เอ็มโอยู ‘รัฐบาล-จะนะรักษ์ถิ่น’ ซ่อนกลิ่นขัดแย้ง ‘บิ๊กตู่-ธรรมนัส’

โครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลัง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เพื่อทวงถามสัญญา หลังจากครบรอบ 1 ปีที่รัฐบาลรับปากว่าจะยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ใหม่ทั้งหมด แต่กลับไม่มีความคืบหน้าอะไร

กระทั่งค่ำคืนวันเดียวกัน ตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) โดยกองร้อยน้ำหวาน ได้เข้าสลายการชุมนุม และมีการจับกุมผู้ชุมนุม

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกโจมตีอย่างหนักต่อการใช้กำลังสลายการชุมนุม เนื่องจากภาคประชาชนมองว่าชาวบ้านเดินทางมาเพราะความเดือดร้อน 

ความสนใจของสังคมร้อนแรงจน  #saveจะนะ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะทำเนียบรัฐบาลถือเป็นสถานที่ราชการที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการดำเนินการของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุม อีกสิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ เอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาล ที่ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

เอ็มโอยู ฉบับนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2563 มี 4 ข้อใหญ่ๆ คือ 1.ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหากรณีโครงการ 2.รัฐบาลได้ประสานให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจนกว่าจะมีผลการตรวจสอบ 3.แนวทางจัดให้มีการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในโครงการนี้ และ 4.ตรวจสอบความผิดปกติของโครงการ

แต่ปรากฏว่า ท่าทีของคนที่เกี่ยวข้องและเคยเกี่ยวข้องต่อประเด็นดังกล่าวกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้สัมภาษณ์ลักษณะว่า ครม.ยังไม่เคยให้ความเห็นชอบ และมีการไปตกปากรับคำกันเอง  

 “บางทีการไปพบปะประชาชน เจรจาของใครก็แล้วแต่ เวลาไปพูดไปตกลงกับเขา อย่าลืมว่ามันไม่ได้ผ่าน ครม. ผมเตือนหลายครั้งแล้ว เวลาไปก็รับข้อสังเกตมานำไปสู่การแก้ไขปัญหา นั่นคือ วิธีการทำงานของรัฐบาลต้องรอบคอบ"

พร้อมกับยืนยันว่า การลงพื้นที่ของตัวแทนรัฐบาลเมื่อครั้งที่แล้วที่ผ่านมาเป็นการไปหาข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้เป็นมติ ครม. โดย ครม.เพียงแต่รับทราบว่าประชาชนต้องการอะไร

ขณะที่อดีตคนเคยรับผิดชอบอย่าง ร.อ.ธรรมนัส กลับชี้แจงในลักษณะว่า มันผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เรียบร้อยแล้ว “กว่าจะออกเอ็มโอยูฉบับนั้น และเสนอเข้า ครม.วันนั้น ถกเถียงใน ครม.เกือบชั่วโมง ไม่ใช่ว่าผมไปตกลงเอง คงเป็นความเข้าใจผิด"

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส นอกจากจะสวนทางกันแล้ว ยังมีกลิ่นความขัดแย้งซ่อนอยู่ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ที่นอกจากชี้แจงปกป้องตัวเองแล้ว ยังเหมือนจะตำหนิการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการทำประชาวิจารณ์ ที่ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวจะนะเข้าใจ

อย่างไรก็ดี กรณีเอ็มโอยูที่มีการอ้างถึงนั้น ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เคยมีการนำเรื่องนี้เข้าไปจริง โดย ร.อ.ธรรมนัสได้รายงานผลการเจรจากับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พร้อมนำเสนอเอกสารที่มีลายเซ็นตัวเองกำกับอยู่ด้วยให้ที่ประชุมรับทราบ 

โดยมีรายงานว่า ในการประชุมวันนั้น บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กล่าวตำหนิ ร.อ.ธรรมนัส เรื่องการลงนามโดยพลการว่า การไปลงนามในเอกสารเท่ากับยินยอมทำตามเอกสารนั้นทั้งหมด และควรแก้ไขคำสั่งในเอกสารเพื่อไม่ให้เป็นการผูกมัด ครม.จนเกินไป หากไม่แก้ไขและทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้ คนเสนอคือ ร.อ.ธรรมนัส ต้องรับผิดชอบเอง 

ส่วน ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องลงนามในเอกสาร เพราะต้องการให้การชุมนุมของชาวบ้านยุติโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้ยืดเยื้อ เกรงว่าม็อบราษฎรจะเข้ามาผสมโรงจนแก้ยาก

สิ่งที่ต้องตามหาคือ แล้ววันนั้น ครม.ได้มีมติรับรองเอ็มโอยูฉบับนี้หรือไม่

แล้วดูเหมือนเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะครั้งนี้ จะไม่ได้หยุดอยู่แค่ปัญหาระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาล แต่มันกำลังลามถึงการเมืองภายในรัฐบาล โดยเฉพาะ บิ๊กตู่ กับ ร.อ.ธรรมนัส ที่ยังดูเขม็งเกลียวใส่กัน ไม่มีทีท่ายำเกรงกันแต่อย่างใด

มันกำลังกลายเป็นว่า ข่าวลือเรื่องการเคลียร์ใจระหว่าง 2 คนก่อนหน้านี้ สุดท้ายอาจแค่ล่องลอย แต่ในขณะที่ข่าวลือเรื่องความขัดแย้ง การแยกพรรค การไม่ต้องการทำงานร่วมด้วย กลับมีมูลมากขึ้นกว่าอีก

และมันยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า คลื่นลมในพรรคพลังประชารัฐที่ดูเหมือนจะเงียบ แต่กลับเพียบไปด้วยคลื่นใต้น้ำที่มีอยู่ตลอดเวลา 

สงครามภายในยังไม่จบ และแน่นอนว่า จากปฏิกิริยาแข็งกร้าวและตอบโต้ของ ร.อ.ธรรมนัส ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับบิ๊กตู่ที่มีปมในใจเป็นทุนอยู่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แม้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับทำให้เราได้เห็นความขัดแย้งได้ดำรงอยู่ ไม่ได้สะสาง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้