กกต.ปิดฉากนับคะแนนใหม่ จับตาไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาล

หลังจากที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลงนามในคำสั่ง กกต.ให้มีการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อใหม่ 16 จังหวัด 47 หน่วย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าการนับคะแนนใหม่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคเปลี่ยนแปลงไป

ยกตัวอย่าง ในบางพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่สำนักงานเขตวังทองหลาง ซึ่งเป็นการนับคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ หน่วยเลือกตั้งที่ 7 แขวงสะพานสอง โดยหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 522 คน มาใช้สิทธิ์ 342 คน บัตรไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 2 ใบ

โดยหลังจากการนับคะแนนใหม่ ผลปรากฏว่า คะแนนที่หายไป 2 คะแนน เป็นคะแนนของพรรคก้าวไกล 1 คะแนน และพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คะแนน ทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 คือ 122 คะแนน และพรรครวมไทยสร้างชาติได้ 85 คะแนน

เช่นเดียวกับที่สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 และหน่วยเลือกตั้งที่ 3 เพราะจำนวนบัตรกับผู้มาใช้สิทธิ์จำนวนไม่ตรงกัน หลังจากใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ปรากฏว่า พรรคก้าวไกลได้ 211 คะแนน, พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 154 คะแนน, พรรคเพื่อไทย 73 คะแนน, พรรคประชาธิปัตย์ 28 คะแนน, ชาติพัฒนากล้า 11 คะแนน, มีบัตรเสีย 14 ใบ และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 12 ใบ โดยผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ เพราะได้มีการตรวจสอบถูกต้องครบถ้วนแล้ว ยอมรับว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการนับคะแนนครั้งแรก น่าจะเกิดจากการขีดคะแนนซ้ำหลังจากการขานคะแนน

ขณะที่ในส่วนภูมิภาคอย่างเช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ชลบุรี, ตรัง ภาพรวมก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับการนับคะแนนใหม่เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ ก่อน 12.00 น.

อย่างไรก็ตาม ผลจากการนับคะแนนใหม่ทั้ง 47 หน่วย แม้ว่าคะแนนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง ไม่ได้ทำให้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม และไม่กระทบกับไทม์ไลน์การประกาศรับรอง ส.ส.ของ กกต.

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่สำนักงาน กกต.เสนอว่าเป็นกรณีที่พบว่ามีปัญหาบัตรออกเสียงเลือกตั้งและจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมีจำนวนตรงกัน แต่ผลคะแนนที่ออกมาไม่ตรงกับจำนวนดังกล่าว และ กกต.เห็นว่าอาจมีผลต่อจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ และมีผลต่อลำดับของผู้ได้รับเลือกตั้ง

เมื่อการนับคะแนนใหม่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค กระบวนการประกาศรับรอง ส.ส.จึงดำเนินต่อไป หลังจากนี้ต้องรอการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจาก กกต.ภายใน 60 วัน หรือต้องประกาศภายในวันที่ 13 ก.ค.นี้ 

โดยในการประชุม กกต.วันอังคารที่ 13 มิ.ย. สำนักงาน กกต.จะเสนอเรื่องการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ที่ประชุม กกต.ได้เริ่มพิจารณา โดยจะเสนอในส่วนของผู้ได้รับเลือกตั้งที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนให้พิจารณาก่อน ซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 70 ของผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้นจะทยอยพิจารณาในส่วนของผู้ได้รับเลือกตั้งที่มีเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีอยู่ราว 20-30 คน จนแล้วเสร็จจึงจะออกประกาศเรื่องรับรองผลการเลือกตั้งในคราวเดียว

ทั้งนี้ ตามแผนการทำงานของ กกต.ต้องการที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 28 มิ.ย. และนอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งครบทั้ง 500 คน เนื่องจากตามรายงานผลการตรวจสอบการเลือกตั้งของทางผู้ตรวจการเลือกตั้งและของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือให้แจ้งมาก่อนหน้านี้เกือบทั้งหมดเสนอว่า เรื่องร้องเรียนผู้ได้รับเลือกตั้ง จังหวัดไม่อาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้เสร็จก่อนกรอบเวลา 60 วันที่กฎหมายกำหนด กกต.จึงจะประกาศผลการเลือกตั้งทั้งหมดไปก่อนแล้วค่อยมาสอยในภายหลัง

ซึ่งคาดว่าการรายงานตัวของ ส.ส.วันสุดท้ายจะอยู่ที่วันที่ 20 ก.ค.66 หลังจากนั้นวันที่ 24 ก.ค.จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 25 ก.ค.จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 26 ก.ค.จะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ วันที่ 3 ส.ค.จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 10 ส.ค.มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 ส.ค.จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ

ทั้งนี้ กกต.พยายามเร่งประกาศรับรองผลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะนอกจากกระแสสังคมโดยเฉพาะด้อมส้มที่คอยกดดัน เพื่ออยากเห็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด อีกปัจจัยหนึ่งคือ เพื่อให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากนโยบายการเพิ่มค่าแรงของพรรคก้าวไกลที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด ซึ่งถ้ารับรองผลเร็ว แม้ตลาดหุ้นจะขึ้นไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ให้ตัวเลขในตลาดอยู่ในขั้นวิกฤต

จึงต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้ว กกต.จะประกาศรับรองผลเมื่อไหร่ ก่อน 28 มิ.ย.หรือไม่ การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามไทม์ไลนหรือไม่ และที่สำคัญคือ สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่เริ่มมีคลื่นใต้น้ำใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วพรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาล หรืออาจจะมีอุบัติเหตุทางการเมือง คงต้องติดตามกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า