หลังการประชุมหารือของแกนนำ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง ว่างเว้นมานานหลายสัปดาห์ สุดท้ายทั้งหมดก็มาหารือกันอีกครั้งเมื่อ 2 ก.ค. ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ภายใต้เส้นตายการต้องเร่งหาข้อยุติเรื่อง เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ที่จะต้องจบก่อนการประชุมสภาฯ นัดแรก 4 ก.ค.ที่มีวาระสำคัญในการเลือกประธานสภาฯ
อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามคาด ผลการหารือดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติใดๆ ในเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ ออกมา เพราะฝ่ายเพื่อไทยยังคุมเชิงในเรื่องนี้อยู่ ด้วยการที่ประกาศไว้ก่อนล่วงหน้าว่า วันจันทร์ที่ 3 ก.ค. พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคและตามด้วยการประชุม ส.ส.ทั้งหมดในช่วงเช้า เพื่อกำหนดท่าทีของพรรคในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ จากนั้นจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง
เมื่อเพื่อไทยเดินเกมไว้แบบนี้ ดังนั้นผลการหารือแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจนัก เพราะทั้งหมดต้องรอการตัดสินใจของ เพื่อไทย ในวันที่ 3 ก.ค.
สิ่งที่แลเห็นทางการเมือง ต้องบอกว่า เพื่อไทยเดินหมากการเมืองแบบถือไพ่ไว้เหนือกว่าพรรคก้าวไกลหลายขุม เพื่อชิงความได้เปรียบในการเจรจาต่อรอง
แม้จะมีกระแสข่าวออกมาว่า แนวโน้มที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยน่าจะออกมาในทางที่ว่า ให้ตำแหน่งประธานสภาฯ กับพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทยได้รองประธานสภาฯ 2 ตำแหน่ง หรือที่เรียกว่า “ยอมถอย” แต่มีเงื่อนไขที่ไม่พูดต่อสาธารณชน คือหาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เสียงโหวตให้เป็นนายกฯ เกิน 376 เสียง ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก ทางก้าวไกลต้องเปิดโอกาสให้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนทันที
จากนั้นเมื่อเข้าสู่การประชุม ส.ส.พรรคในเวลา 10.00 น. ทางกรรมการบริหารพรรคจะได้นำมติดังกล่าวที่ให้ก้าวไกลได้โควตาประธานสภาฯ เสนอต่อที่ประชุม ส.ส.ของพรรค พท.และจะมีการเปิดให้ ส.ส.แสดงความคิดเห็นรอบสุดท้าย โดยมีรายงานข่าวว่า กรรมการบริหารพรรคยังเชื่อว่า หากมีมติกรรมการบริหารพรรคออกมา ส.ส.ของเพื่อไทย แม้จะไม่เห็นด้วยที่จะให้โควตาประธานสภาฯ กับก้าวไกล แต่ยังเชื่อว่า ส.ส.จะเคารพในมติของกรรมการบริหารพรรค และจะไม่มีการฟรีโหวตในเรื่องนี้
นั่นคือกระแสข่าวท่าทีของเพื่อไทยที่ออกมาในช่วงสุดสัปดาห์ ก่อนหน้าการหารือแกนนำ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 2 ก.ค.
แต่ก็มีข่าวอีกทางว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ส.ส.เขตภาคอีสานและภาคเหนือ รวมถึง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์บางส่วน ยังคงเห็นว่าเก้าอี้ประธานสภาฯ ควรเป็นของเพื่อไทย ทางพรรคต้องต่อรองกับก้าวไกลให้ได้ โดยมีข่าวว่า จะมี ส.ส.เพื่อไทยหลายคนเตรียมจะไปแสดงความเห็นในโทนดังกล่าว ระหว่างการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย 3 ก.ค.นี้
จุดสำคัญของเรื่องนี้ต้องไล่เป็นฉากๆ
เริ่มจากรอดูกันว่า มติกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในช่วงเช้า 3 ก.ค.จะออกมาอย่างไร
จากนั้นตามด้วยการติดตามท่าทีและความเห็นของ ส.ส.เพื่อไทยในเวทีประชุม ส.ส.พรรค 3 ก.ค.จะยังคงยืนยันว่า เพื่อไทยต้องได้โควตาประธานสภาฯ อยู่หรือไม่
แต่จุดสำคัญของเรื่องนี้ให้จับตามองว่า สัญญาณจาก ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาแบบไหน เพราะถ้าทักษิณเคาะออกมาให้เพื่อไทยเอาอย่างไร กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ส่วนใหญ่ คงต้องเอาตามนายใหญ่เพื่อไทย ที่แม้อาจมีเสียงเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แต่ก็คงไม่มีใครกล้าหือ
โดยก่อนจะถึงนัดหมายสำคัญของเพื่อไทย ที่ต้องทุบโต๊ะแล้วว่า จะเอาอย่างไรกับเก้าอี้ประธานสภาฯ
ท่าทีของ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกไว้ ระหว่างร่วมแถลงข่าวแกนนำ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลว่า คณะเจรจา 2 ของทั้ง 2 พรรคคือเพื่อไทยกับก้าวไกล ได้แจ้งความคืบหน้าในการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการให้ที่ประชุมทราบ แต่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีกระบวนการทำงานหลากหลายของคนที่มาทำงานร่วมกันมากมาย และมีความเห็นต่างมากกับการทำงานภายในพรรคที่ต้องอาศัยข้อบังคับพรรค ซึ่งเป็นกระบวนการภายใน และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องฟังความเห็นของสมาชิกพรรค เราจึงแจ้งต่อที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ว่า จะต้องมีการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของพรรคเพื่อไทยเป็นการภายในวันที่ 3 ก.ค.นี้
"ยืนยันว่าเราจะร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล ยึดหลักทุกฝ่ายทุกภาค ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ถือเป็นทางร่วมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และหากข้อสรุปไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวังก็จะกระทบต่อพรรคร่วมและการจัดตั้งรัฐบาล มั่นใจว่าวันที่ 3 ก.ค. เวลา 12.00 น. จะได้ข้อสรุปที่ดีแน่นอน และเป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการขอความเห็นร่วมของพรรคเพื่อไทยเป็นไปตามข้อบังคับ แม้จะมีความเห็นต่าง แต่ก็ต้องมีข้อสรุปร่วมกันออกมา มั่นใจว่าความเห็นร่วมกันจะเป็นไปตามแนวทางที่เคยทำบันทึกความเข้าใจกันไว้"
ส่วนที่อาจจะมี ส.ส.เพื่อไทย ขอให้ลงมติแบบฟรีโหวตนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า ถือเป็นมุมมองที่มีความหลากหลาย แต่ความเป็นพรรคถือว่ามีความสำคัญที่สุด
ถอดรหัสการเมืองตามถ้อยคำของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ว่า หากคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติออกมาอย่างหนึ่งอย่างใด ทาง ส.ส.ของพรรคก็ควรต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าวที่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค เพราะความเป็นพรรคมีความสำคัญที่สุด
เมื่อเป็นแบบนี้ก็คงพอคาดการทิศทางที่จะออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ก็น่าจับตาว่า หากสุดท้ายกรรมการบริหารพรรคมีมติทำนองว่า ให้โควตาประธานสภาฯ เป็นของก้าวไกล ทาง ส.ส.เพื่อไทยหลายคนก็อาจไม่เห็นด้วย โดยอาจอ้างเรื่องการลงมติเลือกประธานสภาฯ เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. เพราะไม่ใช่การลงมติเรื่องของกฎหมาย หรือการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็อาจทำให้ ส.ส.บางส่วนโต้แย้ง ไม่เห็นด้วย รวมถึงการแย้งว่า กรรมการบริหารพรรคมีแค่ 10 คน แต่ ส.ส.มีร้อยกว่าคน และกรรมการบริหารพรรคบางคนก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ทางกรรมการบริหารพรรคจึงควรต้องฟังเสียง ส.ส.เป็นหลัก
กระนั้นก็อย่างที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น หากสุดท้ายถ้ามีสัญญาณมาจากทักษิณให้เพื่อไทยเดินไปทางไหน ก็เชื่อว่าทั้งกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคก็ต้องปฏิบัติตามนั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ จะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กับการแค่เริ่มต้น จัดสรรเก้าอี้-ตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งแรก ก็ใช้เวลานานกว่าจะได้ข้อยุติ อีกทั้งก็มีการขบเหลี่ยม-ชิงความได้เปรียบทางการเมืองกันตลอดเวลาของก้าวไกลกับเพื่อไทย
มันจึงทำให้แลเห็นทางการเมืองได้ว่า การจับมือทางการเมืองของก้าวไกลกับเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แนวโน้มคงได้เห็นการกระทบกระทั่งทางการเมืองของทั้ง 2 พรรคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานับจากนี้ จนกองเชียร์ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลคงได้แต่นึกในใจ การจับมือกันรอบนี้จะไปได้ตลอดรอดฝั่งมากน้อยแค่ไหน หรือเรือจะล่มกลางทางเสียก่อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี