‘ก้าวไกล’ ใช้มวลชน-โซเชียล สู้ขบวนการขวาง ‘พิธา’

รัฐสภาสมบูรณ์แล้ว หลังได้ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และรองประธานสภาฯ อีก 2 คน เป็นที่เรียบร้อย กระบวนการขั้นตอนหลังจากนี้คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี  

โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้ หากชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านรอบแรก มีแนวโน้มจะนำรายชื่อเข้าที่ประชุมสองสภาให้โหวตใหม่ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม อีกครั้ง 

ถึงวันนี้หลายฝ่ายให้น้ำหนักสูงมากว่า โอกาสที่ชื่อของ พิธา จะฝ่าด่านไปได้มีน้อยถึงน้อยมาก โดยเฉพาะท่าทีของวุฒิสภาซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินว่านายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นไปในแนวทางลบต่อพรรคก้าวไกล 

ส.ว.หลายคนที่ก่อนหน้านี้เปิดตัวว่าจะโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอันดับ 1 กลับมีท่าทีเปลี่ยนไปในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี  

โดยเฉพาะนายทรงเดช เสมอคำ ส.ว. ที่มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดสุโขทัย บ้านเดียวกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้ประกาศว่าพร้อมสนับสนุนนายพิธา แต่ล่าสุดพลิก 360 องศาเรียบร้อยแล้ว โดยให้สาเหตุที่ไม่สามารถโหวตให้กับนายพิธาได้คือ เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

เช่นเดียวกับ ส.ว.อีกหลายคนอย่าง นายเฉลิม เฟื่องคอน ส.ว. ที่เคยยึดหลักยกมือให้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันออกมาระบุในทำนองเดียวกันว่า ไม่สามารถยกมือให้เพราะเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเว้นยกเลิกนโยบายนี้ไปถึงจะโหวตให้ 

ขณะที่นายประพันธ์ คูณมี ส.ว.อีกราย ออกมาเปิดเผยเมื่อปลายสัปดาห์ว่า เสียงส่วนใหญ่ใน "สภาสูง" ขณะนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่ยอมรับนายพิธา ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันคือเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

ธงของ ส.ว.ส่วนใหญ่ขณะนี้คือ หากนายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ยอมลดธงเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่มีวันโหวตให้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่พรรคก้าวไกลจะยอมลดเพดานตัวเอง เพราะขณะนี้มวลชนหลายคนเริ่มไม่พอใจที่พรรคสีส้มยอมถอยในหลายเรื่องเพียงเพราะจะเข้าสู่อำนาจ อย่างเช่นการยอมถอยเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคเพื่อไทย  

อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาของ ส.ว.ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ที่มีการกลับลำตั้งแท่นว่าจะไม่โหวตให้นั้น ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง ว่าได้รับสัญญาณอะไรทำให้ไม่กล้าแหกคอกหรือไม่   

หรือเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว เพียงแต่การแสดงออกในช่วงแรกเป็นแค่ละครว่า ส.ว.ไม่ได้จ้องจะขัดขวางนายพิธา และในสภาสูงเองมีความหลากหลายเพียงเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี เหตุผลในการจะไม่ยกมือโหวตนายกฯ ของ ส.ว.ขณะนี้ ดูเหมือนเรื่องความสำคัญของคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธา จะถูกพูดถึงไม่มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ให้น้ำหนักไปที่ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แทน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการแล้ว นั่นคือ "ความคลุมเครือ" 

แค่ "ความคลุมเครือ" ก็เพียงพอในการที่จะไม่ยกมือให้ อีกทั้งถึงอย่างไรก็มีเหตุผลเรื่องนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า  

ฟากปฏิกิริยาของพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล มองปรากฏการณ์ ส.ว.กลับลำว่ายังเป็นแค่ ส.ว.บางส่วนเท่านั้น พร้อมมองโลกในแง่บวกว่ายังมี ส.ว.ที่ไม่ได้แสดงความเห็นอีกหลายคน 

นอกจากนี้ นายชัยธวัชยังย้ำว่า หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่านการโหวตในวันที่ 13 กรกฎาคม พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อซ้ำอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม แต่เชื่อว่าจะจบแค่ครั้งเดียว 

ท่าทีดังกล่าวดูเหมือนว่าพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจ แต่ในทางปฏิบัติแล้วพรรคก้าวไกลรู้อยู่เต็มอกว่า ตราบใดที่ไม่มีการลดเพดานเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่มีวันที่ ส.ว.ส่วนใหญ่จะเติมเสียงให้นายพิธาจนครบ 376 เสียง  

พรรคก้าวไกลวันนี้ไม่ได้เป็นแค่เด็กใสซื่อในเวทีการเมือง แต่มีการปรับแท็กติกเพื่อแก้เกมอีกฝั่ง หรือแม้แต่ใน 8 พรรคร่วมเองที่ไม่ได้สนิทใจต่อกันทุกเรื่อง  

ต่อให้ชื่อของนายพิธาจะไม่ผ่านกี่รอบ พรรคก้าวไกลจะไม่ยอมถอยด้วยตัวเอง เว้นเสียแต่มีใครบางคน หรือพรรคบางพรรคอดรนทนไม่ได้ ออกมาเสนอให้เป็นชื่ออื่นแทน  

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่กำลังตกเป็น "ผู้ต้องหา" ของฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ว่าคิดไม่ซื่อกับพรรคก้าวไกล ตั้งแต่เมื่อครั้งประเด็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่แรกๆ เหมือนยอมพรรคก้าวไกล แต่พอเดดไลน์กลับแสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจนว่าต้องการเก้าอี้ตัวนี้  

ซึ่งหากชื่อของนายพิธายังไม่สามารถฝ่าด่าน ส.ว.ไปได้ ในขณะเดียวกัน คดีเรื่องถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธาก็ยังไม่ได้บทสรุป แต่พรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม จะกลายเป็น "ผู้ต้องหา" หรือ "ผู้ร้าย" ทันที ยิ่งหากพรรคนั้นคือพรรคเพื่อไทย  

วันนี้แม้พรรคก้าวไกลพยายามอ้างเรื่องการเจรจาหาเสียงจาก ส.ว. และเพื่อนสมาชิกจากอีกขั้ว เพื่อให้ได้ 376 เสียง แต่พวกเขารู้ดีว่ามันเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง 

สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามทำในตอนนี้คือ ยืมมือ "สังคม" กับ "มวลชน" เพื่อมาเป็นเกราะป้องกันให้กับนายพิธาและพรรคตัวเอง  

จะเห็นว่าที่ผ่านมานายพิธาทำตัวประหนึ่งนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้แล้ว จนหลายคนไปเย้ยหยันว่า ออกตัวแรงระวังจะรับประทานแห้ว ซึ่งข้อเท็จจริงนายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ได้หูหนวกตาบอด โดยไม่รู้ว่ากำลังตกอยู่ในเกมของอีกฝั่ง แต่พยายามแก้เกมมาตลอดในทุกๆ เรื่อง 

พยายามทำให้เห็นว่า ตามครรลองในประเทศนี้ นายพิธาจะต้องเป็นนายกฯ หากไม่ใช่ นั่นหมายความว่าทุกอย่างผิดเพี้ยน  

โดยใช้ทุกช่องทางที่ตัวเองมีอย่างโซเชียลมีเดีย ที่ล่าสุดนายพิธาทวีตข้อความพร้อมแท็กเทย์เลอร์ สวิฟต์ เชิญชวนให้มาจัดคอนเสิร์ตที่เมืองไทยอีกครั้ง หลังจากถูกยกเลิกไปในช่วงเวลาที่เมืองไทยเกิดการรัฐประหารปี 57 

"เฮ้ เทย์เลอร์ ผมเป็นแฟนเพลงตัวยงของคุณนะ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว หลังจากที่คุณต้องยกเลิกเมื่อครั้งที่แล้วเนื่องจากการรัฐประหาร เสียงของคนไทยได้สะท้อนผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมา และเราทุกคนรอคอยที่จะต้อนรับคุณสู่ประเทศที่สวยงามของเรา! มาสิ แล้วผมจะร้องเพลง Lavender Haze กับคุณ!" 

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สู้กับพรรคเพื่อไทยจนหยดสุดท้าย แต่ด้วยความเก๋าเกมของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโสที่ด้อมส้มให้ความเคารพจากการวางตัว ทำให้ปรับกลยุทธ์สู้ไม่ทัน ทำให้ต้องถอยไปเพียงรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1  

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังพยายามแก้เกมพรรคเพื่อไทย โดยการยัดบางอย่างลงไปในถ้อยแถลงการณ์ 2 พรรคก่อนวันโหวตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการหยิบเอานิรโทษกรรมทางการเมือง การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล 

รวมไปถึงตารางผลัดกันเกาหลัง ตอนเสนอรายชื่อประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ อีก 2 คน โดยนายพิธา จากพรรคก้าวไกล เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง จากพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ เสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 

ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เหมือนจะเดินไปตำหนินายชัยธวัช เลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่าทำไมไม่เป็นคนของพรรคก้าวไกลที่เสนอรายชื่อคนของพรรคเพื่อไทยบ้าง

แน่นอนว่า นพ.ชลน่านเข้าใจผิดพรรคก้าวไกล เพราะทั้งหมดมีการพูดคุยกันแล้ว แต่อย่างน้อยมันทำให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างมีความคิดเรื่องความหวาดระแวงและจ้องแทงกันตลอดเวลาอยู่  

พรรคก้าวไกลขณะนี้ไม่ได้รบในเกมของอีกฝ่าย แต่กำลังรบในเกมที่ตัวเองถนัด นั่นคือ โซเชียลมีเดีย ที่ทรงอิทธิพลกับกลุ่มมวลชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' เอาใจช่วย 'เศรษฐา' ไม่หลุดนายกฯ หวัง 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

'ศิริกัญญา' เชียร์ 'เศรษฐา' รอดคดี ไม่เห็นด้วยองค์การอิสระแทรกแซง ยังหวังก้าวไกลไม่ถูกยุบ ขอรอผล 7 ส.ค. ก่อน รับคุยหลายพรรคไม่ใช่แค่ถิ่นกาขาวฯ

'เศรษฐา' ไม่ขอคิดไกล! อย่าโยง 3 คดีใหญ่ ทำ ครม. ไขว้เขว

'เศรษฐา' ลั่นยังไม่คิดปรับ ครม. ตอนนี้ รับ 3 ปีที่เหลืออาจมีการปรับเปลี่ยน ขออย่าโยง 3 คดีใหญ่เดือน ส.ค. หวั่น รมต.ไขว้เขว ขออย่าคิดไกล ปมข่าววางคนเสียบนายกฯ

นายกฯ ปลื้มทะลุ 18 ล้านคน แห่ลงทะเบียนรับเงินหมื่น แย้มรอฟังข่าวดีจาก พณ.

นายกฯ พอใจประชาชนตื่นตัวลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันแรก เตรียมหารือป้องกันแอปปลอมระบาด- ข้อมูลรั่วไหล-แลกเงินสด แย้มรอฟังข่าวดีจากกระทรวงพาณิชย์