“แบ่งแยกดินแดน” สู่โหวตนายกฯ เติมเชื้อไฟ "ยุทธบรรจบ"

สังคมกำลังจับตามองกระบวนการในการเลือกประธานสภาฯ นายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกฯ ที่มีชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้รับการเสนอชื่อจากฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นนายกฯ แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างน้อย 2 เรื่อง กลายเป็นปัจจัยให้วุฒิสภาใช้เป็นเงื่อนไขในการไม่ออกเสียงสนับสนุนหรืองดออกเสียง

นอกจากเรื่องของ “หยก” นักเรียนของสถานศึกษาแห่งหนึ่งแล้ว การแสดงท่าทีของพรรคก้าวไกล ในการสนับสนุน ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ได้จัดงานเปิดตัวที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี มีการจำลองการลงประชามติ โดยตั้งคำถามว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียง ประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” โดยแบ่งบัตรลงมติออกเป็น 2 แบบ ให้กับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

กิจกรรมดังกล่าวถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่เก็บข้อมูลหลักฐานเพื่อดำเนินคดี เพราะมองว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจขัดกฎหมาย แม้จะมีรายงานว่า ฝ่ายกฎหมายของรัฐเองยัง “ไม่ฟันธง” ว่าจะเข้าข่าย แต่หน่วยงานความมั่นคงต้องดำเนินการฟ้องร้องเพื่อพิสูจน์ทราบต่อไป

โดยเฉพาะคำกล่าวเปิดตัวของกลุ่มดังกล่าวที่ระบุว่า “เราเชื่อมั่นว่าการประชามติ คือสันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ” หลังสิ้นสุดสนธิสัญญากรุงเทพฯ พ.ศ.2452 หรือ Anglo-Siamese Treaty of 1909 ปาตานีตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามหรือรัฐไทยในปัจจุบัน ปรากฏความพยายามของชาวปาตานีแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดความต้องการทางการเมือง ความพยายามเหล่านั้นแสดงออกทุกยุคทุกสมัย ทั้งแสดงออกผ่านการใช้อาวุธเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านและแสดงออกผ่านการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้อาวุธ หากแต่เราชาวปาตานีไม่สามารถกําหนดชะตากรรมของเราเองได้ ซึ่งเราเชื่อว่า สิทธิการปลดปล่อย สิทธิในการมีชนชาติ (Nation) รวมไปถึงสิทธิ ในการกําหนดชะตากรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวเราแต่เดิมในฐานะมนุษย์ และสามารถขับเคลื่อนต่อสู้ได้ในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่ถูกจํากัด คุกคามโดยกฎหมาย การสร้างสันติภาพปาตานีให้เกิดขึ้น...“คำกล่าวของนักศึกษาในวันนั้น

แน่นอนว่า ระดับนโยบายและหน่วยงานในพื้นที่มีความกังวลต่อการเติบโตของขบวนการนักศึกษาภายใต้องค์กร สโมสรของสถาบันต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนหลัก และยิ่งเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขบวนการบีอาร์เอ็นยังสถาปนาโครงสร้าง “รัฐซ้อนรัฐ” อยู่ จึงต้องเร่งตัดไฟแต่ต้นลม

ยิ่งการเมืองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พรรคประชาชาติและเป็นธรรม รวมไปถึงพรรคก้าวไกล กลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ซึ่งได้รับการปลูกฝังเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพ” มากขึ้นเรื่อยๆ 

ฝ่ายอำนาจเก่าจึงไม่ยอมให้มีการ “ตอกหมุด” สถาปนาเครือข่ายการเมืองดังกล่าวที่เป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับขบวนการบีอาร์เอ็น แม้จะมีการเมืองเรื่องผลประโยชน์ที่ทหารกำกับอยู่นานแฝงอยู่ด้วย จึงไม่ยอมมีการปรับโครงสร้างองค์กรฝ่ายรัฐ แต่ก็ต้องยอมรับแนวคิดอนุรักษนิยมก็ยังเป็นด่านสุดท้ายที่จะทำให้การ “แบ่งแยกดินแดน” ไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ง่ายๆ

หากย้อนดูแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่มีพลวัตของการเคลื่อนไหวที่เป็นระบบ ทั้งการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมในการรวมตัวเพื่อแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของความเป็นรัฐปาตานี การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษา และการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง Right to Self Determination หรือ RSD”

ที่มีการตีความของฝ่ายที่ต่อสู้เรื่องนี้ว่า “ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน” และไม่ผิดมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่เคยกำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาติของรัฐปาตานีที่ถูกยึดครอง 

แต่ขณะที่ “ฝ่ายรัฐ” มองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องตีความ และต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ก็ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการขยายผลให้ขบวนการนักศึกษาถูกยกระดับ และอาจนำไปสู่การทำให้เยาวชนในฝ่ายกองกำลังของขบวนการเปิดปฏิบัติการและทำ “สงคราม” ต่อต้านรัฐด้วยความรุนแรง และนั่นจะทำให้การ RSD ที่ถูกปูทางไว้เข้ามารองรับการลงประชามติแบ่งแยกได้ โดยองค์กรนานาชาติจะเข้ามาแทรกแซง ซึ่งวันนั้น ม.1 ตาม รธน.อาจไม่มีความหมาย  

อย่างที่ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายความมั่นคงจับตากลุ่มที่มีเป้าหมาย “แยกดินแดน” มาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้ช่องทางการทำประชามติเพื่อแยกดินแดน ตั้งรัฐเอกราชขึ้นใหม่

จริงๆ แล้วกลุ่มเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมี แต่บางครั้งสังคมก็มองภายนอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรง ด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิด แต่ในอีกด้านหนึ่งที่สังคมมองไม่เห็น ที่เหมือนเป็นภูเขาน้ำแข็ง ก็คือเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางความคิด สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขาพยายามต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยระดับยุทธศาสตร์ก็คือเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดน ฉะนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย และจำเป็นจะต้องเข้าดำเนินการทางกฎหมายต่อทุกพฤติกรรม ทุกการกระทำที่พบเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยไม่ละเว้น

จึงไม่แปลกที่ท่าทีของพรรคการเมืองต้องออกมายืนยัน “เสียงแข็ง” ว่า ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่ขัดมาตรา 1 กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะการมีพื้นที่ปลอดภัยให้แสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพในการพูดถึง และยังต้องเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้

ไม่ว่าจะเป็น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ หรือนายกัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม ที่มองว่าถ้าไม่พูดชัดเจน อาจเข้าทางเกมการเมืองของอีกฝ่าย ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองและ ส.ส.ของตนเอง

แต่อย่างที่กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐในขณะนี้ใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพราะการเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่มีการเตรียมการรองรับการ “ทำสงคราม” เพื่อไปสู่ “การเจรจา” และเข้าสู่กระบวนการแบ่งแยกดินแดนตามกติกาสากล ด้วยการให้ความรู้เรื่อง RSD อย่างกว้างขวาง

ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องผ่านขั้นตอนของการใช้กำลังในการปะทะก่อน และ “เยาวชน” ก็กลายเป็นด่านหน้าของยุทธบรรจบ ที่จะนำไปสู่การ “เจรจาสันติภาพ” ตามเกมของขบวนการ

การเดินเครื่องทางการเมือง ในเรื่องของความมั่นคงจึงต้องทำอย่างระมัดระวังและ มองอย่างรอบด้าน ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้า ไม่เช่นนั้นอาจเข้าทางของคนที่อยู่นอกรัฐ

ยกเว้นว่ามีใครบางคนตั้งใจเดินเข้าสู่เกมนั้น!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง