เอ็มโอยูของ 8 พรรคที่ลงนามสัตยาบันร่วมกันเป็นรัฐบาล และสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ คนที่ 30 ส่อเค้าวงแตก-แยกทาง
หลังพรรคเพื่อไทยประกาศชัดว่ายึดสูตร 14 บวก 1 คือ ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นของตัวเอง หลังที่ผ่านมาชักเข้าชักออกให้รุ่นใหญ่ กุเรื่องขึ้นมาล้มดีล พรรคอันดับ 1 ต้องได้ทั้งนายกฯ และประธานสภาฯ เพราะมีเสียงน้อยกว่า 10 ที่นั่งเท่านั้น หรือ 141 เสียง
ขณะที่พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง 151 เสียง ก็ประกาศหลังพิงฝา พร้อมเสนอชื่อ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะต้องการกระดุมเม็ดแรกควบคุมกลไกการโหวตนายกฯ ที่อาจถูกเกมการเมืองตลบหลังได้ทุกเมื่อ
ต่อเนื่องด้วยการผลักดันกฎหมายต่างๆ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เคยหาเสียงเอาไว้
แต่เค้าลางแตกหักก็เด่นชัดขึ้นอีก เมื่อพรรคก้าวไกลยกเลิกการหารือเรื่องประธานสภาฯ กับพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 28 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย และตามมาด้วยการยกเลิกการประชุมหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคของ 8 พรรค ที่พรรคก้าวไกลในวันที่ 29 มิ.ย. เพราะต้องการฟ้องด้อมส้ม ฟ้องสังคม ว่ากำลังถูกหักหลัง
เปลี่ยนไปสู่เกมของพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หวังพลิกขั้วไปจับมือกับพรรครัฐบาลเดิมเพื่อให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับสัญญาณไฟเขียวจากผู้มีอำนาจให้กลับบ้านได้ ในช่วงวันที่ 26 ก.ค.นี้ใช่หรือไม่
เพราะหากพรรคเพื่อไทย ยังดึงดันจับมือดัน “พิธา” เป็นนายกฯ แบบเย้ยฟ้าท้าดิน ความฝันที่นายใหญ่จะกลับบ้านในรอบ 17 ปี ก็เป็นศูนย์
มิพักถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเจอด่านสกัดจาก วุฒิสภา ที่แต่งตั้งมาจากผลพวงของผู้มีอำนาจเดิมนั่นเอง แถมยังไม่กลัวทัวร์ลง และเย้ยไปที่ นายพิธา ว่ามี ส.ว.ไม่เกิน 5 คนจะโหวตหนุนให้ ทั้งที่ต้องมีถึง 376 เสียง จึงจะเป็นนายกฯ ได้ ลำพังมีเสียงรวมกัน 312 เสียงคงไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะข้ออ้างของ "พิธา" และพรรคก้าวไกลนั้น หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสถาบันเบื้องสูง โดยเฉพาะการหาเสียงเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ต้องการลดการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ลงมาให้เหมือนคนทั่วไป
อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ยังออกมาส่งสัญญาณกระตุกขวัญ โดยสอบถามไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ว่าจะรับหรือไม่รับประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เพื่อให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล หยุดการกระทำ หลังมีผู้ร้องเรียนไปให้ อสส.พิจารณา ซึ่งล่วงเลยเวลามาแล้ว 15 วัน โดยคดีนี้หากตัดสินว่าผิดจริง ก็สามารถเป็นสารตั้งต้นให้ผู้ร้องยื่นเรื่องยุบพรรคก้าวไกล และฟ้องคดีอาญาผู้เกี่ยวข้องได้ รวมทั้ง “พิธา” ด้วย
นี่ยังไม่นับคุณสมบัติส่วนตัวของ "ว่าที่นายกฯ ป้ายส้ม" เรื่องการถือหุ้นสื่อ ที่กำลังจะถูก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ ส.ส.และ ส.ว.ใช้เสียง 1 ใน 10 ยื่นเรื่อง ตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เตรียมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าขาดคุณสมบัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ ที่ผูกโยงไปถึงคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกด้วย
ซึ่งมีหลายฝ่ายเชื่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาในช่วงโหวตนายกฯ กลางเดือน ก.ค. จะส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะ ส.ว.รวมทั้ง ส.ส.จำนวนมาก จะใช้ข้ออ้างเหล่านี้ไม่สนับสนุน แขวนเรื่องนี้ หรือชิงเสนอแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นขึ้นมาแทน เพราะไม่กล้าเสี่ยงที่จะสร้างความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท หากสุดท้ายศาลตัดสินว่ามีความผิดในเวลาต่อมา
จึงเป็นเหตุให้ "พรรคเพื่อไทย" หากอยากพาทักษิณ กลับบ้าน จะต้องยึดตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ได้ และถึงเวลาเปลี่ยนเกม มาแข่งขันผ่านการโหวตในสภาแบบตรงไปตรงมา ดีกว่าปล่อยเกมไหลเป็นเบี้ยล่างพรรคก้าวไกล หรือเล่นการเมืองลับหลัง อย่างเช่นกระแสที่จะให้พรรคพลังประชารัฐเสนอข้ามขั้วให้นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มาเป็นประธานสภาด้วยวิธีลงคะแนนลับ เป็นต้น
ซึ่งเสี่ยงจะถูกประณามหนักกว่าเปิดหน้าสู้ไปเลย เพราะอย่างน้อยก็ได้ใจเอฟซีเสื้อแดง 10 ล้านเสียง และกองเชียร์อื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล
พร้อมหาจังหวะที่ “พิธา” สะดุดเรื่องการโหวตนายกฯ ก่อนที่จะสลายขั้วเดิม และพลิกขั้วใหม่ ตามสไตล์การเมืองแบบไทยๆ ที่สัญญาณดิน ฟ้า อากาศ เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ดังที่กูรูทางการเมืองออกมาดักคอ เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย หรือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และนักวิชาการ ด้วยสูตรลับต่างๆ เช่น สูตรพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย จำนวน 252 หรือสูตรพรรคเพื่อไทย บวกกับ 188 เสียงจากพรรครัฐบาลเดิม หรือดีลลับอังกฤษ ที่เชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ขานรับแนวทางนี้ พร้อมถีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
หากเป็นไปตามดีลลับเหล่านี้ ผู้ที่จะขัดขวาง "พิธา" ให้ตกเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 และพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ใช่วุฒิสภา 250 เสียง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่สองลุง...แต่เป็นพรรคเพื่อไทยนั่นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
เปิดแนวรบใหม่! 'ทักษิณ' เหน็บ 'นิด้าโพล' อยู่ตรงข้าม เจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลร
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ป.ป.ช. ตั้งที่ปรึกษาองค์คณะไต่สวน คดีเอื้อทักษิณนอนชั้น 14 ให้แจ้งคืบหน้าทุก 1 เดือน
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เ
'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.
'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด