จับตา4ก.ค.โหวต'ประธานสภาฯ' สกัดหรือปล่อย'ก้าวไกล'แก้ม.112

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวปล่อยออกมาให้วุ่นวายช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4 ก.ค.

กรณีดีลระหว่าง 2 พรรคลงตัวแล้วว่าพรรคเพื่อไทยยอมยกตำแหน่งประธานฝ่ายนิติบัญญัติให้แก่พรรคก้าวไกล แต่มีเงื่อนไขว่าต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หากพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ 

ข่าวนี้ออกมาไม่ถึง 12 ชั่วโมงก็เริ่มเห็นบรรดาแกนนำสองพรรคออกมาปฏิเสธทันควัน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเป็นการปล่อยข่าว ระดับแกนนำเองก็ยังงงว่ามาอย่างไร

“ไม่ใช่ผลดีกับพรรคแน่นอน และคนที่ปล่อยข่าวมาอ้างตัวว่าเป็นแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เช่นนี้ยิ่งส่งผลไม่ดี ยิ่งทำให้เราตกเป็นจำเลยเข้าไปอีก”

สอดรับกับ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธข่าว โดยระบุว่าการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เรื่องประธานสภาฯ ยังไม่ลงตัว ไม่ควรมีข่าวปล่อย ข่าวเสี้ยม

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ออกมาแก้เกี้ยวทันทีว่าเรื่องประธานสภาฯ ยังไม่ได้ข้อยุติ และแสดงความมั่นใจว่าการนัดหารือในวันที่ 2 ก.ค.ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะได้ข้อยุติเรื่องนี้   

ยังตีความดักคอว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่แทงข้างหลัง เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าการโหวตประธานสภาฯ พรรคเพื่อไทยอาจฟรีโหวต และตระเตรียมการผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน หลังเกิดเค้าลางเกี่ยวกับดีลลับกลับมาจากอังกฤษ หรือสูตรต่างๆ ข้ามขั้วกับพรรคปีกรัฐบาลเดิม 188 เสียง  

เบื้องต้นในชั้นนี้ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังไม่มีข้อยุติเรื่องประธานสภาฯ แต่ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลากเกมเลือกประธานสภาฯ ไปวันที่ 3 ก.ค. ผ่านการประชุมภายในพรรคทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ที่คาดจะชัดเจนแล้วแถลงต่อสาธารณชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อสแกนเนื้อแท้ของสองพรรคนั้น ต้องการตำแหน่งดังกล่าวนี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของตัวเอง

สิ่งที่เห็นวันนี้อาจไม่ใช่ของจริง กำลังรอสถานการณ์เพื่อรอเวลาแยกทาง ที่เปรียบสองพรรคนี้เป็น ปลาคนละน้ำ  

ศัตรูและคู่แข่งวันนี้ของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ   

แต่เป็นพรรคก้าวไกล ที่ชนะเลือกตั้งด้วยวาทกรรมทางการเมือง"มีลุงไม่มีเรา และมีเราไม่มีลุง" รวมทั้งความประมาทเลิ่นเล่ออย่างร้ายแรงของคนพรรคเพื่อไทย ที่มั่นใจในกระแสของตัวเองและไม่เห็นหัวประชาชน นำมาซึ่งความสูญเสีย 

ยกตัวอย่าง 70 ที่นั่ง จาก 6 จังหวัด ที่ต้องยกให้พรรคสีส้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ 32 ที่นั่ง เชียงใหม่ 8 ที่นั่ง จังหวัดนนทุรี 8 ที่นั่ง จังหวัดชลบุรี 8 ที่นั่ง สมุทรปราการ 8 ที่นั่ง และปทุมธานี 6 ที่นั่ง ฯลฯ  

ส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้อันดับหนึ่ง จำนวน 151 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยพลาดเป้าหมายแลนด์สไลด์ไปอย่างย่อยยับทะลุซอย ได้อันดับสองด้วยคะแนนเสียง 141 เสียง 

ความเจ็บปวดของเพื่อไทยก็คือบรรดาผู้สมัคร ส.ส.เขตต่างๆ ไม่เชื่อลองไปถามนายอดิศร เพียงเกษ หรือ ร.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บ้านใหญ่ และรุ่นเก๋าจากพรรคเพื่อไทยดูได้    

ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำระดับยุทธศาสตร์ในห้องแอร์ อาจไม่รับรู้บรรยากาศตรงนี้ เพราะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย แถมยังเลื่อมใสในลัทธิและยอมตกไปอยู่ในเกมของพรรคก้าวไกล

ดังนั้นเมื่อผู้มีอำนาจตัวจริงในพรรคเพื่อไทยตั้งสติได้ และหากต้องการเป็นรัฐบาล เป้าหมายสูงสุดคือ นายใหญ่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้กลับบ้าน จะต้องกระทำการเพื่อให้ผู้มีอำนาจเปิดไฟเขียวด้วยความพอใจและเต็มใจ  

จำเป็นต้องเขี่ยพรรคก้าวไกลมิให้มีอำนาจ และขจัด "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" พ้นจากเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 เนื่องจากมีวิธีคิดและนโยบายเย้ยฟ้าท้าดิน ในการหาเสียงเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

รวมถึงนโยบายหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อาทิ การแบ่งแยกดินแดนรัฐปาตานี หรือการเลือกนายกฯ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดขนาดกองทัพ ยังเห็นชอบให้ผู้มีคดีอาญาตามมาตรา 112 มาเข้ามาเป็น ส.ส. และให้ท้าย บ่มเพาะให้มวลชนกลุ่ม 3 นิ้ว เคลื่อนไหวทางการเมืองที่กระทบสถาบันเบื้องสูงใช่หรือไม่   

ด่านแรกที่พรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์ให้เห็นความจริงใจ คือไม่ยอมยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้พรรคก้าวไกล เพื่อหวังผลคุมเกมการเลือกนายกฯ หรือเปลี่ยนเกมเสิร์ฟ

เสนอแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นมาแทนที่ คาดจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ หากนายพิธาไม่ผ่านด่านวุฒิสภา 

ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคดีในช่วงโหวตนายกฯ ประเด็นส่วนตัวเรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ที่กำลังจะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ ส.ส.และ ส.ว. ใช้เสียง 1 ใน 10 เตรียมยื่นเรื่องตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เตรียมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่ผูกโยงไปถึงคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกด้วย    

รวมทั้งการหาเสียงของพรรคก้าวไกลในเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ ศาลรัฐธรรมนูญออกมาส่งสัญญาณ โดยสอบถามไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด จะรับหรือไม่รับเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เพื่อให้หยุดการกระทำ หลังมีผู้ร้องเรียนไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาล่วงเลยเวลามาแล้ว 15 วัน    

ทั้งนี้หากคดีนี้ตัดสินออกมาผิดจริง ก็จะเป็นสารตั้งต้นให้ผู้ร้องยื่นเรื่องยุบพรรคก้าวไกล และฟ้องคดีอาญาผู้เกี่ยวข้องอีกด้วย

ไม่เพียงแต่ ส.ว.จะไม่โหวตให้แล้ว ถามต่อว่าจะมี ส.ส.ของพรรคก้าวไกลกล้าโหวตให้ด้วยหรือไม่ เพราะสุ่มเสี่ยงเป็นการกระทำที่จะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทใช่หรือไม่  

นอกจากนี้ ตำแหน่งประธานสภาฯ ยังสามารถสกัดการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้บรรทัดฐานจากสภาชุดที่แล้ว ตามที่นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ให้รับผิดชอบงานด้านพิจารณาบรรจุเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุม  

อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 และ 28-29/2555 ประกอบความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภา วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ที่เคยยื่อร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า… “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”    

จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ   

กลับมาที่ปัจจุบัน เนื้อหาการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เคยถูกสภาชุดแล้วปัดตกตั้งแต่ก่อนการนำมาพิจารณาชั้นรับหลัการ ก็เป็นตัวอักษรและเจตนารมณ์เดียวกับที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียงในการเลือกตั้งก่อนและหลังวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ต้องการผลักดันพร้อมกฎหมาย 45 ฉบับ ภายใน 100 วัน หลังเปิดสภา 

สุดท้ายในวันที่ 4 ก.ค. หากพรรคอันดับสองไม่ยึดตำแหน่งประธานสภาฯ และยอมปล่อยพรรคอันดับหนึ่ง เพราะหวังล่มหัวจมท้ายเป็นรัฐบาลด้วยกัน เพราะถูกคลุมถุงชน หรือรอรับส้มหล่นเป็นนายกฯ เองก็ตาม...   

เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยยื่นกุญแจให้พรรคก้าวไกลเข้าไปเปิดประตูแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลดการคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ ให้เหลือแต่ความเป็นคนธรรมดาใช่หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ข้องใจ! เงินให้กู้ยืมคู่สมรส ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์'

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม