มองกลยุทธ์ม็อบด้อมส้ม "รุกได้-ถอยเป็น" หนุนเกมสภาฯ?

การเดินเกมการเมืองของแกนนำพรรคก้าวไกล ที่ได้ประสาน 8 พรรคร่วม และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อขอเสียงโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ประสบความสำเร็จในยกแรก โดยสมาชิกรัฐสภามีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นของนโยบาย และแนวคิดของพรรคก้าวไกล และนายพิธาเองต่อเจตนาในการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ไม่ใช่ความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ และขอให้ถอยในเรื่องดังกล่าวไปถ้าอยากได้เสียงสนับสนุน

ยังไม่นับนโยบายในเรื่องอื่นๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อสถานะประเทศ ทั้งด้านความมั่นคงและด้านการต่างประเทศ และมีหลายประเด็นถูกชี้ว่าเป็นการ “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน”

แต่พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันในเรื่อง “คำสัญญา” ที่ให้ไว้กับแฟนด้อม และกลุ่มเคลื่อนไหวที่สนับสนุน ม.112 ว่าจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ สำทับด้วยการแสดงออกของแกนนำม็อบคนสำคัญที่ประกาศกร้าวไม่ให้ก้าวไกล “ถอย” ในเรื่องดังกล่าว

แม้จะมีการประเมินว่า 3 นิ้ว-ด้อมส้ม” ที่ระดมพลในการกดดันรัฐสภาให้เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีจะ “จุดไม่ติด” ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่มักชอบแสดงจุดยืนของตัวเองในโซเชียลมีเดียมากกว่าการออกมาเดินขบวนบนท้องถนน และในจำนวน 14 ล้านเสียงที่เลือกก้าวไกล เพราะเบื่อลุง ต้องการการเปลี่ยนแปลง และอยากให้เกิด แต่ไม่ได้จริงจัง และไม่สนใจกับเนื้อหาการแก้ไข ม.112 ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่ในจำนวนนั้นก็ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย เกิดความไม่สงบเพราะม็อบ อยากใช้เวลาไปทำมาหากินมากกว่า

แต่เมื่อดูจาก “ยุทธศาสตร์” การขับเคลื่อนของ “ม็อบด้อมส้ม” แล้ว เป็นช่วงของการปรับเปลี่ยน “ยุทธวิธี” ใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยดูทิศทางจาก “แกนนำแถวหนึ่ง” เคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นเป็นหน้าที่ของแกนนำแถวสองและสาม จัดกิจกรรมนำกลุ่มองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านเผด็จการ กดดันรัฐสภาให้เลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งในช่วงยกแรกใช้พื้นที่หน้าหอศิลป์ แยกปทุมวัน และที่ศูนย์ราชการกรุงเทพฯ (เกียกกาย) เป็นฐานที่มั่น แต่ก็มีคนร่วมกิจกรรมแค่หลักร้อย

โดยมี นายชาติชาย แกดำ กลุ่ม Support Thailand และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เป็นแกนหลักในการจัดเวทีจัดกิจกรรม Respect My Vote โดยมีเครือข่ายส่งตัวแทนขึ้นปราศรัย เช่น กลุ่มทะลุแก๊ส ทะลุฟ้า ทะลุวัง โมกหลวงริมน้ำ 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นักเรียนเลว เดมโฮป เป็นต้น เข้าร่วม

ขณะที่การชุมนุมในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ด้วยการจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน มีนายอานนท์ นำภา เป็นแกนนำ นับได้ว่าเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่การนั่งฟังปราศรัยที่เนื้อหาซ้ำเดิม ซึ่งคาร์ม็อบเมื่อวันอาทิคย์ที่ผ่านมา ถูกมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการของม็อบด้อมส้ม ที่จะเดินหน้าสร้างแรงกดดันต่อไปได้

พร้อมการเดินสายของกลุ่ม “ทะลุวัง” ในการจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่ “กลุ่มทะลุแก๊ส” เดินสายในภาคอีสาน และ “กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ” ปักหมุดในกรุงเทพมหานคร โดยมีสโมสรนิสิต นักศึกษา เป็นตัวประสานเชื่อมต่อกับเยาวชนในการเคลื่อนไหวในทั่วทุกภูมิภาค

 แต่ยังไม่มีการชุมนุมยืดเยื้อหรือไปบุกสถานที่ใด หรือเกิดการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) หรือตู้คอนเทรนเนอร์ เหมือนเช่นที่ “สมรภูมิดินแดง” ที่เคยเกิดขึ้น หรืออาจเป็นผู้สนับสนุนเข้าไปนั่งในสภาฯ แล้ว

ขณะที่การเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่า “มวลชน” จะเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก และเป็นหลังพิงสุดท้ายในการดัน “พิธา” ขึ้นเก้าอี้นายกฯ ในขณะนี้ยังเลือกใช้ “เกมเจรจา” ในการเดินไปสู่เป้าหมาย ไม่เปิดเกมนอกสภาฯ ในการรุก ท่ามกลางกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วหนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย

จากการเปิดเผยของ “วราวุธ ศิลปอาชา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกมาระบุถึงความพยายามในการรวบเรียงเสียงในการโหวตนายกฯ รอบ 2 ทำให้เห็นว่ายังไม่มีการ “กดปุ่ม” มวลชนให้ยกระดับมากไปกว่านี้

"เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้โทรศัพท์มาหาผมและบอกว่ามีการส่งเทียบเชิญมาจากพรรคก้าวไกล อยากจะขอให้พิจารณาในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งผมได้บอกไปว่าเรื่องใหญ่เช่นนี้ ผมไม่สามารถตอบรับได้ทันที คงต้องขอนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค และหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อนว่าแนวทางเป็นอย่างไร และได้ยืนยันไปว่าแนวทางของพรรคชาติไทยพัฒนาคือ ไม่แตะต้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเชิดชู เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์" นายวราวุธกล่าว

ขณะที่ “อานนท์ นำภา” โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ผมพร้อมสนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไปจับมือให้พรรคฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจ หรือไปฟอกขาวให้เขา จับมือกันให้มั่นทั้ง 8 พรรค อย่าอ้างว่าทำเพื่อประชาชนจึงไปจับมือเผด็จการ เพราะประชาชนได้เลือกข้างชัดเจนแล้ว ถ้าจะตั้งรัฐบาล ต้องไปด้วยกันทั้ง 8 พรรค ถ้าท่านเข้มแข็งมั่นคง ประชาชนยืนข้างท่านเสมอ อย่าทรยศประชาชนเด็ดขาด"

นั่นอาจเป็นสัญญาณบางประการต่อกรณีของการเสนอแก้ไข ม.112 ที่อาจจะต้องมีการตั้งหลัก และปรับแนวทางในการ “รุก” ใหม่ แม้อาจทำให้ถูกตั้งคำถามจาก “เจ้าสำนักวิพากษ์เจ้า” หรือกลุ่มที่มีแนวความคิดปฏิรูปสถาบัน ถึงจุดยืนที่เลือกช่องเข้าสู่อำนาจมากกว่าอุดมการณ์ที่เคยประกาศไว้

และอาจจะมีการมอง “ยุทธวิธี” ในการเดินออกเป็น 2 มุม และแยกออกเป็น 2 แนวคิดในการต่อสู้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อนที่จะมีการจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภากำหนดประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2

ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายจะรุกฆาตด้วย “นิติสงคราม” จัดการสอย “พิธา” และพรรคก้าวไกลทั้งพรรคหลุดจากสถานะที่มีอยู่  ก่อนรัฐสภาจะโหวตนายกฯ รอบ 2 หรือไม่

ซึ่งวันนั้นผู้กำหนดทิศทางจะส่งสัญญาณขับเคลื่อนมวลชนแบบแบบไหน ระหว่าง ชนเพดานไปเลย หรือออมกำลังไปแตกหักเมื่อถึงสถานการณ์สุกงอมเต็มพิกัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง

เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์

ควักใบแดงถีบพ้นรัฐบาล ในโฟกัส"พีระพันธุ์-รทสช." ทักษิณจ้องยึด"ก.พลังงาน"

แวดวงการเมืองต่างเทน้ำหนักไปทางเดียวกัน โดยมองว่าน่าจะเป็นจริงอย่างที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “สัญญาณเตือน-เตรียมควักใบแดง ถีบออกจากรัฐบาล” ของทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง