ส.ส.เข้าชื่อส่งศาลรธน. อีกช่องทางสกัด "พิธา"

พรรคก้าวไกลออกอาการกระฟัดกระเฟียดตามคาด หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแท่นเอาผิด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังรอลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

หลังมีข่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กกต.ไฟเขียวจะให้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนคำร้องคดีพิธา และหากสุดท้าย ถ้าที่ประชุมใหญ่ กกต.เห็นว่าพิธา มีเจตนาถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้งจริง ก็จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพิธาต้องพ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.หรือไม่ ที่จะมีผลต่อการเป็นนายกฯ ตามมาด้วย รวมถึงอาจจะมีมติแจ้งความดำเนินคดีอาญากับพิธา ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งมาตรา 151 ฯ

เมื่อผู้นำพรรคก้าวไกลชะตาชีวิตการเมืองเสี่ยงทั้งการหลุดจาก ส.ส.-อาจต้องวืดจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และเสี่ยงตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา แบบนี้ คนในพรรคก้าวไกลจึงต้องหัวร้อนเป็นธรรมดา

"รังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล จึงออกมาดิสเครดิต กกต.ไว้ล่วงหน้าว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการที่พยายามจะเตะตัดขาไม่ให้มีรัฐบาลพรรคก้าวไกล สกัดกั้นไม่ให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี "อยากจะพูดไปถึงคนที่พยายามทำกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดว่า สุดท้ายประชาชนทุกคนก็รู้ว่าที่ทำไปทั้งหมดเป็นเรื่องทางการเมือง เราเล็งเห็นว่ากระบวนการนี้คงต้องใช้เวลา ซึ่งมั่นใจว่านายพิธาคงจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ก่อน หลังจากนั้นคงต้องสู้คดีกันต่อไป เรื่องนี้เป็นคนละส่วนกับการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่าเอามาใช้เป็นข้ออ้าง ต้องไม่เอามาปะปนกับการเลือกนายกรัฐมนตรี”

นั่นคือท่าทีของคนในพรรคก้าวไกล ที่คงมองข้ามช็อตทางการเมืองไปแล้วว่า ยังไง กกต.คงส่งคำร้องเรื่องพิธาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โฆษกพรรคก้าวไกลเลยต้องออกมาดักทาง ไม่ให้เอาเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรี

เหตุเพราะ รังสิมันต์ คงประเมินสถานการณ์ได้ว่า จะมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนไม่น้อย จะใช้เหตุผลเรื่องพิธามีปัญหาเรื่องดังกล่าว มาเป็นเหตุผลในการที่จะไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ด้วยเหตุว่า ไม่สง่างาม-เกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา โดย ส.ว.อาจจะมีการยกเหตุผลว่า "ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ เป็นตำแหน่งที่ต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ดังนั้นไม่ควรโหวตให้พิธาที่กำลังถูก กกต.ตรวจสอบว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เพราะกระทำการที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและอาจมีปัญหาโดนดำเนินคดีอาญาฯ จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี"

ดังนั้นก็จะมี ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่จะใช้วิธี งดออกเสียง จนทำให้ พิธา ได้เสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียง จนไม่ได้เป็นนายกฯ

มันจึงทำให้ โฆษกพรรคก้าวไกล ต้องออกมาดักทางอย่างที่เห็น เพราะก้าวไกลคงอาจทราบข่าวแล้วว่า กำลังมี ส.ว.จำนวนหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ในกลุ่ม ส.ว.ด้วยกันเอง ด้วยการนำเรื่องนี้มาโน้มน้าวให้ ส.ว.ไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ยังไม่ชัดว่า สุดท้ายแล้ว กกต.จะพิจารณาสำนวนพิธา และมีมติส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่?

เพราะหาก กกต.พิจารณาและมีมติส่งไปศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันโหวตนายกฯ ยังไง กกต.ก็ต้องถูกวิจารณ์ทั้งขึ้นทั้งล่อง จากบรรดาด้อมส้ม ว่าเร่งรัดเพื่อหวังสกัดพิธา แม้ต่อให้ กกต.จะบอกว่าทำตามขั้นตอนปกติ เหมือนตอนคดีหุ้นสื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตอนปี 2562 หากจำกันได้ กกต.ก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญและศาลก็มีคำสั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.ก่อนวันประชุมสภาฯ นัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ เสียอีก

ซึ่งหาก กกต.ส่งคำร้องไปก่อนแล้วศาล รธน.มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.ก่อนวันโหวตเป็นนายกฯ แม้ต่อให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะยืนยันเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ดังนั้นพิธาก็ยังสามารถถูกเสนอชื่อชิงนายกฯ ได้ แต่มันจะไปเข้าทาง ส.ว.กลุ่มที่จะไม่โหวตให้พิธาเอาประเด็นนี้ไปโน้มน้าว ส.ว.อีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะโหวตให้พิธาหรือไม่ เพื่อหวังให้ ส.ว.งดออกเสียงไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ

และนอกจากช่องทางการส่งคำร้องจาก กกต.ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังมีอีกช่องทางหนึ่งคือ ช่องทางตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ที่นอกจาก กกต.จะใช้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคดีพิธาแล้ว มาตรา 82 ดังกล่าวยังเปิดช่องให้ ส.ส.สามารถยื่นศาล รธน.ได้ด้วยเช่นกัน

โดยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน 3 วรรคแรก โดยมีเนื้่อหาโดยสรุปอธิบายเข้าใจง่ายๆ ก็คือ

"ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ เพื่อร้องว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภาฯ สิ้นสุดการเป็น ส.ส.ลง เพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จากนั้นให้ประธานสภาฯ หลังได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย...."

ซึ่งในมาตรา 82 ดังกล่าว การให้ตีความเรื่อง ส.ส.ต้องพ้นสมาชิกภาพ มีทั้งสิ้น 13 วงเล็บ แต่กรณีของพิธาจะไปเข้ามาตรา 101 (6) ที่เป็นเรื่องของสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ที่ก็คือถือหุ้นสื่อนั่นเอง

ดังนั้น นอกจาก กกต.จะส่งศาล รธน.ให้ตีความได้แล้ว ส.ส.ยังสามารถเข้าชื่อกันได้ด้วย เพียงแต่จะมี ส.ส.พรรคการเมืองไหนรับเป็นเจ้าภาพ ในการรวบรวมรายชื่อให้ได้ครบตามจำนวน

เพราะหาก กกต.รับรอง ส.ส.จนเปิดสภาฯ ได้สักประมาณ 490 คน จำนวน 1 ใน 10 ก็คือ 49 คน ซึ่งในส่วนของ พลังประชารัฐ ที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้องคดีหุ้นสื่อของพิธา ซึ่งเรืองไกรเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ก็พบว่า พลังประชารัฐก็มีว่าที่ ส.ส.ตอนนี้อยู่ 40 คน หากพลังประชารัฐรับเป็นเจ้าภาพ ส.ส.ของพรรคลงชื่อกันหมด ก็ยังไม่ครบ ต้องไปหาชื่อมาให้ได้อีก 9 ชื่อ ซึ่งถ้าพรรคอื่นๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ เอาด้วย ก็ไม่มีปัญหา

วิเคราะห์ไว้ว่า หากจะมีการขยับของ ส.ส.ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็อาจเกิดหลัง ประเมินแล้วว่า กกต.คงส่งคำร้องคดีพิธาไปศาลรัฐธรรมนูญไม่ทันก่อนวันโหวตนายกฯ ดังนั้นอาจทำให้มี ส.ส.กลุ่มหนึ่ง อาจคิดใช้ช่องทางดังกล่าว แต่ถ้า กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันโหวตนายกฯ ก็เป็นไปได้ที่อาจไม่มี ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดขยับใช้ช่องทางนี้   

โดยจุดสำคัญของการใช้ช่องทางดังกล่าวก็คือ เรื่องของ "เงื่อนเวลา"

เพราะแม้ กกต.จะรับรองบุคคลให้เป็น ส.ส.แล้ว แต่ตามรัฐธรรมนูญ สถานภาพการเป็น ส.ส.จะเกิดขึ้นหลังกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาฯ ซึ่งรอบนี้ก็คือ ต้องกล่าวในวันเดียวกับวันโหวตเลือกประธานสภาฯ และเมื่อโหวตเลือกประธานสภาฯ แล้ว ก็ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ ก่อน ส.ส.ถึงจะส่งคำร้องที่เข้าชื่อกันถึงประธานสภาฯ ได้ 

ยิ่งหากประธานสภาฯ มาจากพรรคก้าวไกล หรือต่อให้มาจากเพื่อไทยก็ตามที ถ้าไม่เล่นด้วยกับเรื่องนี้ ก็ไม่แน่อาจใช้วิธี เช่น เรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ โดยเร็ว เช่น เรียกประชุมรัฐสภาเลยภายใน 5 วัน หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภาฯ เพื่อเร่งโหวตนายกฯ ให้จบเร็ว และใช้วิธีดึงเรื่องคำร้องที่ส่งมา ไม่รีบส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน จนอาจไม่ทันในการที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

เว้นเสียแต่อาจเกิดบางกรณี เช่น ประธานสภาฯ มาจากเพื่อไทย และมีสัญญาณมาจากคนในพรรคว่า ต้องการให้ พิธาถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนวันโหวตนายกฯ ก็อาจใช้วิธี เช่น “ดึงเวลา เรียกประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ แบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ และรีบส่งเรื่องที่ ส.ส.เข้าชื่อกันดังกล่าว ไปศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อให้ทันก่อนวันโหวตนายกฯ จนพิธาถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” ทำให้ ส.ว.นำมาอ้างเป็นเหตุไม่โหวตให้เป็นนายกฯ จนขั้วอำนาจพลิก ทำให้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

มันก็ไม่แน่ที่เพื่อไทย ซึ่งต้องการเก้าอี้ประธานสภาฯ อย่างมาก อาจวางแผนที่จะเดินตามหมากดังกล่าวไว้แล้วก็เป็นไปได้ ศึกนี้ก้าวไกลถ้าประมาท อ่านเกมไม่ขาด บอกเลยแพ้ทั้งกระดาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

'พิธา' ให้สัมภาษณ์งานแต่งข้ามขั้ว ครม.ครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าร่วมงานพิธีสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร สส.ลำปางพรรคเพื่อไทย และนางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง พรรคประชาชน

ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ