เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ค. ที่เป็นวันแรก ซึ่งบรรดา ส.ส.ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เดินทางไปรับหนังสือรับรองที่สำนักงาน กกต. และจากนั้นหลายคนก็ไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันทันที เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและรองนายกรัฐมนตรี ที่แม้จะอยู่ในแวดวงอำนาจการเมือง-การทหารมาร่วม 20 ปี แต่ก็ไม่เคยเป็น ส.ส. ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เป็น ส.ส.
ขณะที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีการนัดหมายกันที่จะเดินทางไปรายงานตัวที่สภาฯ พร้อมกัน เช่น ก้าวไกล ที่มี ส.ส.มากสุด 151 คน นัดหมายกันว่าจะไปรายงานตัวพร้อมกันวันที่ 27 มิ.ย. เพราะช่วง 21-23 มิ.ย.ติดงานสัมมนา ส.ส.พรรคที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ขณะที่ เพื่อไทย นัดหมายกันไว้ว่าจะไปรายงานตัวพร้อมกัน 22 มิ.ย.
ตามขั้นตอน เมื่อมี ส.ส.มารายงานตัวจนครบ หรือไม่ต้องครบก็ได้ แต่หากมีมารายงานตัวแล้วถึง 475 คน ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็จะทำเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการนำร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ เพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 สมัยสามัญของสภาฯ ชุดปัจจุบัน และจากนั้นจะได้มีการนัดประชุมสภาฯ ต่อไป ที่คาดว่าการประชุมสภาฯ นัดแรกคงไม่เกิน 13 ก.ค.
ที่ถึงตอนนั้น จุดไคลแมกซ์ที่สำคัญทางการเมืองก็คือการโหวตชิงเก้าอี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง
ซึ่งถึงตอนนี้ แม้แกนนำเพื่อไทยจะยืนยันว่า เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคดำเนินไปด้วยดี เพื่อไทยก็ยอมถอยให้ก้าวไกล โดยการให้พรรคก้าวไกลได้โควตาประธานสภาฯ ส่วนเพื่อไทยได้รองประธานสภาฯ 2 คน
ทว่า หากจับสัญญาณการเมืองกันให้ดี เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว เพราะคนในเพื่อไทยบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเพื่อไทยควรต่อรองแบบยื่นคำขาดไปเลยว่าเพื่อไทยต้องได้ประธานสภาฯ ไม่ควรถอยให้ก้าวไกล
จนมีข่าวว่า ส.ส.เพื่อไทยบางส่วนไม่พอใจบทบาทของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค, ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ที่ร่วมเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลและการหาข้อยุติเรื่องประธานสภาฯ กับก้าวไกล เพราะมองว่าไปต่อรองและตัดสินใจกันลำพัง ไม่มีการหารือหรือขอความเห็นคนในพรรค และมองว่าหากเพื่อไทยยอมยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้ก้าวไกล ก็ควรนำเรื่องนี้มาคุยกันในที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในวันพุธที่ 21 มิ.ย.นี้ ที่นัดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว เพื่อขอความเห็นจาก ส.ส.ของพรรค ไม่ใช่ไปให้ข่าวกับสื่อก่อน
จนมีกระแสข่าวว่า คนเพื่อไทยบางส่วนก็พยายามสื่อสารไปถึงทักษิณ ชินวัตร ที่ต่างประเทศว่าคนในพรรคไม่พอใจในตัวนายภูมิธรรมอย่างมาก เพราะมองว่าไปเจรจาต่อรองแล้ว ไม่ทำให้ฝ่ายเพื่อไทยกุมความได้เปรียบทางการเมือง
ถึงขั้นมีกระแสข่าวการเมืองอาจจะมี ส.ส.เพื่อไทยบางปีกเสนอให้ ส.ส.เพื่อไทยฟรีโหวตในการเลือกประธานสภาฯ และให้ ส.ส.ของเพื่อไทยเสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทย เช่น สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย-อดีตรองประธานสภาฯ 2 สมัย ลงแข่งชิงประธานสภาฯ โดยใครได้คะแนนเสียงมากกว่า ก็ได้เป็นประธานสภาฯ จนมีกระแสข่าวว่าอาจจะมี ดีลลับ กับ ส.ส.พรรครัฐบาลปัจจุบัน เช่น พลังประชารัฐ สายธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อขอเสียงสนับสนุน ส.ส.พลังประชารัฐ ให้มาช่วยโหวตให้คนของเพื่อไทยได้เป็นประธานสภาฯ และจากนั้นจะตามด้วยดีลพิเศษ เพื่อไทยตั้งรัฐบาลร่วมกันกับพลังประชารัฐ ถ้าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่าด่าน 376 เสียงโหวตนายกฯ ไม่สำเร็จ
โดยท่าทีของ ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพลังประชารัฐ สายตรงป่ารอยต่อฯ ก็ดูจะไม่ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า การโหวตประธานสภาฯ เนื่องจากการเลือกประธานสภาฯ เป็นเรื่องของ ส.ส. ก็เป็นสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะโหวตใครเป็นประธาน
"ทุกพรรคมีโอกาสเสนอชื่อคนเป็นประธานสภาฯ ได้หมด และไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ พรรคพลังประชารัฐก็เป็นคนเสนอ ส่วนรอบนี้ยังไม่ได้มีการคุยกัน ส่วนที่มีปรากฏชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ เข้ารับการโหวตนั้น ส่วนตัวก็ได้ยินมาพร้อมกับสื่อ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกัน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด"
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวว่าเดินทางไปประเทศอังกฤษ ในช่วงค่ำวันที่ 20 มิ.ย. โดยกระแสข่าวอ้างว่า พล.อ.ประวิตรเดินทางไปพร้อมคนใกล้ชิดไม่กี่คน โดยเป็นคณะเล็ก และมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 25 มิ.ย.
ท่ามกลางการจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะ ดีลลับ-ดีลพิเศษ ต่างๆ ที่จะมี พลังประชารัฐ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญทางการเมือง โดยเริ่มที่ การโหวตเลือกประธานสภาฯ ในช่วงเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้
ซึ่งประเทศอังกฤษเป็นที่รู้กันว่า เป็นหมุดหมายที่ นายใหญ่พรรคเพื่อไทย ปักหลักไปอยู่ที่นั่นตลอด อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้เมื่อเป็นข่าวออกไป ก็ต้องมีการออกมาปฏิเสธจากฝ่ายเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ว่าไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีดีลลับ แต่ของแบบนี้ในทางการเมือง ก็ต้องบอกว่าน่าจับตามาก ในจังหวะที่การเลือกประธานสภาฯ และการโหวตเลือกนายกฯ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
ที่ก็พบว่า ข่าวเรื่องคนในเพื่อไทยไม่พอใจที่ก้าวไกลได้โควตาประธานสภาฯ และจะมีความพยายามจากคนในพรรคเพื่อไทย เพื่อดันคนของตัวเองให้ได้เป็นประธานสภาฯ ให้ได้ ทำให้ ฝ่ายพรรคก้าวไกลก็ดูจะหนักใจไม่ใช่น้อย
จุดนี้อาจเพราะลึกๆ แกนนำพรรคก้าวไกล ที่เหลี่ยมทางการเมือง ความเขี้ยวยังสู้เพื่อไทยไม่ได้ ทำให้ที่ผ่านมาหลายคนก็พอจะมองออกว่า ฝ่ายก้าวไกลดูจะไม่ไว้วางใจการเมืองเพื่อไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคงคิดเหมือนกันว่า เพื่อไทยอาจจะมีดีลพิเศษกับพรรคอื่น นอกจาก 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลไว้เป็นทางเลือกอื่นๆ หากสถานการณ์จำเป็น โดยเฉพาะหากการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ เกิดไม่สำเร็จขึ้นมา จนทำให้เกิดสูตรตั้งรัฐบาลสูตรอื่นขึ้นมา โดยเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งแทน
อย่างทาง ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัสจะเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภาฯ นั้น มองว่าเป็นสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อแข่งได้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเสนอใคร ซึ่งหากอ้างอิงตามข่าวเห็นว่าจะเสนอชื่อ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ โดยหากมีการโหวตแข่งกันจะมี 2 ตัวเลือกในสภา ซึ่งเมื่อปี 2562 ระหว่างนายชวน หลีกภัย และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หากใครได้คะแนนสูงสุดก็ชนะไป แต่มองว่าครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งอื่น
"แต่เชื่อว่า หากมีการตกลงกันได้ของคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นจริงก็ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ในสภาฯ"
ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย จะจบลงก่อนการเปิดประชุมสภาฯ หรือจะจบไม่ลง เพราะฝ่ายเพื่อไทยไม่ยอม?
จุดสำคัญของเรื่องนี้ ให้จับตาการประชุมใหญ่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่นัดหมายไว้ก่อนหน้า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ที่จัดขึ้นวันพุธที่ 21 มิ.ย. ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค
ที่คาดว่าอาจจะมี ส.ส.ของเพื่อไทยบางส่วน ถามแกนนำพรรคและคณะทำงานประสานการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยถึงเรื่องประธานสภาฯ ว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไร ทำไมถึงให้โควตากับพรรคก้าวไกล โดยหากแกนนำพรรคเพื่อไทยเกรงว่าปัญหาจะบานปลาย ไม่อยากให้เกิดเป็นข่าวที่จะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล ก็อาจใช้วิธีเปิดห้องคุยวงเล็ก เพื่อให้คนที่ข้องใจเรื่องนี้สอบถามกับคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง
อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส.ส่วนใหญ่อยากให้นำเรื่องนี้มาคุยและฟังความคิดเห็น ส.ส.กลางวงสัมมนาพรรค ก็อาจเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีพูดคุยกันในวงใหญ่ แต่คุยภายใน ไม่ให้สื่อร่วมฟัง จะได้คุยได้เต็มที่ และคุยให้จบภายในวันที่ 21 มิ.ย. แต่ถ้าคุยไม่จบ ก็อาจใช้วิธีเลื่อนไปคุยกันอีกทีตอนใกล้ๆ วันประชุมสภาฯ นัดแรก โหวตเลือกประธานสภาฯ เพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าวในช่วงนี้ไปก่อน
ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ที่จะมีผลไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย จึงต้องดูว่าเพื่อไทย จะเอาอย่างไร และจะมีแผนลับ-แผนสอง อะไรไว้ต่อรอง เล่นหน้าฉาก-หลังฉาก กับก้าวไกลหรือไม่ น่าติดตาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
‘ณัฐวุฒิ’ ย้ำ ‘เพื่อไทย-พรรคส้ม ’ อยู่ก๊กเดียวกัน ชี้ ภท. ก๊กอนุรักษ์นิยมขวางแก้รธน.
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าผลการลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติ คืออีกรูปธรรมหนึ่งของก
นายกฯ บินมหาสารคาม ติดตามแก้น้ำท่วม-แล้ง เปิดงาน 'ออนซอนกลองยาวชาววาปี'
'นายกฯอิ๊งค์' บินมหาสารคาม ตรวจติดตามอุทกภัยลุ่มน้ำชี-โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ไม่ตอบความคืบหน้าตั้งคกก.ปราบอิทธิพล