หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 19 ก.ค. ใช้เวลาตลอดทั้งวันในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า ที่ประชุมสามารถพิจารณาโหวตชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล” เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสองได้หรือไม่
บนความเห็นทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ระหว่างฝ่าย "พรรคก้าวไกล” ที่ส่ง ส.ส.ลุกขึ้นอภิปรายว่าสามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไม่ได้บัญญัติห้ามไว้
กับฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส.จากกลุ่ม 10 พรรคที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มจัดตั้งรัฐบาล เช่น รวมไทยสร้างชาติ ที่ได้อภิปรายโต้แย้งว่าไม่สามารถเสนอชื่อ "พิธา" มาให้สมาชิกโหวตอีกรอบได้ เพราะขัดกับข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 41 อันถือเป็นการเสนอชื่อซ้ำตามญัตติเดิมเมื่อ 13 ก.ค.
ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เวลาอภิปรายถกเถียงกันร่วม 7-8 ชั่วโมง บรรยากาศดุเดือดเข้มข้นพอประมาณ และสุดท้ายต้องมีการลงมติเพื่อชี้ขาด ซึ่งจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีอยู่ 748 คนจากที่ต้องมี 750 คน เพราะมี ส.ว.ลาออกหนึ่งคน และพิธาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
ซึ่งผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ 395 เสียง เห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธามาให้โหวตเป็นนายกฯ รอบสองได้ โดยเอาชนะฝ่ายแปดพรรคตั้งรัฐบาลที่โหวตว่าสามารถเสนอได้ ซึ่งได้มา 312 เสียง และมีสมาชิกงดออกเสียง 8 คน
เท่ากับว่า 19 ก.ค.ที่ผ่านมา คือวัน “ปิดฉากพิธา-ก้าวไกล” ขึ้นเป็นนายกฯ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยอย่างเป็นทางการ เพราะก้าวไกลเสนอชื่อ พิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ตอนเลือกตั้งแค่คนเดียวเท่านั้น ไม่มีออปชันอื่น
มติที่ออกมาจึงเป็นการ "ถอดปลั๊ก" พิธาและก้าวไกล กลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา
และนับจากนี้เป็นต้นไป ได้เวลา "เพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร" ขึ้นมาเป็น "แกนนำจัดตั้งรัฐบาล" แทนพรรคก้าวไกลโดยสมบูรณ์แล้ว
จับกระแสการเมืองถึงตอนนี้ หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยน ชื่อที่เพื่อไทยจะดันให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 แทนพิธา ก็คือ “เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย” จากที่มีสามชื่อ แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวร่ำลือทางการเมืองว่า ส.ส.เพื่อไทยหลายปีกไม่ให้การยอมรับ เศรษฐา และอยากหนุน อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวทักษิณ ที่ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยมากกว่า แต่ก็ติดที่ ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ยังไม่อยากให้ อุ๊งอิ๊งเข้ามามีตำแหน่งใหญ่เร็วเกินไป เลยไม่เห็นด้วยกับสูตรดันอุ๊งอิ๊งเร็วเกินไป ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาท่าทีการเมืองของเศรษฐาก็แสดงออกหลายครั้งว่า ต้องการตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลต่อไป ที่ทำให้แกนนำเพื่อไทยบางส่วนค่อนข้างอึดอัดใจ เพราะแกนนำเพื่อไทยอ่านสถานการณ์การเมืองออก ว่าหากเพื่อไทยตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล แล้วเสนอชื่อเศรษฐาในการโหวตนายกฯรอบสามสัปดาห์หน้า ก็มีแนวโน้มว่าเสียงโหวตเห็นชอบอาจไม่เกินกึ่งหนึ่งคือ 374 เสียง เพราะสมาชิกวุฒิสภา อาจตั้งป้อม ไม่ยอมให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพราะทิศทางของสภาสูงตอนนี้เด่นชัดว่า ต้องสกัดไม่ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล จากปมเรื่องที่ก้าวไกลชูธงการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้แกนนำเพื่อไทยรู้ดีว่า หากยังกอดคอกับก้าวไกล สุดท้ายการตั้งรัฐบาลจะยืดเยื้อ เวลาจะถูกเผาไปเรื่อยๆ
อ่านสถานการณ์ไปข้างหน้าต่อจากนี้คือ เพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อเศรษฐา ภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้นใหม่ จากมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค.ที่ว่า หากเสนอชื่อบุคคลให้โหวตเป็นนายกฯ แล้วชื่อดังกล่าวไม่ได้รับเลือก จะเสนอชื่อนั้นอีกครั้งไม่ได้
นั่นหมายถึงว่า อาจทำให้ชื่อของเศรษฐาไม่สามารถถูกเสนอครั้งที่ 4 ได้ ถ้าเสนอรอบที่ 3 สัปดาห์หน้า แล้วเสียงโหวตของเศรษฐาไม่ถึง 374 เสียง และหากเป็นเช่นนั้นก็อาจถึงคิว อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ
เว้นเสียแต่ เพื่อไทยยอมจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกลต่อไป แต่เล่นวิธีแปลกๆ คือ สร้างกระแสข่าวจะเสนอชื่อ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ อีกคนของเพื่อไทย เพราะรู้ดีว่ายังไงก็คงได้ไม่ถึง 374 เสียง แต่ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อพยายามบอกว่า เพื่อไทยจริงใจกับพรรคก้าวไกล แล้วพอโหวตรอบสามไม่ผ่าน จากนั้นมาถึงการโหวตรอบที่สี่ เพื่อไทยค่อยเสนอชื่อเศรษฐา
อย่างไรก็ตาม หากเพื่อไทยใช้วิธีการตื้นๆ แบบนี้ ก้าวไกลและคนทั้งประเทศย่อมดูออก ว่าไม่จริงใจกับก้าวไกล และอาจทำให้พรรคก้าวไกลเลือกที่จะยอมถอนตัวออกจากการจัดตั้งรัฐบาลไปเอง ก่อนการโหวตรอบสามก็ได้
หรือไม่ก็อาจเกิดสูตรอื่นอีกก็ได้ เช่น เพื่อไทยก็สลัดทิ้งพรรคก้าวไกล ก่อนการโหวตนายกฯ รอบสามไปเลย ด้วยวิธีการกดดันทางการเมืองที่ทำได้หลายรูปแบบ
เช่น เมื่อเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก็เรียกอีกเจ็ดพรรคมาร่วมทำเอ็มโอยูใหม่ โดยการเขียนในเอ็มโอยูไปเลยว่า “จะไม่ดำเนินการแก้ไขมาตรา 112 โดยเด็ดขาด” ซึ่งก็จะทำให้พรรคก้าวไกลอาจไม่สามารถรับแนวทางนี้ได้ และต้องยอมถอนตัวจากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลไป ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ รอบสาม
หากออกมาแบบนี้ ประตูก็เปิดโล่งทันที เพื่อไทยก็สามารถไปดีลพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มพรรครัฐบาลปัจจุบัน ทั้ง "พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-รวมไทยสร้างชาติ หรือแม้แต่กับประชาธิปัตย์" มาร่วมตั้งรัฐบาล และมีบางพรรคในกลุ่มแปดพรรคยังเป็นรัฐบาลร่วมกันต่อไปเช่น “พรรคประชาชาติ” ที่มี 9 เสียง
ซึ่งหากมีการทำเอ็มโอยูว่า จะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 สิ่งที่เพื่อไทยจะได้ก็คือ จะช่วยลดแรงต้านและได้แรงหนุนจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยตามมา ผนวกกับ แกนนำในกลุ่มพรรคดังกล่าว เช่น พลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็มีเครือข่าย ส.ว.ที่ติดต่อขอเสียงให้ได้อีกหลายสิบเสียง
เพียงเท่านี้ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยที่ พรรคก้าวไกล ก็ต้องกระเด็นไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน จากแผนการของทักษิณ และเพื่อไทย ที่กำหนดเกมให้ออกมาแบบนี้ตั้งนานแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แพทย์ใหญ่รพ.ตร. ปัดแจง ส่งเอกสารแพทยสภา การรักษาตัว ‘ทักษิณ’ ชั้น 14
หมอใหญ่รพ.ตำรวจ ปัดแจงส่งเอกสารแพทยสภา รักษาตัว ทักษิณ ก่อนครบเส้นตายพุธนี้ 'คปท.'รุกหนักนัดรวมตัวหน้า ตึกสตช.จันทร์นี้ ขอคำตอบบิ๊กต่ายไฟเขียวส่งเวชระเบียน
นักวิชาการชี้เปรี้ยง พท.- ทักษิณ กวาด นายกอบจ. เรียบ ส่วนพรรคส้มร่วง
นักวิชาการชี้เปรี้ยง พท.-ทักษิณ โอกาสสูงกวาดนายกอบจ.เกือบหมด! ส่วนพรรคส้ม ปาดเหงื่อ เสี่ยงร่วงปักธงไม่สำเร็จ แต่สจ.ได้หลายจังหวัด
เทพไท จี้ กกต.คุม ‘ทักษิณ’ ด่วน ปราศรัยผิดกฎหมายเลือกตั้ง
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ว่า กกต.จัดระเบียบ “ทักษิณ”ด่วน
คนเชียงใหม่-เชียงราย เผยทักษิณช่วยปราศรัย ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกนายก อบจ.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทักษิณปราศรัยเชียงใหม่ เชียงราย …แล้วเราควรตัดสินใจอย่างไร” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง