"เพื่อไทย" จบละคร ปิดสวิตช์ "ก้าวไกล"

"กองทัพวุฒิสภา" พร้อมด้วย ส.ส.จากขั้วรัฐบาลเดิม แสดงพลังอย่างเป็นเอกภาพปิดประตูตาย มิให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงมติโหวตนายกฯ ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 395 ต่อ 317 เสียง งดออกเสียง 8 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง   

จึงส่งผลให้ชื่อ "พิธา" ไม่สามารถโหวตนายกฯ ในสมัยประชุมสภานี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ชนะศึกแต่แพ้สงคราม" ผลที่เกิดขึ้นจะถือว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลไปสุดความสามารถหรือไม่ และถึงเวลาให้พรรคอันดับ 2 หรือพรรคเพื่อไทยจัดตั้งแทนได้หรือยัง 

ขณะที่บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยยังไม่มีท่าทีชัดเจน  

แต่ที่ชัดเจนคือ พรรคด้อมส้ม ขอเป็น ข้าวต้มมัด กับพรรคสีแดงอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือหากจะเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ประหนึ่งต้องการทำให้พรรคเพื่อไทยดูแย่หากตระบัดสัตย์   

แต่หากดูข้อเท็จจริงจากการลงมติเลือกนายกฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. หรือกระทั่งการลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ขวาง "พิธา" มิให้โหวตซ้ำสำเร็จ   

ผลออกมาคือ กองทัพ ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งถือเสียงข้างมากในรัฐสภา มิยอมให้ "พิธา" ได้เป็นนายกฯ  

หรือแม้กระทั่งพรรคก้าวไกลจะอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือขนาดเล็กหรือใหญ่ในรัฐบาลก็มิได้ เพราะดื้อรั้นติดกับดักตัวเอง ด้วยการไม่ยอมถอย เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112   

สอดคล้องกับสัญญาณชัดไม่ต้องการให้เข้าไปมีอำนาจผ่านองค์กรอิสระ เช่น กกต.ที่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา เรื่องการถือหุ้นสื่อไอทีวี ตามข้อห้ามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ในช่วงการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ในรอบแรก 

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งรับเรื่องไว้วินิจฉัย และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในช่วงกำลังจะมีการเสนอชื่อนายพิธาโหวตนายกฯ ในรอบ 2 ก่อนที่จะถูกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 มาสกัดไปก่อน

ไม่นับก่อนหน้านี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศรับคำร้องนายพิธาและพรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ และหากผิดจริง ถือเป็นสารตั้งต้นไปถึงการสั่งยุบพรรคและดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องต่อไป 

สัญญาณชัดแบบนี้ หาก "พรรคเพื่อไทย" จะยังยอมเดินตามเกมของพรรคด้อมส้มต่อหรือไม่ จะเสนอแคนดิเดตทั้ง 3 คนจนหมดโควตาก็ไม่มีทางจะได้เสียงเกิน 376 เสียง  

เว้นแต่ พรรคเพื่อไทย ตัดจบเลิกเล่นละคร และลุกขึ้นมากำหนดเส้นทางตัวเองด้วยการประกาศล้มเอ็มโอยูของ 8 พรรค และ ปิดสวิตช์พรรคก้าวไกล ที่ในกระดานการเมืองมองว่าเป็น แกะดำ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ด้วยการอ้างเหตุผลข้างต้น ควบคู่กับประเทศชาติ เศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของประชาชนรอไม่ได้ จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลโดยเร็วเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จะกอดกันไปจนกว่า ส.ว.จะหมดอำนาจเลือกนายกฯ ใน พ.ค.ปีหน้ามิได้

แต่ควรเดินตามธง ตามกระแสข่าวที่มีดีลลับข้ามขั้ว ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งบัดนี้เงื่อนไขทางการเมืองต่างๆ ได้ถูกปลดล็อกไปหมดแล้ว

เมื่อเดินตามนี้ พรรคเพื่อไทย จะมีเสียงในสภาล่างเกิน 251 เสียง ขณะที่มือโหวตนายกฯ ก็จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ จนเสียงเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯ เกิน 376 เสียง เนื่องจากพรรคเหล่านี้ไม่คิดจะแก้หรือยกเลิกมาตรา 112

ล่าสุด "เสี่ยนิด" เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ก็ลดสเปกของตัวเอง หลังก่อนหน้านี้ออกตัวแรงว่าต้องมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล หรือก่อนเลือกตั้งประกาศไม่เอาพรรคนู้นพรรคนี้ภายใต้ระบอบการสืบทอดอำนาจ

มีรายงานว่า "เสี่ยนิด" ถูก "นายใหญ่" อบรมเสียยกใหญ่ จึงทำให้ปรับท่าทีของตัวเองลง เพื่อก้าวขึ้นเป็นนายกฯ สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามว่า หากสูตรจัดตั้งรัฐบาลไม่มีพรรคก้าวไกล พร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่   

"เศรษฐา" กล่าวว่า หากมีความเห็นแตกต่างกันใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) ก็ต้องกลับมาพูดคุยกัน เพราะเราก็มีแคนดิเดตนายกฯ ถึง 3 คน ดังนั้นต้องให้เกียรติ กก.บห. ผมคงไม่ก้าวล่วง 

เมื่อถามว่า หากสมการตั้งรัฐบาลมีพรรคอื่นเข้ามานอกเหนือจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมจะรับนายกฯ หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องนี้ยังเร็วเกินไป วันนี้เป็นเรื่องของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน 

ขณะที่ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็พูดชัด หนุน "เศรษฐา" เป็นนายกฯ ก่อน เพราะครอบครัวยังไม่ไฟเขียว เนื่องจากเกรงกลัวภัยทางการเมือง 

เมื่อสถานการณ์การเมือง ขณะนี้ไหลมาอยู่ในมือพรรคเพื่อไทย จึงต้องถามว่า ถึงเวลาเลิกเล่นละคร ปิดสวิตช์พรรคก้าวไกล หรือจะยอมเดินตามเอ็มโอยูกับพรรคส้มกำหนดไว้ต่อไป ซึ่งสถานการณ์ในมืออาจผ่านไปที่มือพรรคอันดับ 3 หรือ 4 จัดตั้งรัฐบาลแทนก็เป็นไปได้ 

แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน "ด้อมส้ม" ก็ไม่เอาพรรคเพื่อไทยอยู่ดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

หนาวแน่ 'สนธิญา' ยื่นอสส.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 'นายกฯอิ๊งค์' ตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' ขัดรธน.

’สนธิญา‘ยื่น อสส.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกฯอุ๊งอิ๊ง ตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้พฤติการณ์สนับสนุนม๊อบเคยโดนตัดสิทธิทางการเมือง

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา