข้าสู่สารบบการวินิจฉัยของตุลาการศาล รธน.และอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นคำร้อง คดีหุ้นสื่อไอทีวี ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังได้รับคะแนนนิยมสูงในขณะนี้ ที่กระบวนการทางคดีตอนนี้อยู่ระหว่างที่พิธา-ทีมทนายความกำลังยกร่าง คำชี้แจงข้อกล่าวหา เพื่อสู้คดีว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว อีกทั้งหุ้นที่ครอบครองไว้ก่อนที่จะโอนไป ก็เป็นการครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก

คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่พิธาจะขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาออกไปหลังครบกำหนด 15 วัน เพื่อใช้สิทธิ์ในการสู้คดีให้เต็มที่

รูปคดีหุ้นสื่อของพิธา อ่านสถานการณ์ไว้ว่า มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ศาล รธน.อาจจะเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเรียกพิธาและผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวน เช่น ผู้บริหารของไอทีวีในปัจจุบัน เพื่อซักถามถึงสถานะของไอทีวี ในช่วงพิธาถือครองหุ้นไว้ก่อนโอนหุ้น เป็นต้น  

 โดยมีความเป็นไปได้ที่คำร้องคดีหุ้นสื่อของพิธา กว่าศาล รธน.จะวินิจฉัยเสร็จ ก็น่าจะประมาณช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งหากพิธาไม่รอด ก็จะต้องพ้นจากการเป็น สส.อย่างเป็นทางการทันที และอาจมีดาบสองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาในการเอาผิดพิธาในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 กรณีลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.โดยที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ

และอีกหนึ่งคำร้องที่เกี่ยวข้องกับ พิธา-พรรคก้าวไกล ก็คือ คำร้องคดีที่ทาง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.....เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยพบว่าหลังศาล รธน.รับคำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัยเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

 ล่าสุด พรรคก้าวไกลได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาออกไปหลังครบกำหนด 15 วันที่ต้องส่งคำชี้แจง

มีการคาดหมายไว้เช่นกันว่า ไม่แน่คำร้องคดีนี้ ศาล รธน.อาจเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้อง คือพิธาและพรรคก้าวไกล มาชี้แจงข้อกล่าวหากลางห้องพิจารณาคดีของศาล รธน. รวมถึงอาจจะเรียกพยานบุคคลที่ศาลเห็นสมควรมาให้ถ้อยคำเพื่อต้องการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ของพิธาและพรรคก้าวไกลตามคำร้อง มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่

เบื้องต้น ธีรยุทธ-ผู้ยื่นคำร้อง วิเคราะห์ไว้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่าย คือตัวผู้ร้อง คือตนเอง กับผู้ถูกร้อง คือพรรคก้าวไกลและพิธา นำพยานหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าสู่การพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความแรงของเนื้อหาในคำร้องคดีนี้มีมาก สังคมจับจ้อง

“ประเมินจากกระบวนการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งการให้ฝ่ายผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาภายใต้กรอบ 30 วัน และกระบวนการต่างๆ ในการไต่สวนของศาล ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 45-60 วัน ก็คาดว่าประมาณปลายเดือนตุลาคมอาจจะได้เห็นอะไรบางอย่าง” ผู้ร้องคดีแก้ 112 ของพรรคก้าวไกลคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ธีรยุทธ-ผู้ร้องคดีแก้ 112 ของพรรคก้าวไกล ยังบอกไว้ด้วยว่า รูปคดีนี้หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดเรื่องมาตรา 112 ศาลจะวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และจะมีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในวันข้างหน้าหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเข้าข่าย ก็อาจเห็นควรมีคำสั่งให้หยุดการกระทำต่างๆ ตามที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาล

“หากเป็นเช่นนั้น เหตุผลจากคำวินิจฉัยว่าพฤติกรรมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และอาจเป็นการล้มล้าง เหตุผลดังกล่าวนั้นจึงจะเป็นหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นเหตุอันควรยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเป็นคำร้องดอกสองต่อไป”

 เห็นแบบนี้ก็พอคาดการณ์ได้ล่วงหน้าได้ว่า หากผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคำร้องคดีพิธาและคดีแก้ไขมาตรา 112 ออกมา โดยที่ผลทางคดีไม่เป็นคุณกับพิธาและพรรคก้าวไกล

รับรองได้ว่า ด้อมส้มทั้งหลายย่อมเดือดดาลและแค้นหนัก จนจัดทัวร์ลงชุดใหญ่ที่ศาล รธน.แน่นอน!!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

'วิโรจน์' บอก 7 ส.ค. ผลออกมา ต้องมีคำอธิบายที่ปชช.เข้าใจได้

'วิโรจน์' บอกตามตรง 7 ส.ค. ก็แค่วันปกติ ยัน ไม่ตื่นตระหนก แต่ไม่ประมาท 'คดียุบก้าวไกล' หากผลเป็นลบ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ภายใต้กรอบนิติรัฐ-นิติธรรม