กลางสัปดาห์นี้ 21 มิ.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลการเลือกตั้งและประกาศชื่อบุคคลให้เป็น ส.ส.
ส่วนจะรับรองกี่คนยังไม่แน่ชัด แต่คาดหมายว่าในกลุ่มว่าที่ ส.ส.ระบบเขต ที่ชนะเลือกตั้งมา 329 คน ที่ไม่มีเรื่องถูกร้องเรียน จะได้รับการรับรองทั้งหมด ส่วนจะรับรองว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองรวม 100 คนด้วยหรือไม่ในสัปดาห์นี้ ต้องรอติดตาม
ขณะที่ 71 รายชื่อว่าที่ ส.ส.ระบบเขตที่ชนะเลือกตั้ง ซึ่งกระจายอยู่ใน 37 จังหวัด ที่มีเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จนทำให้ยังถูกแขวนอยู่ใน บัญชีรายชื่อรอพิจารณารับรองผลเลือกตั้ง ใน แฟ้มลับของ กกต.ทั้ง 6 คน จน กกต.ยังไม่ไฟเขียวในการประชุม กกต.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกนี้คือกลุ่มที่ต้องลุ้นหนักว่า กกต.จะรับรองให้เป็น ส.ส.ในสัปดาห์นี้ด้วยหรือไม่ หรือว่าจะต้องรอสัปดาห์ถัดไป
ใน 71 รายชื่อดังกล่าว ที่แยกเป็นรายพรรค คือ พรรคภูมิใจไทย 21 คน เพื่อไทย 20 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน พลังประชารัฐ 14 คน ก้าวไกล 7 คน รวมไทยสร้างชาติ 3 คน ไทยสร้างไทย 2 คน พรรคเพื่อไทรวมพลัง 1 คน
พบว่าหลายคนเป็นพวก ตัวตึงทางการเมือง ที่มีบทบาท-ชื่อเสียงในแวดวงการเมืองพอควร
อย่างเช่นในส่วนของ พรรคก้าวไกล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เช่น ไอซ์ รักชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส.กทม. เขต 28 นักการเมืองคนดังในโซเชียลมีเดีย ที่ชนะ วัน อยู่บำรุง จากเพื่อไทยมาได้แบบขาดลอย ทิ้งห่างสองหมื่นกว่าคะแนน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 ดาวเด่นพรรคส้ม ที่มีบทบาทสูงในการทำหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายค้านสมัยที่แล้ว จนมีชื่อเป็นตัวเต็งคนหนึ่งของก้าวไกล ที่อาจได้ลุ้นเก้าอี้ประธานสภาฯ
หรือในส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีอาทิ นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ว่าที่ ส.ส.สงขลา เขต 5 ที่พาครอบครัว คือตัวเอง-ภรรยาและลูกชาย ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตสงขลา เข้ามาทั้งบ้าน รวม 3 เก้าอี้ จนมีกระแสข่าวว่า นายกฯ ชายคิดการใหญ่ กำลังหยั่งท่าทีเช็กเสียงกับคนในพรรคสีฟ้า หากจะลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ก็เลขาธิการพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เดือน ก.ค.
ส่วนค่าย พลังประชารัฐ ก็มีเช่น ไผ่ ลิกค์ ว่าที่ ส.ส. กำแพงเพชร เขต 1 นักการเมืองคนสนิท ธรรมนัส พรหมเผ่า ทวี สุระบาล ว่าที่ ส.ส.ตรัง เขต 2 ที่ได้คะแนนเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 63,185 คะแนน ล้ม สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรัง 7 สมัยประชาธิปัตย์ ที่ได้แค่หมื่นกว่าคะแนน
ขณะที่ในกลุ่ม อดีตรัฐมนตรี มี 2 คน คือ โสภณ ซารัมย์ อดีต รมว.คมนาคม ว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 5 พรรคภูมิใจไทย และสรวงศ์ เทียนทอง อดีต รมช.สาธารณสุข ว่าที่ ส.ส.สระแก้ว เขต 3 เพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ปรากฏ ทั้ง 71 ชื่อดังกล่าวเป็นกรณีมีเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ที่ส่วนใหญ่คนที่ร้องก็คือคู่แข่งที่ลงเลือกตั้งในเขตเดียวกัน แล้วแพ้ก็เลยร้องไป และเรื่องอยู่ในขั้นตอนที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดกำลังสืบสวนสอบสวนว่าข้อร้องเรียนมีมูลหรือไม่
ที่จะพบว่า หลายคนที่มีชื่อปรากฏว่าโดนร้องเรียนต่างบอกตรงกันว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อให้ทราบเรื่องที่ถูกกล่าวหา และยังไม่ได้เข้าให้ถ้อยคำกับ กกต.แต่อย่างใด
นั่นหมายถึงว่า อาจเป็นไปได้ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดคงไม่สามารถสรุปสำนวนคนที่โดนร้อง 71 ชื่อ ส่ง กกต.กลาง เพื่อให้ชี้ขาด ภายในก่อนสิ้นเดือน มิ.ย.หรือก่อน 13 ก.ค.ที่เป็นเส้นตายครบ 60 วันที่รัฐธรรมนูญให้ กกต.ต้องรับรองผลเลือกตั้งหลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
มองดูแล้ว เป็นไปได้สูงที่ กกต.ประจำจังหวัดและ กกต.กลางจะเห็นตรงกันในการรับรองไปก่อน ค่อยสอยทีหลัง หากพบพยานหลักฐานชัดเจนว่าทำผิด ค่อยสอยหลังเป็น ส.ส. ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนพิจารณา จะเป็นการเซฟตัวเองด้วย ไม่ให้โดนฟ้องกลับ หากคดีพลิก
ผนวกกับเนื่องจากการเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกจะทำได้ รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ต้องมี ส.ส.ที่ได้รับการรับรองจาก กกต.แล้วร้อยละ 95 ของ 500 คน ที่คือ 475 คน ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา กกต.ไฟเขียวว่าที่ ส.ส.เขตไปแล้ว 329 คน เหลือ 71 คนข้างต้น ที่แขวนไว้อยู่
ดังนั้นแม้ต่อให้ กกต.รับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกคน ที่ไม่มีใครโดนร้องเรียน อีก 100 ชื่อ ซึ่งรวมกับ 329 คนที่ไฟเขียวก่อนหน้านี้ รวมกันก็ยังแค่ 429 คน ยังไม่ครบ 475 อยู่ดี ยังไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกได้
และหาก กกต.ปล่อยเลยไปจนถึงช่วง 28 มิ.ย. ที่นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กกต.ที่จะพ้นจากตำแหน่ง เพราะอายุครบ 70 ปี ก็เท่ากับรวมเวลาไปร่วม 1 เดือนครึ่งแล้ว หลังการเลือกตั้ง ซึ่งหากไปถึงตอนนั้น โดยที่ กกต.ยังไม่รับรอง ส.ส.จนครบ 475 คน เปิดประชุมสภาฯ ไม่ได้ กระแสกดดันจะไปอยู่ที่ กกต.อย่างหนักว่าเจตนายื้อการจัดตั้งรัฐบาล
ประเมินจากสถานการณ์ข้างต้นคาดการณ์ไว้ว่า เป็นไปได้ที่ กกต.จะรับรองผล ส.ส.ครบตามจำนวนจนเปิดสภาฯ ได้ภายในไม่เกิน 28 มิ.ย.นี้
ไม่แน่เผลอๆ อาจไฟเขียวยกแผง รับรองทั้งหมด 500 ชื่อกันไปเลย ส่วนจะตามไปสอยใคร ตอนหลัง ค่อยมาว่ากันอีกที
และเมื่อไปถึงจังหวะที่ กกต.รับรอง ส.ส.จนครบตามจำนวน มีการเปิดสภาฯ ได้ ที่คาดว่าจะเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกได้ช้าสุดไม่เกินกลางเดือน ก.ค.
ถึงตอนนั้นเป็นไฟต์บังคับทางการเมืองแล้วที่ ก้าวไกล-เพื่อไทย ต้องหาข้อยุติเรื่องตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ได้เสียที หลังยื้อกันไม่นาน เพราะทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย ไม่มีใครยอมถอยให้กัน ต่างตั้งป้อมจะแย่งชิงเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัตินี้มาไว้เป็นโควตาพรรคให้ได้
ที่ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณระอุกลับมาอีกรอบ จากการที่ รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงปะทะกันในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีความประสงค์ในตำแหน่งดังกล่าว พรรคเพื่อไทยยืนยันหลักการเดิมมาโดยตลอด ว่าเมื่อพรรคก้าวไกลได้ประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เพื่อให้ได้ข้อยุติและไม่เกิดปัญหากับทั้ง 2 พรรค พรรคเพื่อไทยจึงมีจุดยืนและข้อสรุปของพรรคต่อกรณีประธานสภาฯ ดังนี้
“1.เราเห็นชอบในหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภาฯ 2.เนื่องจากพรรคอันดับ 1 และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นตำแหน่งรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน ควรเป็นคนของพรรคลำดับ 2 และ 3.รายละเอียดการประสานงานต่างๆ จะเป็นวาระของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยตัวแทนของ 2 พรรคควรหารือกัน”
ที่ก็หมายถึง ก้าวไกล ได้เก้าอี้ประธานสภาฯ โดยเพื่อไทย ยอมถอยให้แล้ว ด้วยการที่เพื่อไทยได้โควตารองประธานสภาฯ คนที่ 1 และคนที่ 2 และหากเป็นไปตามนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก ก็ต้องมาติดตามว่า ก้าวไกลจะดันใครเป็นประธานสภาฯ หลังมีหลายชื่อปรากฏตามสื่อก่อนหน้านี้ ทั้ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย ธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส.กทม. ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก และรองหัวหน้าพรรค พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ได้แรงหนุนจากว่าที่ ส.ส.รุ่นใหม่ของก้าวไกลหลายคน แม้ไอติมจะอายุแค่ 31 ปี
แต่ข่าวล่าสุดบอกว่า ถึงตอนนี้น่าจะเหลือแค่ 2 ชื่อรอชิง คือ ณัฐวุฒิกับปดิพัทธ์ เว้นแต่จะมีโผพลิกในช่วงโค้งสุดท้าย มีชื่ออื่นแซงขึ้นมาอีก ส่วนธีรัจชัยกับไอติม-พริษฐ์ ชื่อหลุดโผในช่วงท้ายน่าจะเป็นเพราะแรงส่งไม่ถึง จากปัจจัยต่างๆ เช่น เรื่องอาวุโส บารมีและการยอมรับ เป็นต้น
ส่วนเบื้องหลังการเจรจาต่อรองที่ทำให้เพื่อไทยยอมถอยให้ครั้งนี้คืออะไร เป็นเรื่องน่าติดตามยิ่งนัก ซึ่งไม่แน่อาจแลกมาด้วยการได้โควตารัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอมากขึ้น จากที่เคยคุยกันในตอนแรกก็ได้!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์
นับถอยหลัง 2567 5 ฉากร้อนการเมืองไทย
นับถอยหลังต่อจากนี้ ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็เข้าสู่ช่วง “นับถอยหลังอำลา 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568” กันแล้ว