เป็นเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน กับการที่ ประชาธิปัตย์วงแตก เพราะที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมิราเคิลฯ ไม่สามารถเลือก หัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ชุดใหม่ได้
จากเหตุองค์ประชุมล่ม สมาชิก-โหวตเตอร์-ส.ส.ของพรรค อยู่ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ต้องยุติการประชุมกลางคัน จนสุดท้าย พรรค ปชป.ไม่มีหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ในช่วงที่กำลังจะมีการโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้
ทำให้ต่อจากนี้ รักษาการกรรมการบริหารพรรค ปชป.ทั้งหมดต้องประชุมเพื่อขอให้มีการยกเว้นข้อบังคับพรรค ที่ระบุว่าต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายในไม่เกิน 60 วัน หลังกรรมการบริหารพรรคพ้นสภาพ ซึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน พ้นสภาพเมื่อ 14 พ.ค.2566 จึงเท่ากับว่าจะครบ 60 วัน ช่วงวันที่ 14 ก.ค.นี้ แต่เมื่อ 9 ก.ค. ที่ประชุมไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้ จึงต้องขอให้มีการยกเว้นข้อบังคับพรรคดังกล่าวไปก่อนเป็นการเร่งด่วน แล้วกำหนดวันประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคอีกครั้งต่อไป ที่ล่าสุดจะมีการนัดประชุม 12 ก.ค.นี้ ส่วนการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อีกครั้ง ยังไม่ชัดว่าจะเป็นวันไหน แต่ที่ชัดก็คือ หลังการโหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค.
สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพการประชุมใหญ่พรรค ปชป.เมื่อ 9 ก.ค.ดังกล่าว ที่ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ได้ เพราะโหวตเตอร์ที่จะต้องเข้าประชุมเพื่อให้องค์ประชุมครบ ไม่ยอมเข้าห้องประชุมในช่วงบ่าย โดยมีข่าวว่าบางคนก็เดินทางกลับทันทีหลังพักเบรกในช่วงเที่ยง และบางคนแม้ไม่ได้เดินทางกลับ ยังอยู่ที่โรงแรมที่จัดงาน แต่ก็ไม่เข้าประชุม จนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ มีข่าวว่ามันคือการแก้เกม การชิงไหวชิงพริบทางการเมืองของ สองปีก-สองขั้วในพรรค ปชป.
หลังก่อนหน้านี้การประชุมในช่วงเช้า สาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. เสนอให้ที่ประชุมยกเว้นข้อบังคับการประชุมพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ที่ข้อบังคับพรรคให้น้ำหนักกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโหวตเตอร์คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมดังกล่าว แล้วใช้การโหวตแบบ 1 คน 1 เสียงแทน ซึ่งหากมีการใช้การลงคะแนนด้วยวิธีการดังกล่าว แน่นอนว่า มันจะทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีลุ้นกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เพราะโหวตเตอร์หลายคน เช่น อดีต ส.ส.-อดีตรัฐมนตรี-ตัวแทนสาขาพรรคจากที่มี 275 เสียง หลายคนพร้อมจะเทเสียงหนุนอภิสิทธิ์ให้คัมแบ็กรอบนี้
เพราะหากมีการใช้เกณฑ์การออกเสียงแบบ ส.ส. 70-โหวตเตอร์ 30 โอกาสที่ อภิสิทธิ์จะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.แทบลุ้นได้ยาก
เนื่องจากขุมกำลังภายในพรรค ปชป.เวลานี้ จากปัจจุบัน ส.ส.ปชป.มีอยู่ 25 เสียง โดยเป็น ส.ส.เขต 22 คน และปาร์ตี้ลิสต์อีก 3 คน พบว่า ส.ส.ส่วนใหญ่คือพวก ส.ส.เขต อยู่ในปีก เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค-เดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ส.ส.สงขลา ที่ภรรยาและลูกชายก็ได้เป็น ส.ส.สงขลาด้วยกัน 3 คน โดยเดชอิศม์คุมเสียง ส.ส.ไว้ที่ 5 คน และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชที่คุมเสียง ส.ส.ไว้ 5 คนเช่นกัน ทำให้ 3 คนนี้รวมกันแล้วคุมเสียง ส.ส.อยู่ประมาณ 18 คน ไม่นับรวมกับกลุ่มนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย ที่หากเอาด้วยกับกลุ่มเฉลิมชัย ก็จะทำให้กลุ่มเฉลิมชัย-เดชอิศม์ คุมเสียง ส.ส.ไว้ร่วม 20 คน ทำให้สามารถกำหนดทิศทาง-การโหวตหัวหน้าพรรคได้ เพราะข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.ในการโหวตไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ได้แน่นอน
แต่สุดท้าย ข้อเสนอที่ให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่ให้ น้ำหนักการโหวตแบบ 70-30 ดังกล่าว ก็โดนสกัด เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่เอาด้วย เพราะปีกของเฉลิมชัย-เดชอิศม์ไม่ยอม เนื่องจากปีกนี้วางตัว นราพัฒน์ แก้วทอง-รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป.-อดีต ส.ส.พิจิตร ลูกชายไพฑูรย์ แก้วทอง นักการเมืองรุ่นใหญ่เมืองชาละวัน ที่เป็นคนในกลุ่มของเฉลิมชัย-เดชอิศม์ เห็นได้จากที่นราพัฒน์ ก่อนหน้านี้ก็เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ก็คือทีมงานการเมืองหน้าห้องเฉลิมชัย รมว.เกษตรฯ มาร่วม 4 ปี ไว้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.
เมื่อไม่สามารถงดเว้นข้อบังคับได้สำเร็จ ทำให้เมื่อเข้าสู่การประชุมในช่วงบ่าย ฝ่ายหนุนอภิสิทธิ์เลยแก้เกมด้วยการทำให้ องค์ประชุมไม่ครบ จนสุดท้ายองค์ประชุมเลยล่ม จากเหตุการณ์ งัดข้อ-ชิงไหวชิงพริบ กันของ 2 ปีกในพรรค ปชป.อย่างที่เห็น
ภาพความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับการประชุมใหญ่ ปชป.ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ในพรรค ปชป.เกิดปัญหาความแตกแยก การแบ่งกลุ่มแบ่งก๊กเกิดขึ้นภายในพรรคอย่างรุนแรง หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ขั้วอำนาจเก่าในพรรคยังคงต้องการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายในพรรคไว้ต่อไป ด้วยการคุมตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรคไว้ทั้งหมด
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีบางคนในพรรค ปชป.ที่คุมเสียง ส.ส.ปชป.ส่วนใหญ่ในเวลานี้ ต้องการนำพรรค ปชป.ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพราะประเมินว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลคงไม่ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาถึง 376 เสียง วันที่ 13 ก.ค. และต่อมาพรรคเพื่อไทยน่าจะขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ถึงตอนนั้นประชาธิปัตย์ก็จะใช้มติกรรมการบริหารพรรค นำพรรค ปชป.ไปร่วมตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย โดยมีกระแสว่ามีคนในพรรค ปชป.ไปเปิดดีลดังกล่าวไว้นานแล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ ต้องเข้าไปคุมพรรค ปชป.แบบเบ็ดเสร็จให้ได้ก่อน ผ่านการประชุมใหญ่พรรค ปชป.
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว บางปีกในพรรค ปชป.ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า ดีเอ็นเอทางการเมืองของพรรค ปชป.กับพรรคเพื่อไทยไปด้วยกันยาก
อีกทั้งการมี ส.ส. 25 คน หากเข้าไปร่วมรัฐบาล ก็น่าจะได้โควตารัฐมนตรีแค่ 3 ตำแหน่ง และคงไม่ใช่กระทรวงใหญ่ อย่างมากอาจได้แค่ รมว.แรงงาน และ รมช.อีก 2 เก้าอี้ อีกทั้งต้องไปอันเดอร์การเมืองพรรคเพื่อไทย จึงควรที่พรรค ปชป.จะไปเป็นฝ่ายค้าน และแสดงผลงานให้เต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ยิ่งกับการเป็นรัฐบาลเพื่อไทยด้วยแล้ว คนใน ปชป.ที่หนุนให้พรรคไปเป็นฝ่ายค้านมองว่า น่าจะมีเรื่องให้ตรวจสอบ อภิปรายไม่ไว้วางใจได้เยอะ จะทำให้พรรค ปชป.มีบทบาทการเมืองที่กลับมาโดดเด่นอีกครั้งหากเป็นฝ่ายค้าน เหมือนกับที่ก้าวไกลประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เพราะผลงานการเป็นฝ่ายค้านของก้าวไกลสมัยที่แล้ว
เลยทำให้มีข่าวว่า คนในพรรค ปชป.ที่มีแนวคิดดังกล่าว จึงเห็นว่าต้องงัดกับกลุ่มอำนาจเก่า ด้วยการดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อีกครั้ง ถึงแม้อภิสิทธิ์จะไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีปัญหาในการขับเคลื่อนพรรค
จึงทำให้ที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของ 2 ปีกในพรรค ปชป.ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนการประชุมใหญ่เมื่อ 9 ก.ค. ไม่ว่าจะเป็นข่าวว่ากลุ่มของ เฉลิมชัย-เดชอิศม์ ขาวทอง ทาบทาม ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.มาเป็นคู่ชิงหัวหน้าพรรค ปชป. และจะมีการใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมโหวต ยกเว้นข้อบังคับพรรค ปชป.ในการเลือกหัวหน้าพรรคปชป.เพื่อปลดล็อกให้ ดร.เอ้ ที่เป็นสมาชิกพรรค ปชป.ไม่ถึง 5 ปี และไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน ได้มีโอกาสถูกเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรค ปชป. แต่สุดท้าย ดร.เอ้อาจประเมินแล้วว่า ไม่อยากเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองในพรรค ปชป.เลยไม่ตอบรับกับการถูกเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นต้น
ประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์ ต้องบอกว่า ร้าวลึกและเกิดการแย่งชิงอำนาจกันภายในพรรครุนแรงเกินกว่าที่หลายคนคิด และหากศึกภายในพรรคครั้งนี้เคลียร์กันไม่ได้ แนวโน้ม ปชป.พรรคแตก คงได้เห็นอีกครั้งหลังจากนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี