เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทยอยประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อประกาศชื่อบุคคลเป็น ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ
มีการคาดหมายกันไว้ว่า กกต.คงจะประกาศรับรอง ส.ส.จนได้จำนวนอย่างน้อยร้อยละ 95 ของ 500 คน ที่ก็คือ 475 คน ภายในไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้ จนทำให้ สามารถเสนอทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่หนึ่งของสภาชุดปัจจุบันได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ หรือช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม จนมีการเปิดประชุมสภานัดแรกเกิดขึ้นตามมาในช่วงไม่เกินกลางเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้
การประชุมสภานัดแรก วาระสำคัญก็คือ การโหวตเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ก็คือ ประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง อันถือเป็น ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงโหวตเลือกรองประธานสภาฯ อีกสองคน
และหลังจากได้ตัวประธานสภาฯ แล้ว ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งลงมาอย่างเป็นทางการ ที่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาได้ แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ แล้ว คราวนี้ก็ถือว่าเข้าสู่โหมดการมีสภาเต็มตัว
ทำให้สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามต่อจากนั้นก็คือ การที่ประธานสภาฯ จะนัดประชุมร่วมรัฐสภา คือ ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี
ที่ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 272 บัญญัติว่า บุคคลที่จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาต้องได้เสียงเห็นชอบ-สนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
นั่นหมายถึง หากสุดท้าย กกต.รับรอง ส.ส.ทั้งหมด 500 คน บวกกับ ส.ว.อีก 250 คน เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็คือต้องได้เสียงแตะ 376 เสียง
จับกระแสล่าสุด ความเคลื่อนไหวในส่วนของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลรวม 312 เสียง ที่ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชาติ-พรรคไทยสร้างไทย-พรรคเสรีรวมไทย-พรรคเพื่อไทรวมพลัง-พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ยังคงเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น และส่วนใหญ่ในแปดพรรคดังกล่าว คงเชื่อว่า กกต.จะประกาศรับรองผล ส.ส.จนครบ 500 คนไปก่อน ส่วน ส.ส.ในกลุ่มแปดพรรคคนไหนที่มีปัญหาร้องเรียน กกต.คงไปสืบสวนสอบสวนภายหลัง หรือที่เรียกกันว่า รับรองก่อนสอยทีหลัง
ทำให้เสียงแปดพรรคตั้งรัฐบาลยังน่าจะอยู่ที่ 312 เสียงเท่าเดิม และทั้งหมดพบว่ายังยืนยันสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้เวลานี้ พิธาจะเจอ กกต.ตั้งแท่นให้คณะอนุกรรมการไต่สวนของ กกต.ดำเนินการไต่สวนคำร้องพิธา คดีหุ้นสื่อไอทีวี อยู่ก็ตาม แต่เมื่อกระบวนการในชั้น กกต.ก็ยังไม่จบ อีกทั้งถึงต่อให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็คาดว่าคงใช้เวลาพอสมควรกว่าจะพิจารณาคำร้องเสร็จสิ้นและมีคำวินิจฉัยลงมา และแม้ กกต.ส่งคำร้องไปเร็วจนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.ก่อนรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ แต่เชื่อว่าแปดพรรคร่วมตั้งรัฐบาลจะไม่ยอมถอย จะยังเดินหน้าสนับสนุนพิธาต่อไป เรียกว่า ดันพิธาจนสุดทางเดิน แล้วไปลุ้นกันว่าจะได้เสียงโหวตเห็นชอบถึง 376 เสียงหรือไม่อีกที
ซึ่งหากสุดท้าย พิธาได้เสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียง แปดพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลคงมีการกลับมาหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป?
ภายใต้ทางเดินที่ดูเหมือนจะมีให้เลือกไม่มากนัก เพราะติดล็อกหลายอย่าง เช่น หากพรรคเพื่อไทยเสนอไปว่า ในเมื่อแปดพรรคตั้งรัฐบาลมีหน้าตักอยู่ 312 เสียง การดันไปให้ถึง 376 ก็ขาดอีก 64 เสียง อันนี้กรณีไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว.แม้แต่คนเดียว ดังนั้นหากไปดึงบางพรรคการเมืองมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะเอาหรือไม่ แต่สูตรนี้ก็ยังมีเงื่อนไขติดล็อกในตัวเองอีก เช่น บางพรรคไปเปิดดีลดึงมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วย แต่ก็ติดล็อกอีกหลายชั้น เช่น หากจะไปเปิดดีลการเมือง ดึง ภูมิใจไทย ที่มีอยู่ร่วม 71 เสียงมาร่วมตั้งรัฐบาล ซึ่งก็จะทำให้ได้เสียงเกิน 376 ทันที ทว่าก็ติดปัญหาที่ภูมิใจไทยเคยประกาศถึงขั้นออกแถลงการณ์ในนามพรรคว่า ไม่ขอทำงานการเมืองกับพรรคที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ก็คือก้าวไกลนั่นเอง
ส่วนครั้นหากจะไปดึง พลังประชารัฐ ที่มี 40 เสียง มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็จะได้เสียง ส.ว.สายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มาอีกหลายสิบเสียง การจัดตั้งรัฐบาลก็จะสำเร็จได้ทันที แต่สูตรนี้ ก้าวไกลย่อมต่อต้าน ไม่เอาด้วย เพราะพิธาประกาศไปแล้ว
"มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา"
ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ก้าวไกลได้เสียงท่วมท้น 14 ล้านเสียง ดังนั้น ก้าวไกลไม่เอาด้วยแน่นอนกับการตั้งรัฐบาลกับลุงป้อม-พลังประชารัฐ ไม่เช่นนั้น พิธาและก้าวไกลจบเห่ทางการเมืองแน่นอน และถ้าไปทางอื่นไม่ได้จริงๆ เชื่อว่าก้าวไกลอาจต้องยอมไปเป็นฝ่ายค้าน จนสบช่องให้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ที่เพื่อไทยก็อาจไปดึงพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา หรือแม้แต่กับประชาธิปัตย์มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนทำให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านกับพรรคลุงตู่ รวมไทยสร้างชาติ อย่างที่มีการคาดหมายกันมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าแกนนำก้าวไกลยังไม่ยอมแพ้ และดิ้นสู้เพื่อให้พิธาเป็นนายกฯ และก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ แม้จะรู้ว่าพิธาต้องเจอด่านหิน ส.ว.ในการจะไปถึงเก้าอี้นายกฯ ในตึกไทยคู่ฟ้า แต่เมื่อยังมีเวลาในการหาเสียงสนับสนุนให้ได้ 376 เสียงอยู่ เลยมีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่า เห็นเงียบๆ แบบนี้ แต่คนในก้าวไกลมีการขยับหลายจังหวะเพื่อจะดึงเสียงมาให้ได้
ไม่เว้นแม้แต่กระแสข่าวว่าพยายามขอเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในขั้วแปดพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลให้มาโหวตสนับสนุน โดยมีการยื่นเงื่อนไขบางอย่างให้ เช่น อาจดึงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลรอบหน้า เมื่อมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น
จนเกิดกระแสข่าวว่าให้จับตาบางพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน จะมี ส.ส.บางคนเสนอให้พรรคออกมติ ฟรีโหวต ในการโหวตนายกฯ เพื่อจะได้ไปลงมติสนับสนุนพิธาได้แบบเนียนๆ หลังก่อนหน้านี้หลังเลือกตั้งใหม่ๆ ก็มี ส.ส.ในพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบันบางคนโยนหินถามทางมาแล้วว่า อยากลงมติให้พิธาเป็นนายกฯ เพราะเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด-มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด 14 ล้านเสียง ก่อนที่ต่อมาจะโดนคนในพรรคเบรกไม่ให้แสดงความเห็นเรื่องนี้จนกว่าจะมีมติพรรคออกมา
ซึ่งพรรคที่ถูกจับตามองว่าจะเอาแนวทางนี้ ก็มีเช่น พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ติดที่ประชาธิปัตย์ชัดเจนมาตลอดว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไข 112 ของก้าวไกล ทำให้คนในพรรคจำนวนไม่น้อยอาจไม่เอาด้วยกับการฟรีโหวต
มองกันว่า หากฝ่ายก้าวไกลได้เสียงโหวตจาก ส.ส.พรรคอื่นที่ไม่ได้อยู่ในแปดพรรคตั้งรัฐบาลมาสัก 20-25 เสียง แล้วได้จาก ส.ว.อีกสัก 40 เสียง โอกาสลุ้นเก้าอี้นายกฯ ของพิธาก็น่าจะมีความหวังมากขึ้น
กระนั้น ข่าวบางสายบอกว่า จนถึงขณะนี้ ส.ว.ที่แสดงท่าทีจะสนับสนุนพิธายังมีไม่ถึง 40 เสียงเลยด้วยซ้ำ ทำให้พิธายังอยู่ในสภาพหืดขึ้นคอ
และยิ่งหาก เพื่อไทย ที่รอจะพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล เกิดไป ต่อท่อ-เปิดดีล กับแกนนำบางพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไว้ก่อน ว่าไม่ต้องออกเสียงให้พิธา เพื่อให้พิธาได้เสียงไม่ถึง 376 แล้วเพื่อไทยเมื่อขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน จะดึงพรรคเหล่านั้นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล
มองดูแล้ว หากก้าวไกลเจอแผนซ้อนแผนของเพื่อไทยเข้าไปแบบนี้ โอกาสของพิธาก็ริบหรี่ ซึ่งเชื่อว่าใกล้ๆ ถึงวันโหวตนายกฯ การเดินเกมใต้ดิน-แผนซ้อนแผน เพื่อช่วงชิงการขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของคนในเพื่อไทยน่าจะได้เห็นแน่
เพียงแต่ เพื่อไทย ก็ต้องรอจังหวะที่สุกงอม คือพิธาเข็นยังไงก็ไปไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ ถึงตอนนั้นเมื่อสบโอกาส เพื่อไทยได้ออกฤทธิ์ออกเดชให้พรรคส้มเห็นแน่
โหมดการเมืองหลังสัปดาห์หน้า เมื่อ กกต.ทยอยประกาศรับรอง ส.ส. จึงเห็นเด่นชัด การเมืองจะกลับมาเข้มข้นแบบถึงพริกถึงขิง เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันแบบเร้าใจ
ซึ่งแม้ยามนี้ พิธาและก้าวไกลจะมีแต้มต่อสูงในการจะเข้าไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ทว่า การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป
จากที่จะเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เผลอพริบตาเดียว อาจเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านก็ยังได้!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9
เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน