กลายเป็นประเด็นที่พลาดไม่ได้สำหรับการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่จะเริ่มประชุมในรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. โดย "ด้อมส้ม" ต่างเฝ้ารอวันที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ประเด็นใหญ่ไม่แพ้กันคือ การสกัดขา โดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) โดยขอให้ตรวจสอบว่าพิธาเข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพราะเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี (มหาชน) ซึ่งมีลักษณะคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
ซึ่งแม้ พิธา ชี้แจงว่าหุ้นดังกล่าวถือในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ เรืองไกร ได้พยายามงัดหลักฐานบี้พิธาอย่างหนัก ทั้งการที่พิธาโอนหุ้น 42,000 หุ้น ให้น้องชายวันที่ 25 พ.ค.66 หลังสมัครรับเลือกตั้ง, การฟื้นคืนชีพบริษัทไอทีวี ให้กลับมาทำสื่ออีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ทาง กกต.มีมติตีตกคำร้องของนักร้องทั้งหมดที่กล่าวหาว่าพิธามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ที่เรืองไกรยื่นคำร้องมาวันที่ 10 พ.ค. แต่มีการจัดเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.
แต่ กกต.มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏแก่ กกต. เนื่องจากมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง มีพฤติการณ์ และมีหลักฐานพอสมควรที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไป โดยอ้างกฎหมายเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561
อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศรับรองผล ส.ส.แล้ว เรืองไกร ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อเอาผิดพิธาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เอาผิดตามมาตรา 82 โดยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือไม่
เนื่องจากเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว โดยผลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 ทำให้นายพิธามีสมาชิกภาพ ส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 14 พ.ค.2566 ดังนั้นจึงมีเหตุต่อเนื่องที่ต้องขอให้ กกต.ใช้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ตามที่ได้เคยยื่นคำร้องเรื่องนี้เอาไว้ต่อ กกต.ทุกครั้งมาดำเนินการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ด้วยการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาสิ้นสุดลงหรือไม่โดยด่วน
ทำให้นอกจาก กกต.ดำเนินการเอาผิดอาญาต่อ พิธา ตามมาตรา 151 ที่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้ว ยังเอาผิดตามมาตรา 82 ต่อเนื่อง ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในการเอาผิดหุ้นสื่อกับ ส.ส.นั้น ความผิดตามมาตรา 82 ซึ่ง กกต.เตรียมที่จะชงศาลรัฐธรรมนูญในเร็วๆ นี้ กกต.จะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ถ้าศาลวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดอันเนื่องมาจากการถือหุ้นสื่อ กกต.จะนำคำวินิจฉัยของศาลมาประกอบกับสำนวนมาตรา 151 เพื่อแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝ่าฝืน
ซึ่งในเรื่องนี้แม้ศาลจะวินิจฉัยเป็นโทษต่อพิธา แต่ทางพรรคก้าวไกลก็สามารถเสนอชื่อในฐานะของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคได้อยู่ดี เพียงแต่ ส.ว.ที่พรรคก้าวไกลพยายามเจรจาเพื่อขอเสียงในการโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จะใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่โหวตได้ เพราะพิธามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. การที่โหวตให้คนที่มีลักษณะต้องห้ามอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมได้
ดังนั้นในอนาคตข้างหน้าถ้ามีการโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 ครั้ง ต่อไป ส.ว.ก็อาจใช้กรณีนี้เพื่อไม่โหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้
โดย นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาต้องเลือกนายกฯ จากผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาคือที่พิธาถูกกล่าวหาอยู่ พิธามีคุณสมบัติ ณ วันที่เราจะโหวตเลือกหรือไม่ ซึ่งมาตรา 272 เขาห้ามเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม ถ้า ส.ส. ส.ว.ไปเลือก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ จะทำผิดรัฐธรรมนูญ และต้องรับโทษเสียเอง
ส่วน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ได้ระบุในเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องสกัดหรือไม่สกัดพิธา แต่เป็นเรื่องของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกฯ ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้ ส.ส.และ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ส่วนมาตรา 159 ส.ส.และ ส.ว.ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม คือห้ามถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผิดในตัวเองอยู่แล้ว แต่การส่งศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจน เพราะการถือหุ้นคือเหตุ ส่วนผลคือรอศาลตัดสิน แต่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ส.ส.และ ส.ว.ต้องทำตามบทบัญญัติในมาตรา 159 ให้ชัดเจน
โดยขณะนี้คดีตามมาตรา 82 อยู่ในชั้นของคณะกรรมการไต่สวน ที่ยังส่งเรื่องให้ที่ประชุม กกต.รับทราบอยู่เรื่อยๆ โดยแม้วันที่ 13 ก.ค. ที่สภาเตรียมประชุมโหวตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีกรอบบังคับว่า กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน จึงไม่แน่ว่า กกต.อาจจะส่งเรื่องหลังโหวตนายกรัฐมตรีในครั้งแรก แต่เชื่อว่า กกต.เตรียมที่จะส่งเรื่องภายในสัปดาห์นี้
ย้อนกลับไปที่คดีตามมาตรา 151 ซึ่ง กกต.ทำมาก่อนหน้านี้ จะต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะกว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้นใช้เวลามากกว่า 1 ปี เนื่องจากเป็นคดีอาญาที่มีความร้ายแรง ถ้าเปิดข้อระบุโทษจะเห็นได้ว่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี
ดังนั้น กกต.จึงต้องทำสำนวนให้รัดกุมพอสมควรก่อนที่จะแจ้งความ เมื่อย้อนดูกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นเคสลักษณะแบบเดียวกันคือ ศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดหุ้นสื่อมาตรา 82 หลังจากนั้นแจ้งความเอาผิด 151 ซึ่งเมื่อถึงชั้นอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งตีตก เนื่องจากมองว่าหลักฐานยังมัดไม่แน่นพอที่จะเอาผิดได้
จึงต้องจับตาดูว่าเคสของ พิธา จะจบลงเหมือน ธนาธร ที่ร่วงก่อนรอดทีหลังหรือไม่ หรือว่า ร่วงทั้ง 2 คดี เพราะบริษัท ไอทีวี ยังชี้ชัดอยู่ว่ายังดำเนินการ จึงต้องลุ้นกันแบบก้าวต่อก้าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิธา' ให้สัมภาษณ์งานแต่งข้ามขั้ว ครม.ครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าร่วมงานพิธีสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร สส.ลำปางพรรคเพื่อไทย และนางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง พรรคประชาชน
ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
จับตา! สรรพากร-สตง. สอบที่มาทรัพย์สิน 'นายกฯอิ๊งค์' รวยหมื่นล้าน
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายกฯอุ๊งอิ๊ง ผวาที่มาทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้าน อาจถูกตรวจสอบที่มาของรายได้ และภาระภาษี 30%