เลื่อนโหวตนายกฯ 27 ก.ค. ต่อลมหายใจ'พท.'ตั้งรัฐบาล

.เป็นไปตามคาดกับการที่มีการเลื่อนประชุมรัฐสภาเพื่อ โหวตนายกรัฐมนตรี ออกไปจากเดิมที่จะต้องโหวตกันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค.นี้

หลังพบว่าสถานการณ์ตอนนี้ ทั้งใน เชิงการเมืองและเชิงข้อกฎหมาย ติดล็อกหลายจุด ทำให้เกิดสภาพอึมครึมในการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตนายกฯ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ กำลังเข้าถึงมุมอับ

เพราะถึงตอนนี้ พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก สส. ที่ไม่ได้อยู่ในพรรคการเมือง8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลมาเพิ่มได้ ยังคงมีแค่ 311 เสียงเหมือนเดิม แต่การโหวตนายกฯ จะต้องได้เสียงเห็นชอบ 375 เสียง เพราะหลายพรรคการเมืองที่ส่งเทียบเชิญมาคุย ทั้งภูมิใจไทย-ชาติพัฒนากล้า-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา-พลังประชารัฐ รวมถึงประชาธิปัตย์ 25 เสียง ที่แม้จะไม่ได้ไปร่วมพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะประชาธิปัตย์ไม่มีผู้นำพรรคตัวจริงในเวลานี้ แต่ประชาธิปัตย์ก็แสดงออกเหมือนกับพรรคอื่นๆ คือยังคงตั้งป้อมไม่ร่วมสังฆกรรม-ไม่ร่วมโหวตสนับสนุนให้คนที่เพื่อไทยเสนอชื่อเป็นนายกฯ หากยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย ด้วยเหตุผล ไม่เอาด้วยกับการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล

ขณะเดียวกันสุ้มเสียงในสภาสูง แม้แกนนำพรรคเพื่อไทยจะมีการเปิดดีลขอคุยกับ สว.หลายคน แต่ก็ได้เสียงสนับสนุนไม่เยอะ คือมีมากกว่า 13 เสียงที่เคยโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่ข่าวว่าต่อให้เบ่งเต็มที่ก็ได้เสียง สว.มาเพิ่มไม่เกินระดับ 30 คน จากที่ต้องได้ประมาณ 64 เสียง กรณีไม่สามารถหาเสียง สส.มาเพิ่มได้

ส่งผลให้การหาเสียงมาสนับสนุนคนของเพื่อไทยขึ้นเป็นนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทยจึงยังไม่มั่นใจว่าจะได้ถึง 375 เสียง เพราะติดล็อกไปทุกทาง

จนมีข่าวว่าแกนนำเพื่อไทยต้องการให้มีการเลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไปเป็นสัปดาห์หน้า เพื่อขอเวลาในการตัดสินใจมากขึ้นว่าจะตั้งรัฐบาลสูตรไหน

สิ่งที่เพื่อไทยต้องการก็พอดีกับมติผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อ 24 ก.ค. ให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 19 ก.ค. ที่ลงมติด้วยคะแนนเสียง 395 เสียง ไม่ให้มีการเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำได้เป็นครั้งที่สอง หากเสนอรอบแรกแล้วได้เสียงเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อให้วินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการโหวตเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 หรือไม่ พร้อมกับขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอหรือเลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ที่ล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการนำคำร้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 26 ก.ค.นี้หรือไม่?

 ข่าวบางกระแสก็บอกว่าไม่น่าจะทัน แต่บางกระแสก็บอกว่าไม่แน่ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และมีผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้การโหวตนายกฯ ของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ต้องมาสะดุดลง หรือต้องรอนาน จะได้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็อาจนำคำร้องมาเพื่อพิจารณาไปเลยว่าจะ

รับ-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

แต่หากคำร้องดังกล่าวยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสัปดาห์นี้ ก็อาจเป็นสัปดาห์หน้าก็ได้

จากทั้งสองเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะตัดสินใจงดการประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ 27 ก.ค. เพราะอย่างน้อย ตัวประธานรัฐสภาก็จะได้ลดความเสี่ยงของตัวเองด้วย หากจะมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาโหวตนายกฯ แล้วเกิดมีปัญหาทางข้อกฎหมายตามหลังมา จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 ขณะที่ในทางการเมือง ทำให้ การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมือง ลดทอนความตึงเครียดลง มีเวลาหายใจหายคอมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีการประเมินว่ามีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจ ไม่รับคำร้อง ของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้วินิจฉัยก็ได้ เพราะมองว่ามติของที่ประชุมรัฐสภาดังกล่าวสำเร็จแล้ว และเป็นการใช้อำนาจของเสียงส่วนใหญ่ ตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามโครงสร้างระบอบการปกครองฯ ที่แบ่งออกเป็นสามฝ่าย คือ บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจพิเศษลักษณะองค์กรศาล จึงไม่ควรไปก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ลักษณะประชาธิปไตยผ่านตัวแทน (representative democracy)

คนจึงมองว่าหากศาลไปรับคำร้องไว้วินิจฉัย แล้วต่อมามีคำวินิจฉัยใดๆ โดยเฉพาะในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับมติดังกล่าว มันอาจขัดกับ หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ขึ้นได้

ผนวกกับมีการไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญฯ ก็พบว่าไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีผลบังคับใช้แล้วได้ ทำได้แค่พิจารณากรณีที่ยังเป็นแค่ร่างข้อบังคับเท่านั้น ดังนั้นหากศาลไปพิจารณาก็อาจเป็นการพิจารณาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ

ยิ่งการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาล​กำหนดการชะลอพิจารณานายกฯ ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ​จะมีคำวินิจฉัย ก็มีการมองกันว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับลูกแล้วออกคำสั่งดังกล่าว จะเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ที่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย หากศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการทางศาล (Courts) ไปก้าวล่วง-สั่งการฝ่ายนิติบัญญัติที่อยู่ในโครงสร้างระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ที่อาจเป็นการใช้เขตอำนาจแบบล้ำเส้น

อันแตกต่างจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ สส.หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ เช่นกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นการสั่งโดยมีกฎหมายรองรับที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน และเป็นการสั่งกรณีเป็นตัวบุคคล ไม่ใช่การสั่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติใช้อำนาจหรือไม่ใช่อำนาจที่ตัวเองมี กระทำหรือไม่กระทำการใดๆ

จึงมีการประเมิน วิเคราะห์กันจากบางฝ่าย เช่น จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปฏิบัติหน้าที่มาร่วม 11 ปี ที่วิเคราะห์ว่า คำร้องดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดินอาจออกมาสองแนวทาง คือ

1.ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับคำร้อง เพราะไม่เข้าข่ายที่จะรับเรื่องไว้วินิจฉัยได้ ที่ก็จะทำให้คำร้องตกไป ทางรัฐสภาก็เดินหน้าประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ไปตามปกติ

2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่สุดท้ายจะยกคำร้อง

 ด้วยเหตุผลเรื่องข้อกฎหมาย และเรื่องขอบเขตการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่สามารถก้าวล่วงกิจการภายใน หรือการใช้อำนาจของรัฐสภาผ่านรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้ โดยตอนรับคำร้องก็ไม่น่าจะมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอดูว่า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบัน จะเห็นด้วยกับแนวทางการวิเคราะห์ของนายจรัญดังกล่าวหรือไม่ โปรดติดตาม?

กระนั้น ถึงต่อให้ผลคำวินิจฉัยออกมาแบบพลิกล็อก คือศาลรับคำร้องและมีคำวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ สามารถเสนอชื่อซ้ำได้หากรอบแรกไม่ผ่าน

ถ้าออกมาแบบนี้ มองดูแล้วมันก็ไม่มีผลต่อพิธา เพราะ สว.คงไม่เปลี่ยนใจมาโหวตให้พิธาจนเสียงถึง 375 เสียงอยู่ดี แต่มันจะมีผลกับเพื่อไทยมากกว่าหากออกมาแบบนี้

เพราะจะทำให้เพื่อไทย ถ้าจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ชิงนายกฯ ก็เท่ากับจะเสนอได้สองครั้ง

 ทำให้การเดินเกมโหวตนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยจะเปลี่ยนไปทันที.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เก้าอี้“สมช.”ของร้อนชินวัตร จัดแถว“ตัวจริง-ตัวสำรอง”

เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และต้องกระทำการอย่างรอบคอบในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้ต้องใช้เวลาในตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบ

นายกฯเคาะเลือก'ผบ.ตร.'คนที่ 15 ฟ้าไม่ผ่าปทุมวัน คอนเฟิร์ม'บิ๊กต่าย'

การแต่งตั้งโยกย้ายหน่วยงานความมั่นคงระดับสูงเสร็จไปเกือบทุกหน่วย โดยเฉพาะเหล่าทัพ วันที่ 1 ต.ค.เริ่มงานได้ทันที เหลือเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ต้องเริ่มคัดเลือกตัว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 แทนที่ “บิ๊กต่อ”-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ที่เกษียณอายุราชการหลังวันที่ 2 ต.ค.นี้

ถาม ‘พิชัย’ ตรงๆ ใครเห็นหัวคนรากหญ้ามากกว่ากัน ‘พท.’ หรือ ‘แบงก์ชาติ’

การแจกเงินของพรรคเพื่อไทยจึงไม่เพียงแต่เป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ใช้สร้างความนิยมและรักษาฐานเสียง

จัดทัพสิงห์มท.-วัดใจ "บิ๊กป๊อป"รื้อโผ"ปลัดเก่ง"? อนุทิน-มท.1ลั่นไม่เอาตั๋วฝาก 

วันจันทร์นี้ 30 ก.ย. เป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 ที่ก็คือวันสุดท้ายในการทำงานของข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่อายุครบ 60 ปีต้องเกษียณจากตำแหน่ง

'นิด้าโพล' เปิดคะแนนนิยมการเมืองรอบใหม่ 'อุ๊งอิ๊ง' นำโด่ง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป