ไทม์ไลน์การเมืองเพื่อนำไปสู่การมี ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง กับ ผู้นำฝ่ายบริหาร-นายกรัฐมนตรี ชัดเจนขึ้นตามลำดับ
หลัง 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งในวันดังกล่าว ตามข่าวจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้นวันอังคารที่ 4 ก.ค.จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีวาระสำคัญคือ การโหวตเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ อีก 2 คน และเมื่อโหวตเสร็จ ก็ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ส่วนการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นหลังมีประธานสภาฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เขียนล็อกไว้ว่า จะต้องนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ภายในกี่วัน ทำให้เป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการนัดประชุม แต่เป็นไปได้ที่อาจเป็นสัปดาห์ถัดไป หลังโหวตเลือกประธานสภาฯ โดยมีการประเมินว่าน่าจะอยู่ในช่วง 13-14 ก.ค.
เพราะหากประธานรัฐสภา ที่ไม่ว่าจะมาจากพรรคก้าวไกลหรือเพื่อไทยดึงเวลาให้เนิ่นนานออกไป เพื่อรอให้ก้าวไกลไปประสานกับสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ส.พรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจาก 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล จนมั่นใจแล้วว่าเสียงถึง 376 เสียง ถึงค่อยนัดประชุม มันก็คงไม่ถูกต้อง เนื่องจากในความเป็นจริง เมื่อ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลเซ็นเอ็มโอยู และประกาศหนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ถึงตอนนี้กินเวลามาร่วมเดือนแล้วที่คนของก้าวไกลมีเวลาในการไปประสานกับ ส.ว.และ ส.ส.พรรคต่างๆ ให้มาร่วมโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ดังนั้นประธานรัฐสภาคงนัดประชุมโหวตนายกฯ ไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังรับตำแหน่ง
สำหรับท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ พบว่า 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ 312 เสียง ยังขาดเสียงสมาชิกรัฐสภาอีก 65 เสียง เพราะตัวประธานรัฐสภา ตามธรรมเนียมจะไม่ร่วมโหวต ซึ่งหากไม่มี ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นนอกจาก 8 พรรคตั้งรัฐบาลมาร่วมโหวตให้พิธา ก็เท่ากับว่าพิธาและพรรคก้าวไกลต้องพึ่งเสียง ส.ว. 65 เสียง มาเติมเต็มให้ครบ 376 เสียง
ที่พบว่า ส.ว.สายที่ไม่เอา ก้าวไกล-พิธา ดูจะมั่นใจว่า จนถึงตอนนี้ เสียง ส.ว.ที่จะหนุนพิธายังไม่น่าจะมีมากนัก และมีแนวโน้มลดลงเสียด้วย
อย่าง เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา-ประธานคณะ กมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง วุฒิสภา แสดงท่าทีล่าสุดไว้ว่า ที่คนในพรรคก้าวไกล อ้างว่ามีทิศทางที่ดีที่ ส.ว.จะสนับสนุนนายกฯ ของพรรคก้าวไกล เห็นว่าเป็นการปั่นราคาทางการเมืองหรือปั่นหุ้นทางการเมือง เพราะจากที่รับทราบ ส.ว.ที่เคยประกาศสนับสนุนนายกฯ ประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่ไม่เคยเอ่ยชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล แม้จะมีคนที่เอ่ยถึงชื่อ แต่ทราบว่าเขาถอยแล้ว
ด้าน พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ให้ความเห็นเช่นกันว่า บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อมาให้โหวตเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ได้มีแค่ชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียงคนเดียวก็ได้ อาจจะมีชื่ออื่นอีก แต่มีหลักคือ หนึ่ง จะโหวตเลือกคนดี คนเก่ง สอง บุคคลนั้นทำอะไร คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ บ้านเมือง ผลประโยชน์ประชาชน เป็นหลักหรือไม่ สาม ต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในหลัก ทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
"พลเอกอกนิษฐ์-เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับพลเอกประยุทธ์ นายกฯ ฝากไปถึง 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลว่า เวลานี้ ใครๆ ก็โยนมาที่ ส.ว. ถ้าไม่ให้ถึง ส.ว.พวกคุณก็ไปรวมเสียง ส.ส.กันมาให้ได้ถึง 376 เสียง แล้ว ส.ว.จะหยุดเลย ไม่ต้องลงมติโหวต พวกคุณก็ได้เป็นรัฐบาลแน่ 376 เสียง ทำได้ไหม พวกคุณไปเคลียร์กันเองสิ ไม่ใช่อะไรก็มาโยนให้ ส.ว.
พร้อมกันนี้ พลเอกอกนิษฐ์ ยังวิพากษ์ถึง นโยบายปฏิรูปกองทัพ ของพรรคก้าวไกลด้วยว่าที่เสนอมาหลายอย่าง เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยุบศาลทหาร ยกเลิก กอ.รมน.นั้น ในฐานะอดีตทหารเก่า ขอยืนยันว่า เรื่องปฏิรูปกองทัพไม่ใช่ความคิดใหม่ กองทัพมีการปฏิรูปมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2548-2549 มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องปฏิรูปกองทัพ และปัจจุบันกองทัพก็อยู่ระหว่างการปฏิรูป เช่น ลดกำลังพล-ลดนายพล-ลดหน่วย ที่เป็นแผนระยะยาว ทำกันมาโดยต่อเนื่อง แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหาร ที่ผ่านมากองทัพก็มีการลดการเกณฑ์ทหารลง แล้วใช้มาตรการเพื่อจูงใจให้คนมาสมัครเกณฑ์ทหาร กองทัพทำกันมาตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่
"ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพ แต่โครงสร้างที่เขาเสนอมา คือการยกโครงสร้างของกองทัพสหรัฐอเมริกามาทั้งหมดเลย แบบนี้เรียกว่าปฏิรูปหรือไปลอกแบบ"
พลเอกอกนิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีอายุมาแค่ 200 กว่าปี เท่ากับมีกองทัพมาแค่ 200 ปี แต่ประเทศไทยมีกองทัพมาร่วม 700-800 ปี แล้วสหรัฐมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ ตอนที่เริ่มมีกองทัพก็ไม่มี แต่ของเรามีกองทัพมา 700-800 ปี เรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทยจนถึงปัจจุบันนี้ เราถึงมีการสวนสนาม สาบานตน สวนสนามราชวัลลภ
“เรามีกองทัพมา 700-800 ปี พระมหากษัตริย์ทรงนำทัพออกไปรบ ท่านทรงเป็นจอมทัพไทย ถามว่าถ้าคุณไปก๊อปปี้โครงสร้างกองทัพสหรัฐมา แล้วจอมทัพไทยอยู่ตรงไหน ยังเป็นจอมทัพไทยอยู่หรือไม่ ตอบผม คนที่คิดเรื่องนี้"
ขณะที่ แหล่งข่าวที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สายมือประสานคนหนึ่งในสภาสูงฯ คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า หลังมีการเปิดประชุมรัฐสภาตั้งแต่ 3 ก.ค. และทำให้มีการประชุมวุฒิสภาประจำสัปดาห์ ทำให้ ส.ว.จะกลับมาพบเจอกันบ่อยครั้งขึ้น เป็นโอกาสที่ ส.ว.จะได้แลกเปลี่ยนความเห็น-ข้อมูลทางการเมืองกันว่า การโหวตเลือกนายกฯ ในฝ่ายสภาฯ มีความเคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งขณะนี้ ส.ว.บางส่วนก็มีการพบปะพูดคุยกันเรื่องดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการมาตลอดอยู่แล้ว ที่พบว่าตอนนี้ ส.ว.หลายคนตัดสินใจแล้วว่า จะโหวตให้พิธา หรือไม่โหวตพิธา โดยบางคนบอกว่าจะขอดูชื่อในวันโหวตด้วยว่า ฝั่งพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบันจะเสนอชื่อแคนดิเดตชิงนายกฯ ประกบเข้ามาแข่งกับพิธาด้วยหรือไม่
แหล่งข่าวที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สายมือประสานในสภาสูง บอกว่า เท่าที่ตรวจสอบและสอบถามกับ ส.ว.หลายคน โดยเฉพาะคนที่เคยมีชื่อตามสื่อก่อนหน้านี้ว่า จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง พบว่าถึงตอนนี้หลายคนเริ่มลังเลใจ เพราะช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ ส.ว. ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ และหลายคนเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง-เป็นคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมรู้สึกไม่สบายใจ หากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะนอกจากเรื่องที่ก้าวไกลยืนกรานจะแก้มาตรา 112 ที่ ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วย ช่วงหลังยังเกิดกรณีเรื่อง หยกเยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่ง ส.ว.ส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นห่วง โดยเฉพาะหากก้าวไกลรับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการหรือเป็นรัฐบาล รวมถึงกรณี ความเคลื่อนไหวเรื่องแนวคิดแบ่งแยกดินแดนที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาที่ปัตตานี ซึ่งทำให้ ส.ว.สายทหาร-ส.ว.สายอดีตข้าราชการมหาดไทยหลายคนแสดงความเป็นห่วง รวมถึงเรื่องแนวคิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรงทั่วประเทศ จากเดิมที่ผู้ว่าฯ มาจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รวมถึงกรณีหุ้นสื่อของพิธาด้วย เป็นต้น
"ส.ว.กำลังดูกันอยู่ว่า กกต.จะส่งคำร้องคดีพิธาไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันโหวตนายกฯ หรือไม่ โดยหากส่งทัน แล้วศาลสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจทำให้การตัดสินของ ส.ว.ยิ่งง่ายขึ้น แต่หากไม่ทัน ส.ว.ก็อาจพิจารณามากขึ้นว่าจะโหวตให้พิธาหรือไม่ ซึ่งถึงตอนนี้พบว่า ว.ที่จะโหวตให้พิธายังมีไม่เยอะ เว้นแต่มีสัญญาณอะไรบางอย่างออกมาก่อนวันโหวตนายกฯ" แหล่งข่าวที่เป็น ส.ว.สายมือประสานในสภาสูงให้ข้อมูลเบื้องต้น
ทั้งหมดคือท่าทีความเคลื่อนไหวของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ซึ่งดูแล้วก้าวไกลคงต้องทำงานหนักขึ้นในการประสานกับสภาสูง หากหวังจะพึ่งเสียง ส.ว.มาดันให้พิธาเข้าทำเนียบรัฐบาลเป็นนายกฯ คนที่ 30 ให้ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม
หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เจี๊ยบ อมรัตน์ บอกเห็นภาพนี้แล้วจะอ้วก!
จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล จับมือกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใน