สายตรงนายใหญ่สัญญาณชัด ถึงขั้นฟรีโหวตประธานสภาฯ ?

ข้อยุติของ 8 พรรคร่วมในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก หลังจากมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไปแล้วช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ยังส่อเค้าว่าวุ่นไม่เลิก แม้แกนนำที่เป็นตัวแทนเจรจาของพรรคใหญ่จะออกมาระบุว่า 28 มิ.ย.จะได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว แต่นั่นก็ไม่ได้ยืนยันว่าในที่สุดจะมีชื่อเพียงคนเดียวจากพรรคร่วมเสนอให้สภาเห็นชอบ เพราะวันนี้โจทย์ดังกล่าวก็ยังถูกแขวนไว้ เหมือนรอใครบางคนเจรจาหลังม่านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน

การนิ่งของพรรคก้าวไกล จึงน่าจะอยู่ในช่วงประเมินสถานการณ์ว่าจะตอบโต้เกมการเมืองนี้อย่างไร เมื่อการปักธงหลักการพรรคอันดับหนึ่งต้องเป็นผู้ที่เสนอชื่อผู้นั่งประธานสภาฯ ซึ่งมาจากพรรคของตนเอง เพื่อผลักดันกฎหมายที่ได้สัญญากับประชาชนไว้ จึงไม่สามารถพลิกเป็นอื่นไปได้ แต่ก็ยังไม่กล้าหักกับพรรคเพื่อไทย เพราะไม่เช่นนั้นการจัดตั้งรัฐบาลก็อาจล้มไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มปฏิบัติการตามเอ็มโอยู

สิ่งที่น่าสนใจคือ ท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ยังสับสน  เริ่มจากที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่าเพื่อไทยเห็นชอบให้พรรคอันดับ 1 ได้เก้าอี้ประธานสภาฯ และพรรคอันดับ 2 ได้รองประธาน จากนั้น ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีช่องหนึ่ง พูดในหลักการคล้ายกับที่ภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม “ภูมิธรรม” ได้มาอธิบายขยายความว่า ตนพูดในหลักการเท่านั้น มิได้หมายความว่าจะยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้ก้าวไกล เพราะสองพรรคยังต้องพูดคุยกันอีกครั้ง เนื่องจากมีสัญญาณบางอย่างจากการแสดงความคิดเห็นของนักการเมืองในพรรคบางคน

นำไปสู่การประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เพื่อรายงานข้อสรุปการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ รวมถึงรายงานไทม์ไลน์เปิดสภา ความคืบหน้าเกี่ยวกับการประสานงานร่วมรัฐบาลกับ 8 พรรค และตำแหน่งประธานสภาฯ ที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้มอบหมายให้ผู้แทนไปดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติ ก็จะได้รับฟังแนวทางที่กรรมการบริหารพรรคจะให้ดำเนินการต่อ    

แล้วแต่ผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม ส.ส.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าการประชุมน่าจะได้ข้อยุติที่ไปคุยกับพรรคก้าวไกล ในวันที่  28 มิ.ย. ที่ได้นัดหมายพูดคุยกันเรื่องนี้ที่พรรคเพื่อไทย  และหลังจากนั้นวันที่ 29 มิ.ย. หัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค จะมีการประชุมกันที่พรรคก้าวไกล" อ้วน-ภูมิธรรมระบุ

หากดูท่าทีแกนนำของพรรคเพื่อไทยที่น่าสนใจคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่า ประธานสภาฯ ต้องเป็นของทุกพรรค ไม่ใช่เป็นตัวเอง ตัวเองเสนอกฎหมายคนเดียวจะผ่านหรือไม่ ก็ไม่ผ่าน ที่พูดมามันโง่ เห็นหรือไม่มาวันแรกก็เปิดศึกแล้ว

"กรณีพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล มีตัวแทน 8 พรรคหารือกันจะเลือกใครเป็นประธานสภาฯ เพื่อไทยก็มีตัวแทนไปแต่ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจ ต้องกลับมาถามผู้แทนของพรรค ไม่ใช่ไปกัน 7-8 คน แล้วไปตกลง เพราะประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง ต้องเป็นประธานของทุกพรรคการเมืองในสภา และกรณีที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ ขอยืนยันว่าจะขอให้ทั้ง 8 คน จาก 8 พรรคกลับไปที่พรรคตัวเองก่อนแล้วค่อยวิจารณ์" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่า ประเด็นของประธานสภาฯ นั้นข้อมูลอาจจะไม่ตรงกัน ส.ส.ทั้ง 141 คนของพรรค ตอนแรกบอกว่ารัฐมนตรี 14+1 ก้าวไกลได้นายกฯ เพื่อไทย  14+1 ได้ประธานสภาฯ ถ้าเป็นไปตามนี้พวกเราก็มีความสุข แต่จู่ๆ ก็ไปยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคอันดับ 1 ซึ่งคนที่มีหน้าที่ไปเจรจากับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมต้องคำนึงถึงความรู้สึก ส.ส.เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ของพรรคเพื่อไทย ว่ามีความคิดเห็นลักษณะเช่นนี้ แล้วไปพูดกับพรรคก้าวไกลว่าเขาจะมีท่าทีอย่างไร

"ผมไม่อยากให้ประธานสภาฯ มาขัดขวางการเจริญเติบโตของรัฐบาลผสมที่ใกล้เข้ามาแล้ว ขอภาวนาให้เจรจาจบลงเร็วๆ และในพรรคมีความเห็นแบบนี้เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคะแนนเราอาจจะห่างกันไม่มาก” นายอดิศรกล่าว

คงไม่ใช่เรื่องปกติที่คนของ “พรรคเพื่อไทย” ระดับที่เรียกว่า สายตรงนายใหญ่ ออกโรงวิจารณ์เรื่องประธานสภาฯ เอง ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองหัวหน้าพรรค และ นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เพราะอย่าลืมว่าในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายท่อ ทั้งบ้านแจ้งฯ-บ้านจันทร์ฯ-บ้านลาดฯ แต่ในที่สุดเมื่อต้องโหวต จะมีเพียงสัญญาณเดียวที่ทำให้มติพรรคออกมาซ้ายหรือขวา และท่าทีของระดับยกหูคุย-ไลน์ทางไกลกันได้ จึงมีน้ำหนักที่จะนำมาวิเคราะห์

ถึงขนาด “จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรหลอมรวมประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมพรรคเพื่อไทยที่โรงแรมเอสซีปาร์ค เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.นั้น ได้ให้นายอดิศร  เพียงเกษ ขึ้นพูดเป็นคนแรก แล้วสื่อมวลชนถ่ายทอดสัญญาณทางการเมืองสู่สาธารณะจนจบจึงให้สื่อมวลชนออกจากห้องประชุม ดังนั้นพฤติกรรมการเมืองเช่นนี้ เป็นการจงใจให้เกิดขึ้น เป็นการตระเตรียมไว้ของพรรคเพื่อไทย และไม่น่าใช่เหตุบังเอิญ

“ในเกมการเมืองที่ถูกออกแบบไว้นั้น ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะพิจารณามุมไหนก็ได้พรรคเพื่อไทยอยู่ดี คือก้าวไกลยอมหรือไม่ยอมก็ได้พรรคเพื่อไทย หรือเพื่อไทยมีมติยกให้พรรคก้าวไกลก็ตาม ก็ยังจะได้พรรคเพื่อไทยอยู่ดี” อดีตแกนนำ นปช.ผู้นี้ระบุ

จึงมองได้ว่า จากท่าทีของสายตรงและตัวแทนเจรจาของพรรคที่ยังไม่ชัดเพราะ “คนแดนไกล” ต้องประเมินตัวแปรรอบด้าน เพราะเบื้องหน้ามีอนาคตของตัวเองในการได้กลับบ้านเป็นเดิมพัน ศึกของคนในครอบครัวในการชี้นำในเรื่องนี้จึงเป็นแค่แรงกระเพื่อมก่อนที่ทุกอย่างจะได้รับการ "ฟันธง" เพราะนั่นเป็นเงื่อนไขที่ครอบคลุมไปถึงการเลือกนายกฯ การจัดตั้งรัฐบาล ที่มีสารพัดดีลของหลายบิ๊กในการเข้าสู่ฮอส 376 เสียง ซึ่งมีเพื่อไทยเป็นตัวแปรหลักทุกดีล

แถมยังต้องกังวลเรื่องภาพลักษณ์ที่เพื่อไทยจะสูญเสียการนำขั้วประชาธิปไตย เพราะมีท่าทีลับๆ ล่อๆ ไปจูบปากกับฝ่ายเผด็จการ ซึ่งต้องยอมรับสภาพการถูกแซะจากพวกด้อมส้ม จนถูกผลักให้ไปเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม แสดงออกให้เห็นถึงการปกป้องเทิดทูนสถาบัน ซึ่งต้องวัดใจในการแลก

จึงเป็นเรื่องที่ “นายใหญ่คนแดนไกล” คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะเมื่อลำดับความสำคัญในขณะนี้คือการ ได้กลับบ้าน ที่อาจมีออปชันพ่วงน้องสาวกลับมาด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมเจ็บ ดังนั้นภารกิจแรกที่ต้องสกัดแผนของ “ก้าวไกล” ในการแตะสถาบัน ด้วยการเลือกคนนั่งประธานสภาฯ ตามเกมจากคนที่ไปดีลมาจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ

จึงไม่แปลกที่ชื่อ สุชาติ ตันเจริญ จะยังไม่หายไปจากกระแส และเจ้าตัวเองก็ยังไม่ได้ปฏิเสธอย่างชัดเจน  ท่ามกลางกระแส “งูเห่า” ที่พ่วงยาวไปถึงวาระโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย

คงต้องติดตามต่อไปว่า ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะได้ข้อสรุปอย่างไร แต่เมื่อสภาวะแวดล้อมของ “ตัวจี๊ด-ตัวจริง” ที่ออกมาแสดงท่าทีเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เชื่อว่าคงไม่จบลงด้วยการยกเก้าอี้ให้ก้าวไกลไปได้ง่ายๆ ส่อเค้าต้องไปลุ้นกับการ “ฟรีโหวต” ในวันประชุม ให้สังคมได้เห็นว่าใครเป็นใคร

และมีแนวโน้มว่า เกมนี้พรรคก้าวไกลคงปล่อยให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำลายความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยไปเอง สะสมความไม่พอใจไว้ในอกให้เหล่าบรรดา “ด้อมสม” เพื่อไปปิดเกมในวันโหวตนายกฯ

โยนระเบิดให้พรรคเพื่อไทยที่กำลังเผยจุดยืน และคำตอบเรื่อง “ดีลลับ” จากผลของการเลือกประธานสภาฯ ในครั้งนี้นั่นเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9

เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

บิ๊กโตโยต้าเยือนไทยย้ำร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์

'บิ๊กโตโยต้าญี่ปุ่น' เยือนไทย ให้ความมั่นใจ นายกฯขอยืนหยัดร่วมกับไทยส่งเสริมอุตสาหกรรม ยานยนต์รูปแบบใหม่ต่อไปย้ำ คุณภาพรถยนต์ผลิตในไทยมาตรฐานเดียวกันกับญี่ปุ่น