ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการประกาศวางมือทางการเมือง และลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม
เรื่องนี้นอกจากคนใกล้ชิดแล้ว ไม่มีใครทราบเรื่อง มีสัญญาณเพียงไม่กี่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการประกาศออกมาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นการสั่งลาก่อนปิดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ว่า “ขอให้ทุกคนโชคดี” ซึ่ง ณ ตอนนั้นคนในห้องไม่มีใครสงสัยในประโยคดังกล่าวเลยว่า มันจะเป็นคำกล่าวที่มีความหมาย เพราะเป็นคำพูดของ "บิ๊กตู่" ที่มักจะพูดทุกครั้งก่อนปิดประชุม
หรือการพูดกับสื่อมวลชนที่รอดักสัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส ดูสว่างสวยงาม”
แต่กว่าจะรู้ว่ามันเป็นสัญญาณ ก็ต่อเมื่อมีการประกาศออกมาแล้ว ถึงจะย้อนกลับไปคิดถึงปฏิกิริยาเหล่านี้ ว่ามันมีนัยสำคัญ
เมื่อเป็นแบบนี้ การทำงานวันสุดท้ายของ "บิ๊กตู่" ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย คือวันที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ พาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นวันไหน ตราบใดที่ประเทศยังไม่ได้ผู้นำคนใหม่จากความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมสองสภา
อย่างไรก็ดี การประกาศวางมือของ "บิ๊กตู่" มันทำให้ความหวาดระแวง ข่าวลือต่างๆ นานาหายไป โดยเฉพาะเรื่องการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน มันยังเป็นการสลัดความเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้
"บิ๊กตู่" ลอยตัวไปแล้ว นับจากนี้หากมีอะไรเกิดขึ้นในทางการเมือง จะไม่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศอีก แต่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง พรรคการเมือง และ ส.ส.ที่ยังดำเนินต่อ
ลองคิดดูว่า หากเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม "บิ๊กตู่" ไม่ได้ประกาศวางมือ ในขณะที่วันที่ 12 กรกฎาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ใครจะถูกมองเป็นผู้ร้าย?
หรือในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี หากชื่อของนายพิธายังไม่ผ่าน หรือเจออุปสรรคอะไร หอกดาบจะพุ่งไปหาใคร ถ้าไม่ใช่ "บิ๊กตู่"
แต่วันนี้เมื่อ "บิ๊กตู่" ไม่อยู่ มันจึงเป็นเรื่องของ "คนที่ยังอยู่" เท่านั้น
ขณะที่ทิศทางของพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ "พรรคลุงตู่" นับจากนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในวันที่ขาด "ศูนย์กลาง" จะเดินไปทางไหนต่อ
ในทางการเมืองมองกันว่า เมื่อไม่มี "บิ๊กตู่" แล้ว ข้อจำกัดของพรรครวมไทยสร้างชาติอาจจะน้อยขึ้น รวมถึงข้อจำกัดในการผสมพันธุ์ทางการเมือง
โดยคนที่มีอิทธิพลกับพรรครวมไทยสร้างชาติ นอกจาก "บิ๊กตู่" แล้วก็ยังคงเหลืออยู่ โดยเฉพาะ "นายทุน" ของพรรค ที่สามารถกำหนดทิศทางของพรรคได้
ซึ่งมีรายงานว่า นายทุนผู้มากบารมีทางการเมืองรายนี้ จะยังเดินหน้าทำพรรครวมไทยสร้างชาติต่อ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นผู้นำของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม
ต้องการใช้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นดังกองกำลังและฐานเสียงสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นพรรคเบอร์หนึ่งของดินแดนสะตอ
นายทุนรายนี้ไม่ได้เป็นแค่ผู้มากบารมีในพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น แต่ยังทรงอิทธิพลในพรรคขนาดใหญ่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยด้วย
เป็นคนที่ทำการเมืองแบบ "สองขา" และเป็นคนที่สามารถทำให้ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมและพรรคขนาดใหญ่ในฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ ซึ่งอาจจะได้เห็นในเร็วๆ นี้
คนที่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องทบทวนดูใหม่ เพราะมันมีสัญญาณมาตั้งแต่การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว
จะเห็นว่า ส.ส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งบุคคลชิงตำแหน่งทางนิติบัญญัติกับพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว นั่นคือ นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ชิงเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกลเท่านั้น
ในขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้ขัดขวางเลย
หากมองให้ดีๆ มันเป็นการ "ทอดไมตรี" ให้แก่กันอย่างหนึ่ง หรือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่า สามารถทำงานร่วมกันได้
และที่ผ่านมา พรรครวมไทยสร้างชาติชัดเจนมาตลอดว่า ไม่สังฆกรรมกับพรรคที่มีความคิดจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งก็คือพรรคก้าวไกลเท่านั้น ไม่ได้ประกาศเป็นศัตรูกับพรรคอื่นใดเลย
ฉะนั้น นับจากนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ "ศัตรู" ของพรรครวมไทยสร้างชาติมีเพียงแค่ "พรรคก้าวไกล" เท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม
หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
บี้รัฐบาล-ผบ.ตร. เร่งกวาดล้างแก๊งค้ามนุษย์ สแกนเข้มชายแดน ฟันทหารตำรวจนอกรีต
'ธนกร' ขอ 'รัฐบาล-ผบ.ตร.' เร่งกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงคนหางาน ฝากสแกนเข้มตะเข็บชายแดน หวั่นใช้ไทยเป็นฐานนายหน้าส่งต่อเหยื่อ แนะจัดการเด็ดขาดทหาร-ตร.นอกรีด