ปิดดีลที่'นายกฯคนนอก' เจรจาแค่หน้าฉากการเมือง?

ณ วันนี้นักวิเคราะห์ทั้งหลายคงมองภาพทางการเมืองแบบ พะอืดพะอม ที่ยังไม่เห็นสมการอำนาจที่แท้จริงหลังการเลือกตั้ง เพราะการจับขั้วทางการเมืองยังอ้างประชาชน และหลักการในการเจรจาความจัดตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนจากพรรคก้าวไกลมายังพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งจะปิดฉาก "ดีลรักข้าวต้มมัด" ไปหมาดๆ นั้นดูปลอมเกินไป

ภารกิจในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในการพรรคที่ 9 และ 10 เข้ามาร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าต่อไป หลังจากได้ข้อสรุป 3 ข้อ เมื่อก้าวไกลยกหน้าที่การฟอร์มรัฐบาลไปให้ แถมมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ทะลุกลางปล้องในเวทีแถลงข่าวออกมาว่า ต้องมีผู้เสียสละ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินไปได้ เพราะทราบดีกันอยู่แล้วว่าพรรคที่จะไปเจรจานั้นยืนยันชัดเจนไม่เอาพรรคก้าวไกล โดยมีการใช้การแก้ไข ม.112 เป็นข้ออ้างเท่านั้น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ตั้งใจจะเชิญทุกพรรค ยกเว้นบางพรรคที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าเรามีเสียงพอเพียงแล้ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องเจรจา ส่วนพรรคพลังประชารัฐกำลังดูว่ามีแนวทางที่จะพูดคุยกันได้หรือไม่

น่าสนใจว่า ในวงแรกของการเชิญ กลับมีชื่อของภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า และชาติไทยพัฒนา โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ไม่มีพรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์

อาจเป็นเพราะว่ามีผู้มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย “จิ้ม” แล้วว่าพรรคไหนที่มีการคุยจบไปแล้ว ขณะที่พลังประชารัฐยังมีลุง และเคยมีเงื่อนไข พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ ซึ่งคงรับได้ยาก ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังมีปัญหาภายใน เพราะมีแนวทางในการร่วมรัฐบาลต่างกันระหว่างฝ่ายที่มี ส.ส.ในมือ และฝ่ายผู้นำจิตวิญญาณ

ตัวเชื่อมที่สำคัญใน "ดีล” นี้น่าจะมีความเชื่อมโยงกับแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงสามารถปิดจ๊อบได้โดยไร้รอยต่อ เพราะทั้ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่เคยสวมบทแกนนำ กปปส. จัดหนักวิพากย์ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาแล้วในม็อบนกหวีด

สอดคล้องกับการแฉภาพ “ดีลลับลังกาวี” ที่มีชื่อนายทหารคนดัง “ด.” ในเที่ยวบินพิเศษ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับแกนนำของรวมไทยสร้างชาติและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่พรรคก้าวไกลก็คงรู้ดีว่า “เกม” ดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาล “ลุง” จะถูกดึงเข้ามาด้วยเงื่อนไขที่ตัวเองได้ประโยชน์ ทั้งการแบ่งเค้กกระทรวงต่างๆ และพรรคก้าวไกลต้องถูกถีบจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะ “ดีเอ็นเอ” เข้ากันไม่ได้

ถ้าจะร่วมรัฐบาลแล้วมาพูดเรื่องตัวเลข โครงการ ตั๋วช้าง ตั๋วเด็ก เหมือนที่นักการเมืองในอดีตทำกันอยู่ก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงไม่ควรอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ หรือดีที่สุดคือ อยู่แบบไม่มีบทบาท ตามที่ เสรีพิศุทธ์” ระบุ 

ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แกนนำพรรคก้าวไกล ต้องออกมาบอกว่า “เมื่อเขาหน้าด้าน เราต้องหน้าด้านกว่า" และไม่ยอมออกจากการร่วมรัฐบาล พร้อมฟังข้อเสนอของพรรคที่เข้ามาเพิ่มว่าต้องการให้ปรับการแก้ไข ม.112 อย่างไร เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้วเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงในการถีบหัวส่ง

พรรคเพื่อไทยจึงต้องยืมมือเหล่าบรรดาพรรคที่เติมเข้ามาแถลงข่าวแสดงจุดยืนว่า ไม่เอาก้าวไกล ให้ชัดๆ จะได้ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนในเวลาที่แกนนำเพื่อไทยนำเงื่อนไขดังกล่าวไปบอกก้าวไกล และจัดทัพเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลรวมเสียง เพื่อเสนอ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ ตามธงที่ใส่ลงไปในกระแสข่าว

จากการเปิดประเด็นของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย บอกกับนักข่าวว่า คนที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในฐานะแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยคือ “อานิด” เศรษฐา ทวีสิน เหมือนเป็นอาญาสิทธิ์ที่ทุกคนในพรรคไม่ต้องตอบรับหรือปฏิเสธ หรือเอาชื่อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติ เพราะนี่คือการส่งสัญญาณชัดว่าหมากต่อไปที่ถูก “กดปุ่ม” ให้แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องแสดง คือการเสนอชื่อ “เศรษฐา”

แต่กว่าจะถึงวันที่ 27 ก.ค.2566 วันที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดประชุมเพื่อเลือกนายกฯ รอบที่ 3 จะเกิด “ความพิลึกพิลั่น” ทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นอีก

ขั้นตอนหลังจากนี้ “พรรคเพื่อไทย” นำความต้องการของพรรคการเมืองที่จะเจรจาเสียงเข้ามาเติม นำกลับไปบอกที่ประชุม 8 พรรคร่วมถึงเป้าหมายว่า พรรคเหล่านั้นไม่ต้องการพรรคก้าวไกล คำตอบในวันนั้นจะเป็นอย่างไร    จะมีการเสียสละ หรือ จะมีการเชิญให้ออก หรืออาจมีอภินิหารอื่นๆ ในการทำให้ก้าวไกลต้องหลุดจากการเป็น 8 พรรคร่วมเอง

และในที่สุดก็จะเดินเข้าสู่ นิติสงคราม อีกรอบ จากกรณีที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ทนายความของพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า 7 พรรคร่วมจะใช้วิธีใดสลัด “ก้าวไกล” ให้หลุดจากสมการ หรือให้คาอยู่อย่างนี้ โดยก้าวไกลมีมวลชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กหนุนหลัง ซึ่งการจะระดมพลขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากฐานมวลชนที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนถูกสะกดไม่ให้มาร่วมม็อบด้วย

นาทีนี้ ก้าวไกลทำได้แค่เดินยุทธศาสตร์ 24 ล้านเสียงในการผูกมัดเพื่อไทยเอาไว้แน่นๆ ชู “พริษฐ์ วัชรสินธุ" ขึ้นมาโลดแล่นในโลกโซเชียลมีเดียแทน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ยืนยันหลักการไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่นับวัน พรรคก้าวไกล และพิธา ยิ่งตกที่นั่งลำบาก โดยมีกระแสข่าวหนาหูว่าเหล่าบรรดา “ปูริบูโร” ของพรรคที่ติดคดีก็อยู่ใน เกมดีลลับ นี้ และอาจจะได้อานิสงส์จากการนิรโทษกรรมนี้ด้วย ปล่อยให้ “แด๊ดดี้พิธา” และพลพรรคส้มผู้มากด้วยอุดมการณ์เป็น “หมาก” ที่ถูกใช้แล้ว เขี่ยออกจากกระดาน

ยังไม่นับรวมความแปลกแปล่งของการงัด "ตำหนิ” ของ “เศรษฐา ทวีสิน” ออกมาจากมือของ “จอมแฉ” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาชิมลาง ซึ่งยังไม่รู้ว่ามีเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์สุดท้ายอย่างไร ทำให้ 3 วันนี้ต้องจับตามองอย่างตาไม่กะพริบ 

เหล่านั้นเป็นหน้าฉากทางการเมืองที่มีคนเขียน “แผนที่” ไว้หมดแล้ว หาใช่สถานการณ์พาไปสู่ทางตัน อย่างที่เหล่าบรรดาลูกหาบของ “นายใหญ่” บรรจงปั้นแต่งหลักการให้สวยหรู

ปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้เห็นภาพชัดว่า “ดีลรัก” คือภาพลวง แต่ “ดีลลับ” เป็นเรื่องจริง ซึ่งอีกฝ่ายพยายามหาหลักฐานออกมาแฉ แต่ก็เป็นเพียงหลักฐานค้างเคียง ไม่ใช่การจับได้แบบคาหนังคาเขา

ชัดเจนว่า ตัวละคร “ดีลลับ” คือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอำนาจ เช่น ผู้ที่หนีคดี คนลงจากหลังเสือที่สุ่มเสี่ยงจะถูกเช็กบิล คนที่มีคดีความที่เสี่ยงติดคุก รวมถึงส่วนที่ถูกท้าทายล้มล้าง ล้วนอยู่ในส่วนที่มีการเจรจาด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ เอเยนต์ หรือ ตัวเอง มาคุยเอง

จนทำให้เกิดละครฉากใหญ่ที่มีเหล่าบรรดาสายตรงของผู้อำนาจของพรรคเพื่อไทยตัวจริงเล่นไปตามผู้กำกับ เพื่อเดินไปสู่ “ฉากจบ” และมีบุคคลปริศนาที่จะรับภารกิจนำรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่น และยอมรับจากทุกฝ่าย ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐสภา 2 ใน 3 เสียง ซึ่งผู้ที่ทำเกมนี้ทราบดีว่าคะแนนเพียงพอ หากสมการนี้ไม่มีก้าวไกล

และเมื่อทุกอย่างสงบนิ่ง “การกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” โดยมีการ “รีโนเวตคุก” รอคอยไว้นั้น ปิดฉากตอนจบของละครเรื่องนี้แบบสมประโยชน์ทุกฝ่าย

หากทุกอย่างเดินตามแนวทางนี้ ก็ต้องลุ้นว่าเหตุการณ์จะสงบ และคนในสังคมสยบยอมกับเกม “วิน-วิน” แบบนี้หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ข้องใจ! เงินให้กู้ยืมคู่สมรส ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์'

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม